ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สืบเนื่องจากโพลของสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์สำรวจพบว่า วัยรุ่นไทยมีพฤติกรรมเลียนแบบดารามากที่สุด เกิดเป็นคำถามชวนวิตก แล้วดาราในสื่อนั้นมีพฤติกรรมแบบใด วัยรุ่นไทยจะเลือกพฤติกรรมแบบใดในการใช้ชีวิต

คำตอบของพฤติกรรมดารานั้น หากลองพิจารณาจากหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าวเกี่ยวกับดาราที่ได้รับความสนใจทั้งจากสื่อและจากประชาชนโดยมากแล้วก็มักจะเป็นข่าวฉาว แล้วพฤติกรรมเลียนแบบที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทิศทางใดล่ะ?

ค่านิยมที่ดารามีอิทธิพลต่อวัยรุ่น และดาราที่อยู่ในความสนใจก็มักจะเป็นดาราที่มีข่าวลบ สิ่งเหล่านี้จะชักนำสังคมไปในทิศทางใด หรือสังคมควรจะตั้งคำถามกับค่านิยมแบบนี้ แล้วมองให้เห็นถึงปลายทางที่สังคมจะมุ่งไปกันแน่

อิทธิพลดารา

สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์แถลงการณ์ถึงผลการสำรวจพฤติกรรมเลียนแบบคนดังและคนที่ตนชื่นชอบของเยาวชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า วัยรุ่นมีพฤติกรรมเลียนแบบตัวละครหรือนักแสดงมาเป็นอันดับ 1 ขณะที่แขกรับเชิญ / ผู้ร่วมแข่งขันในรายการทีวีมาเป็นอันดับ 2 และพิธีกร / ผู้ดำเนินรายการมาเป็นอันดับ 3

ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างมีการใช้เวลากับทีวีถึง 1-3 ชั่วโมงต่อวัน ทว่าบางส่วนใช้เวลากับทีวีสูงถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน และรายการที่เป็นที่นิยม 2 อันดับแรกคือ 1 ละคร/ภาพยนตร์ 2 เรียลิตี้โชว์ / การแสดงความสามารถ

โพลดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของความเป็นดาราอย่างชัดเจน เมื่อมองไปที่มูลค่าของอิทธิพลที่ดาราเหล่านั้นมีก็จะเห็นว่า ดาราถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความน่าเชื่อถือ มีมูลค่าทางการตลาดที่บริษัทยินดีที่จะจ่ายเพื่อให้ดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในค่าตัวที่สูงอย่างน่าเหลือเชื่อ บอกเป็นนัยว่า ดาราคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนในสังคม

โดยสาเหตุของพฤติกรรมเลียนแบบดาราที่เพิ่มมากขึ้นในยุคปัจจุบันนั้น ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor) มองถึง 3 สาเหตุหลักได้แก่

1. การเติบโตของวัยรุ่นปัจจุบัน เด็กวัยรุ่นช่วงอายุตั้งแต่ 12-19 หรือแม้แต่ 20 ปีตอนต้นจะเติบโตมาในครอบครัวเดี่ยวอันประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูก ลักษณะพิเศษคือพ่อแม่จะต้องไปทำงาน ทำให้ลูกไม่มีต้นแบบ (R o le model) เมื่อลูกเติบโตมากับทีวีและอินเทอร์เน็ต คนดังในสื่อจึงมีอิทธิพลต่อการเลียบแบบของเด็กยุคนี้มากกว่ายุคก่อนๆ ที่เด็กอาจจะมีต้นแบบเป็นปู่ ย่า ตา ยายที่ประกอบ อาชีพอื่นๆ

2. ดาราได้รับการยอมรับจากสังคม ปัจจุบันดาราถือเป็นอาชีพที่มีหน้ามีตาและได้รับการยอมรับในสังคมสูงกว่าหลายๆ อาชีพ อีกทั้งยังเป็นที่สนใจของสังคม

3. วัฒนธรรมรายการประกวด กระแสของรายการแนวเรียลิตี้ที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นดาราได้ โดยขายความเป็นตัวเองซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นความสามารถให้ทางบันเทิงอย่าง ความหล่อ สวย การร้องเพลง การแสดง รวมไปถึงความเป็นตัวเอง ทำให้วัยรุ่นสามารถจับต้องและมองว่าตัวเองสามารถเป็นดาราได้

"3 ข้อนี้เป็นเหตุผลหลักๆ ในการทำให้วัยรุ่นเลียนแบบดารา จากการเลี้ยงดูที่อยู่กับสื่อเยอะ ทำให้เห็นดาราเป็นไอดอล และเพราะดาราก็เป็นที่ยอมรับจากสังคมสูง แม้ว่าการเลียนแบบดาราจะมีมาทุกยุคทุกสมัย แต่ในปัจจุบัน รายการโชว์ความสามารถก็จะเป็นความสามารถที่คล้ายกับดาราก็ยิ่งเป็นแรงหนุนให้เกิดการเลียนแบบ เราไม่มีการประกวดความอดทน ความซื่อสัตย์หรืออะไรทำนองนั้นแน่ๆ มันต้องเป็นอะไรที่เข้าใจง่าย ได้รับการยอมรับอย่างดารา"

 การเลียนแบบที่นำไปสู่การยอมรับทางสังคมในปัจจุบันส่งผลให้เยาวชนมีทิศทางที่จะเลียนแบบดาราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ภาพลบขายได้

หากลองพลิกดูหน้าหนังสือพิมพ์วันนี้ แน่นอนว่า ต้องมีข่าวฉาวของดาราอยู่ในนั้น และยิ่งฉาวยิ่งแรงก็ยิ่งเป็นที่สนใจใคร่รู้ แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสังคม ดารากับภาพฉาวก็ยังเป็นของคู่กันอยู่เสมอ หากจะควานหาข่าวในเชิงบวก แม้จะมีอยู่ในการรายงานของสื่อแต่ก็ไม่เป็นที่สนใจใคร่รู้ของสังคมมากเท่ากับข่าวเชิงลบ

แล้วภาพที่วัยรุ่นจะเลือกเลียนแบบละ? หากในดาราคนหนึ่งมีทั้งภาพบวก- ลบในคนเดียว หากสังคมสนใจแต่ภาพลบ จะเกิดอะไรขึ้น?

ในฐานะของนักวิชาการด้านสื่อ ธาม เผยว่า  ในกระบวนการทำข่าวของสื่อมวลชน ข่าวด้านลบมักจะเป็นที่สนใจมากกว่า เพราะในทางพฤติกรรมและจิตวิทยาแล้ว คนมักจะสนใจข่าวในเชิงลบมากกว่า เพราะข่าวเชิงลบนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ การก่นด่าได้ และเป็นกระแสแรงกว่าการชื่นชม

"ภาพโป๊เปลือย เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ดาราพวกนี้มักจะได้รับพื้นที่สื่อมากกว่าดาราที่ทำดี สื่อพิสูจน์ให้เห็นชัด อย่าง คุณใบเตย อาร์สยาม ทำอะไรที่ฉาวๆ มันจะเป็นข่าวได้แล้วก็มีคนสนใจเยอะกว่าคนที่เป็นดาราเรียบร้อยปกติ ภาพด้านลบสื่อนำเสนอมากกว่า ดังเร็วกว่า มันก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งไปไกลกว่ากระแสชื่นชมยินดี ชื่นชมมันอยู่ในกลุ่มเล็กไม่ได้ไปไกล แต่ถ้าวิจารณ์ในทางลบมันไปเร็วกว่ามาก ซึ่งก็นำไปสู่การมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากกว่าทำดี"

เหตุนี้เองจึงนำไปสู่คำตอบของคำถามว่า เวลาพูดถึงต้นแบบที่เป็นดาราซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ทำไมเด็กจึงเลือกไม่ถูกว่าเป็นด้านลบไม่ควรปฏิบัติตามนั้น เมื่อยิ่งพิจารณาถึงตัวแปรของการที่วัยรุ่นยุคนี้เติบโตมากับอุตสาหกรรมบันเทิง และมีดาราเป็นแบบอย่าง เพื่อจะสร้างการเป็นที่ยอมรับของสังคมเหมือนอย่างดารา จึงไม่แปลกที่เด็กวัยรุ่นจะมีพฤติกรรมเลียนแบบในด้านลบ

"เพราะมันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เร็วกว่า ดังในทางลบเร็วกว่าทางบวก จะเห็นในเฟซบุ๊กมีคนโพสต์เลียนแบบดาราเยอะมาก โพสต์เรื่องส่วนตัว โพสต์รูปถ่ายไปเฮฮาปาร์ตี้  ใส่ชุดวาบหวิว เดี๋ยวนี้เด็กเขาเน้นโชว์นมกันเยอะมาก เพราะเขาเห็นดาราโชว์เซ็กซี่ ที่สำคัญการเลียนแบบในทางลบมีอยู่ไม่กี่แบบ 1 ภาพวาบหวิว 2 พฤติกรรมซูเปอร์สตาร์ ทำเพื่อให้มีคนมาชอบ มาป้อ มายอเยอะๆ เด็กสมัยนี้จะรู้สึกดังในทางลบนี่ดีกว่า มันเป็นเซเลบเร็วกว่า"

และนั่นคือความรู้สึกเหมือนกับว่า พวกเขาได้เข้าใกล้การเป็นดาราซึ่งเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตของพวกเขา

สื่อใหม่กับดาราเหรียญ 2 ด้านของการเลียนแบบ

เท่าที่ผ่านมา...จากกระแสเฟอร์บี้ ไอศครีมแม็กนั่ม ฮาเล็ม เชค จนถึงบ่องตง ดาราถือว่ามีส่วนสำคัญจุดกระแสให้สังคมสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยใช้พื้นที่ส่วนของ สื่อใหม่อย่างเฟซบุ๊ค หรืออินสตาแกรม ธันยวัชย์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เคยวิเคราะห์ถึงกระแสเฟอร์บี้ฟีเวอร์ว่า เพราะคนไทยบ้าดารา และอยากเป็นเหมือนอย่างดารา

ทั้งนี้ ทิศทางการบริโภคสื่อของเด็กรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะเสพสื่อจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ สื่อใหม่ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคมยุคปัจจุบันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สื่อเก่าไม่สามารถทำได้มาก่อน ผลที่เกิดขึ้นตามมานั้น ก็ยิ่งส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบดาราได้มากขึ้นและง่ายขึ้น แทนที่จะเลียนแบบดาราจากบทบาทในจอทีวีหรือสื่อกระแสหลัก ก็หันมาเลียนแบบดาราในฐานะของคนธรรมดา หรือดาราในสื่ออินสตาแกรมนั่นเอง

"มันเข้ามาเติมเต็มความฝันของคนหลายคนเลยนะ" ธามเอ่ยถึงบทบาทของสื่อโซเชียลมีเดีย

เขาอธิบายถึงความสัมพันธ์ของดารากับสื่อเก่าว่า เป็นทฤษฎีของน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า นั่นคือสื่อและดาราต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดาราต้องการชื่อเสียงจากสื่อ ขณะที่สื่อต้องการข่าวจากดารา แต่ปัจจุบันสื่อใหม่เข้ามาแทรกตรงกลางจนทำให้สื่อเก่าแทบจะไม่จำเป็นอีกต่อไป"สื่อใหม่มันให้สิ่งที่สื่อเก่าไม่สามารถให้ได้มาก่อนอย่างการที่คนธรรมดาสามารถแอดเป็นเพื่อนกับดาราได้ มันทำให้เกิดความใกล้ชิดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดาราก็คุยกับแฟนคลับได้โดยตรงไม่ต้องผ่านสื่อ นอกจากนี้ ความเอ็กซคลูซีฟของเรื่องส่วนตัว สื่ออย่าง อินสตาแกรมของดาราก็ทำให้ผู้คนได้สัมผัสความเป็นส่วนตัวอย่างที่ไม่มีสื่อไหนจะเข้าถึง"

ดาราในยุคปัจจุบันจึงมี 2 บทบาท 1 บทบาทในสื่อสาธารณะ 2 บทบาทในสื่อส่วนตัวอย่างอินสตาแกรม ดาราต้องเล่นสมดุลระหว่าง 2 พื้นที่ พฤติกรรมของผู้เสพสื่อก็เช่นกัน สามารถเสพสื่อได้ทั้ง 2 ด้านของดาราคนนั้น

"ท้ายที่สุดมันเอื้อต่อการเลียนแบบ คนทั่วไปจะเลียนแบบดาราในสื่อหลักอย่างการทำงาน เดินแบบ แสดงละคร มันเป็นไปได้ยาก แต่หากไปเลียนแบบในบริบทของชีวิตธรรมดา มันง่ายกว่า ในอินสตาแกรมง่ายกว่าเยอะ แค่ไปกินข้าว ปาร์ตี้ริมทะเล ถ่ายรูป ก็รู้สึกว่า เป็นดารา ฉันก็ทำได้ จะเห็นว่าในอินสตาแกรม เฟซบุ๊กของคนทั่วไปจึงมีพฤติกรรมเลียนแบบคือขายตัวเอง จะขายความสามารถ ฝีมือ หน้าตา ตอนนี้ยังไม่ได้ เพราะยังไม่ได้เข้าวงการ แต่อย่างน้อย ขายชีวิตความเป็นส่วนตัว เหมือนดารา เหมือนเซเลบต่อให้ไม่ได้ออกสื่อหลักก็ยังดี"

ในส่วนของผลดี - ผลเสียต่อสังคมของพฤติกรรมเลียนแบบนั้น เขามองว่า การเลียนแบบดารานั้นมีมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งไม่สามารถอธิบายถึงผลดี - ผลเสียได้อย่างชัดเจน หากสิ่งที่เกิดขึ้นแน่คือ สิ่งเหล่านี้ทำให้วัยรุ่นหมกมุ่นกับการเป็นคนดังมากเกินไป

ทั้งนี้ เขาเผยถึงบทความจากนิตยสารไทม์ที่บอกว่า เด็กปัจจุบันถูกหล่อหลอมให้เดินหลงทางระหว่าง ความภาคภูมิใจในตนเอง (self esteem) กับความลุ่มหลงในตัวเอง ซึ่งเกิดจากการบ่มเพาะของอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างรายการประกวดความสามารถ พ่อแม่ ที่ชื่นชมลูกจนเกินความจริงสร้างวัฒนธรรมแห่งการอวยขึ้น

"มันเป็นเหรียญ 2 ด้าน" เขาเอ่ย "ขึ้นอยู่กับว่าจะพลิกด้านไหน คนที่รู้คุณค่าของตัวเองจะมองว่าคุณค่าของฉันขึ้นอยู่กับสิ่งที่ฉันทำไว้กับโลก แต่คนที่หลงตัวเอง จะมองว่า ทุกคนต้องมาสนใจฉัน เหมือนเวลาไปประกวด ทุกคนต้องสนใจ ต้องมีคนดูในยูทิวบ์ เขาจะลดความสนใจที่มีต่อคนอื่น เพราะคนอื่นต้องแคร์เขา"

จากค่านิยมของดาราสู่ภาพฉาวที่เรียกกระแสสนใจจากสังคม จนถึงการเข้ามาของสื่อใหม่ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบมากขึ้น ง่ายขึ้น แม้ทิศทางที่สังคมมุ่งไปนั้นยังคงรอคำตอบว่า ทุกคนเดินไปผิดทางหรือไม่ สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งคือเราได้ลองฉุกคิดและตั้งคำถามกับพฤติกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันนี้แล้วหรือยัง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 17 มิถุนายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง