ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เอาละสิ ร่างระเบียบค่าตอบแทนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ฉบับ 10 ที่เสนอโดยแพทย์ชนบท ดูท่าว่าจะไม่หวานเสียแล้ว เมื่อสภาการพยาบาลยิงหมัดตรงว่า เมื่อพิจารณาเนื้อหาดีๆ ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพลงเลย โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาลที่เคียงบ่าเคียงไหล่บรรดาหมอในการทำงานนาทีต่อนาที กลับยังมีความเหลื่อมล้ำกันถึง 20 เท่า

H Focus สัมภาษณ์ ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล และนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ถึงเบื้องลึก เบื้องหลังที่มาของเรื่องดังกล่าว

ดร.กฤษดา แสวงดี

“พอมาเป็นฉบับที่ 10 เพิ่มให้พยาบาลที่อายุงาน 3 ปี 600 บาท และ 4 ปีขึ้นไป 700 บาท การเพิ่มขึ้นมาอีก 600-700 บาทคิดว่าความห่างถึง 18-27 เท่าลดลงไหม ดังนั้นสิ่งที่พี่ไม่เห็นด้วยในวันนั้นคือฉบับใหม่ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้อยู่ดี”

 

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล ผู้ซึ่งตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหาดังกล่าวตั้งแต่อยู่ในที่ประชุม ก็ได้ออกมาเปิดใจกับเราเพิ่มเติมว่า

ร่างระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 10 ที่ว่ามาเหมือนการเอาฉบับที่ 4, 6 เดิมมาเป็นฉบับที่ 10 คือเดิมในฉบับที่ 4, 6 ความแตกต่างเรื่องค่าตอบแทนระหว่างแพทย์กับพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน งานเท่ากัน แพทย์จะมีค่าตอบแทนที่สูงกว่าพยาบาลประมาณ 18-27 เท่า นั่นคือ ยกตัวอย่างของเดิมแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 มา 21 ปี ได้ 70,000 บาท ขณะที่พยาบาลปีที่ 21 ในพื้นที่ระดับ 2 เช่นเดียวกันได้ 4,500 บาท เพราะฉะนั้น 70,000 บาทกับ 4,500 บาท พอมาเป็นฉบับที่ 10 แพทย์ ทันตแพทย์เหมือนเดิม อัตราเดิมของฉบับที่ 4, 6 และเพิ่มให้พยาบาลที่อายุงาน 3 ปี 600 บาท และ 4 ปีขึ้นไป 700 บาท การเพิ่มขึ้นมาอีก 600-700 บาท คิดว่าความห่างถึง 18-27 เท่าลดลงไหม ดังนั้นสิ่งที่พี่ไม่เห็นด้วยในวันนั้นคือฉบับใหม่ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้อยู่ดี ซึ่งมันน่าจะต้องมาคุยกันใหม่

ที่ประชุมพิจารณาร่างระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 10 อย่างไรบ้าง?

ในที่ประชุมวันนั้นก็เป็นการเสนอแบบรวบรัด ที่เสนอแค่หลักการโดยที่ไม่มีเอกสารรายละเอียดเรื่องของอัตรา อะไรต่ออะไรเหล่านี้ ที่ประชุมเลยยังไม่มีการพูดตรงนี้ แต่พี่ดึงประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะว่าเมื่อฝั่งคุณหมออารักษ์ (นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ) พูดถึงหลักการของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 10 แต่ไม่ได้พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ พี่เลยแย้งขึ้นมาว่าตรงที่ลดความเหลื่อมล้ำนี่ว่าอย่างไร เพราะพี่ทราบข่าวจากทางหนังสือพิมพ์ว่ามีการเพิ่มให้พยาบาล 600-700 บาท เพราะว่าในวันนั้นไม่มีการแจกเอกสารอะไร บอกว่าเอกสารนี้ได้ส่งให้ท่านประธานแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วหมอประชุมพร(พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ) ตัวแทนโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปก็บอกว่าเรายังไม่เห็นเอกสารเลยลนจะให้เรารับร่างฯ นี้ได้อย่างไร

คิดว่าความสมดุลของร่างระเบียบค่าตอบแทนฉบับใหม่ที่จะสามารถลดช่องว่าระหว่างวิชาชีพที่ควรจะเป็น?

พูดในเชิงหลักการก่อนว่าค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนั้นมันเป็นค่าจูงใจให้บุคลากรที่หายากไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพราะว่าถ้าบุคลากรหาง่ายก็ไม่ต้องใช้แรงจูงใจ แล้วใครบ้างที่หายากในปัจจุบัน คำถามของพี่คือพยาบาลขาดแคลนไหม กว่าคุณจะเรียกเขาเพื่อมาสมัครงานแล้วไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้นั้นยากไหม รับปากเขาไว้ได้ไหม แล้วงานของเขาเมื่อพื้นที่ห่างไกลเหล่านั้นขาดแคลนแพทย์ คนที่ทำงานคู่กับแพทย์ตลอดก็คือพยาบาล แล้วการห่างกันถึง 20 เท่านั้นมันเป็นธรรมหรือเปล่า

หลังจากวันนั้นได้มีการเคลียร์ความเข้าใจกันหรือไม่?

ไม่มีการเคลียร์กันเลย เขาก็อ้างว่าได้ทำการหารือกับพยาบาลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งความจริงพยาบาลมีจำนวนมาก เพราะฉะนั้นกลุ่มหนึ่งอาจจะไม่ใช่เสียงของเราทั้งหมด เพราะฉะนั้นพี่คิดว่าพี่ต้องเอากลับเข้ามาหารือเพื่อทำประชาพิจารณ์ในกลุ่มของเราก่อน ตอนนี้กำลังหารือเชิญตัวแทนพยาบาลจากจังหวัดต่างๆ มาหารือเพื่อให้ได้หลักการแบบนี้ เหตุผลแบบนี้ ถ้าอัตราเป็นอย่างไร อะไรแบบนี้ เพราะว่าตอนนั้นเขาร่างขึ้นมาโดยอ้างข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งคำว่าข้อจำกัดเรื่องงบประมาณก็มักส่งผลกระทบกับพยาบาลเสมอ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก จะเพิ่มให้อีก 50 บาท 100 บาท ก็มีผลกระทบต่องบประมาณ ซึ่งพี่เห็นว่าตรงนี้ไม่เป็นธรรมเลยสำหรับพยาบาลซึ่งเขาทำงานมานาน

เกรงว่าสภาการพยาบาลจะถูกมองว่าป่วนหรือไม่เพราะที่ผ่านมาแสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุน P4P?

พี่ไม่ได้คิดว่ามันเป็นการป่วน แต่วิธีการที่เรายังหารือไม่รอบด้านนั้น เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว หรือการสนับสนุน P4P พี่บอกว่า P4P มีข้อดีอย่างไรเราก็รู้กันอยู่ และในเชิงหลักการอย่างไรเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าพยาบาลจะขึ้นมาเป็นแฟตเลท(flate rate)นั้นเป็นการยาก เพราะฉะนั้น P4P ที่จ่ายให้กับคนที่มีผลงานก็จะทำให้ภาระงบประมาณที่จะจ่ายเป็นแฟตเลทนั้นมันไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นคนละเรื่องกันระหว่างการสนับสนุน P4P กับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพราะสภาการพยาบาลยังยืนยันว่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายยังจะต้องจ่ายเพื่อดึงดูดให้บุคลากรที่หายากและมีความจำเป็นไว้อยู่ในถิ่นทุรกันดาร  ดังนั้นฉบับที่ 10 คือเจตนารมณ์อันนั้น คือเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่จะดึงบุคลากรที่หายากอยู่ในถิ่นทุรกันดาร

จะมีการประชุมคณะทำงานอีกครั้งต่อไป?

ยังไม่ได้นัดหมาย แต่ให้คณะกรรมการชุดย่อยไปทำงาน ซึ่งพี่เองก็อยู่ทั้ง 3 ชุดย่อย แต่ว่าชุดที่ทำเรื่องค่าตอบแทนฉบับที่ 10 นั้นก็ไม่ได้เกิดจากการทำงานของคณะกรรมการชุดย่อย

หมายความว่าฉบับ 10 ที่เสนอในที่ประชุมวันนั้นเป็นร่างที่แพทย์ชนบทคิดขึ้นมาเองฝ่ายเดียวแล้วเอาไปเสนอที่ประชุม?

ใช่ค่ะ

 

 

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ

“ประเด็นอยู่ที่ว่าตอนที่กระทรวงให้แค่ 250 บาททำไมสภาการพยาบาลไม่มาโวยวาย นี่เราพูดถึงเรื่องการเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกับฉบับที่ 10 ที่เราจะออกใหม่เลย แต่เรากำลังพยายามจะช่วยพยาบาลกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชน”

 

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท หัวเรี่ยวหัวแรงที่เข็นร่างระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทนฉบับใหม่นี้จนออกมาก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

เรื่องเกี่ยวกับค่าตอบแทนมีอยู่ 3 ประเด็นคือ  1. เรื่องการชดเชยเยียวยา 2. การปรับปรุงเพิ่มเติม 3. พูดถึงเรื่องการทำ P4P โดยในเรื่องของ P4P เรารับหลักการมาจากมติครม. ว่าต้องทำ P4P ให้สอดคล้องกับบริบทชองพื้นที่ เราก็เลยมาประยุกต์ใช้เป็น PQO (Pay for Quality and Outcome) ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องกิจกรรม แต่จะเน้นที่คุณภาพ ซึ่งตัวนี้ดร.คณิศ (ดร.คณิศ แสงสุพรรณ) และกระทรวงก็เห็นด้วยในหลักการแล้วว่าถ้าเราจะไปพัฒนาเรื่องนี้ต่อภายใน 1-2 เดือนนี้ เน้นการทำงานเป็นทีมมากกว่าตัวบุคคล ซึ่งตรงนี้เราได้คิดถึงงบประมาณเหมือนกันว่าถ้าเน้นจ่ายที่ตัวบุคคลนั้นหากจ่ายน้อยก็จะไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน แต่ถ้าจ่ายมากก็จะเป็นภาระงบประมาณ

ต้องเก็บแต้มหรือไม่?

น้อยลงไปมาก เพราะเราจะพูดถึงคุณภาพ เราทำงานปกติ ใช้หลักการทำงานตามปกติ การบันทึกก็คือสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว เช่นการตรวจเลือด บันทึกผลการตรวจเลือดอย่างนี้ถือเป็นการทำงานตามปกติ แล้วประมวลผลว่าได้คุณภาพหรือเปล่า ไม่ใช่การจดว่าพลิกตัวคนไข้กี่ครั้งเหมือน P4P เดิมซึ่งไร้สาระ

สภาการพยาบาลระบุว่าร่างระเบียบดังกล่าวเป็นการจัดทำขึ้นมาโดยชมรมแพทย์ชนบทโดยพยาบาลไม่มีส่วนร่วม?

เราได้ทำการประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องการปรับปรุงเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายว่าจะเพิ่มให้กับวิชาชีพอื่นๆ ในโรงพยาบาลชุมชนอย่างไร โดยไม่เพิ่มให้กับแพทย์และทันตแพทย์ และยังปรับแก้เรื่องพื้นที่ให้ด้วย มีผลทำให้ค่าตอบแทนของโรงพยาบาลชุมชนจ่ายน้อยลงไปประมาณ 500 ล้านบาท โดยคิดว่าฉบับที่ 10 นี้น่าจะออกได้เลยโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.  วันนั้นเราได้เชิญตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพทุกวิชาชีพที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนมานั่งคุยกันโดยเราเป็นคนกลางให้ แล้วเราก็เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่านี่คืออีกสเต็ปท์หนึ่งที่ต้องออกระเบียบเพิ่มเติม ที่คณะกรรมการเดิมมอบให้ทีมของรองสุพรรณ (นพ.สุพรรณ ศรธรรมมา รองปลัด สธ.) เป็นคณะทำงาน ข้อที่ 1 ที่เราบอกกับเขาคือเงินงบประมาณก้อนนี้ เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรากฐานมันเบิกมาจากเงินบำรุงของโรงพยาบาล ที่ใช้ทั้งหมดเดิมมีอยู่ 2 ฉบับ 1.ฉบับที่ 4 ใช้กับโรงพยาบาลชุมชน แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพใน รพ.สต.ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ใช้วงเงินประมาณปีละ 1,500 ล้านบาท 2. ฉบับที่ 6 จะใช้กับวิชาชีพที่เหลือทั้งหมดเลย รวมในรพ.สต.ด้วยประมาณปีละ 2,500 ล้าน เพราะฉะนั้นเงินที่ใช้เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายสำหรับโรงพยาบาลชุมชนบวกรพ.สต.จะอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ประเด็นที่ 2 โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปใช้เงินปีละประมาณ 6,000 – 7,000 บาท ทั้ง 2 กลุ่มรวมกันแล้วใช้เงิน 10,000-11,000 ล้านบาทต่อปี แต่อย่างปีที่ผ่านมาเขาให้เงินบำรุงแค่ประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อจะมาชดแทนให้กับเงิน 11,000 ล้านบาท และเงินก้อนนี้ส่วนใหญ่จะแบ่งให้โรงพยาบาลชุมชน 2,000 ล้าน เพราะฉะนั้นเราต้องใช้เงินเพิ่มอีกเท่าไหร่ ก็ต้องใช้เงินบำรุงเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาทอยู่ดี

เราเลยเล่าให้เขาฟังว่าเงินที่เพิ่มไม่มีทางเพิ่มจากเงินงบประมาณอยู่แล้ว แต่จะไปเพิ่มภาระใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลอยู่ดี เพราะฉะนั้นถ้าเพิ่มค่าตอบแทนในอัตราที่สูงมากความเป็นไปได้ก็ไม่มี นี่คือข้อที่ 1 ที่เราพยายามสะท้อน แล้วเงินก้อนนี้เราไม่ได้เพิ่มให้กับแพทย์ ทันตแพทย์อยู่แล้ว แต่เอาไปเพิ่มให้กับกลุ่มอื่นๆ ที่มีประมาณ 1 แสนคนในโรงพยาบาลชุมชน เพราะฉะนั้นถ้าเพิ่มในอัตราที่สูงมาก เอาง่ายๆ ถ้าเพิ่มในอัตรา 1,000 บาท ก็ต้องใช้เงินเกิน 1-2 พันล้านบาทต่อไป เพราะขนาดเราเพิ่มแค่พยาบาล 600-700 บาทโดยเฉลี่ย ไม่นับเภสัชกรก็ต้องใช้เงิน 1,200 ล้านบาท ต่อปี ดังนั้นเราพยายามบอกกับเขาว่าถ้าเพิ่มมากความเป็นไปได้มันไม่เกิดแน่นอน มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของศักดิ์ศรีหรือไม่ แต่มันเป็นการเพิ่มความเป็นธรรมให้กับวิชาชีพอื่นๆ เพราะว่าแพทย์ ทันตแพทย์เราขอหยุดอยู่แล้ว

พอเขาเริ่มเข้าใจเราก็พูดถึงหลักการเพิ่ม ตอนทำเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนั้นเราทำเพื่อที่จะแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่จะไหลไปอยู่ในเมืองหรือภาคเอกชน ครั้งนั้นเราจึงพยายามปรับเพื่อให้เข้าสู่กลไกการตลาด แต่แน่นอนคนไม่อยากให้ใช้กลไกการตลาด เพราะว่าเราก็เหมือนได้เพิ่มน้อยหรือไม่ได้เพิ่มเลย อย่างกลุ่มอื่นส่วนใหญ่ก็เข้าใจ อย่างพยาบาล สอ.(สถานีอนามัย) ปกติเดิมเขาไม่ได้เลย แต่พอมีฉบับที่ 4 เขาได้เพิ่ม 1,200-1,800 บาท ต่อเดือน หลายคนก็เริ่มเข้าใจ เราก็เล่าให้ฟังต่อว่าพอกระทรวงสาธารณสุขออกฉบับ 8 กับ 9 มา ฉบับที่ 8 ก็ไม่ได้เพิ่มนะเขาให้คุณเท่าเดิม แต่บางวิชาชีพตัดออกไปเลย เช่น แบ็คออฟฟิส จากเดิมได้ 1,2000-1,800 บาทก็ตัดเป็น 0 พยาบาลวิชาชีพยังได้เท่าเดิม กระทรวงต้องมาเพิ่มให้ในเรื่องของ P4P กับโรงพยาบาลชุมชน ประมาณเฉลี่ย 250 บาท

ร่างระเบียบฯ ไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ?

ประเด็นอยู่ที่ว่าตอนที่กระทรวงให้แค่ 250 บาททำไมสภาการพยาบาลไม่มาโวยวาย นี่เราพูดถึงเรื่องการเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกับฉบับที่ 10 ที่เราจะออกใหม่เลย แต่เรากำลังพยายามจะช่วยพยาบาลกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชนว่าถ้าสามารถเคลียร์ตรงนี้ได้อย่างรวดเร็วโดยเข้าใจสถานการณ์และการเงินได้เราจะไปคุยกับกรรมการว่ารีบผลักออกไม่ต้องรอ 2 เดือนได้หรือไม่ ปรากฏว่ากลุ่มต่างๆ ก็เข้าใจความหมาย เราก็เริ่มคิดว่าตรงนี้จะได้เท่าไหร่เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ เลยมานั่งดูตัวเลขเฉลี่ยแล้วก็คือ 1% ของที่เขาให้มา เฉลี่ย 250 บาท เพราะฉะนั้นในเมื่อเราลดทอนส่วนของแพทย์ และทันตแพทย์ไปได้ 500 ล้านบาทแล้วเราเลยคิดจากหลักการอันเดิมว่าเมื่อเพิ่มขึ้นประมาณ 200-300 บาท เป็นพื้นฐาน เพิ่มให้โดยไม่ต้องมาทำ P4P แล้วดับเบิ้ลที่เราลดจากแพทย์ ทันตแพทย์มาให้ เป็นการเพิ่มขึ้น 2-2.5 เท่า คือเพิ่มเป็น 600-700 บาท ในกลุ่มปริญญาตรีทั้งหมด และอนุปริญญาเพิ่ม 300-400 บาท ส่วนของเภสัชกรก็ตกลงกับเขาว่าเป็น 800-900 บาท นี่คือการตกลงกันของทุกวิชาชีพในโรงพยาบาลชุมชนเรียบร้อยแล้ว แล้วปรากฏว่าสภาฯ ไม่รู้อะไร เลยมาเสนอว่าต้องได้ 60 % ถ้า 60% พูดตรงๆ มันน่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1-2 หมื่นล้าน แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายมันเป็นไปไม่ได้เลยเพราะว่ามันไม่ได้มาจากเงินงบประมาณ ถ้า 60% พูดตรงๆ อย่างพยาบาลอายุ 21 ปีขึ้นไปก็ต้องได้ 3 หมื่นบาท ไม่รวมเงินเดือนเลย มากกว่าเอกชนถึง 3 เท่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นหลักการเราต้องพูดถึงความเป็นไปได้ด้วย เราเสนอให้มากกว่าที่กระทรวงเสนอให้ ทำไมตอนนั้นสภาฯ ไม่ค้านให้กับโรงพยาบาลชุมชนเลยได้ 250 บาท ต่อเดือน ในขณะที่ P4P ในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปได้ 2 พันกว่าบาทต่อเดือนมากกว่ากัน 10 เท่า ไม่เห็นออกมาปกป้องโรงพยาบาลชุมชนให้เราเลย เราจะเสนอให้ปรับปรุงอย่างไร แต่วิชาชีพนี้ไม่ยอมให้ทำวิชาชีพนี้อดตามไปด้วยก็ต้องรอต่อไป

หลังจากการประชุมวันนั้นได้มีการพูดคุยกันหรือไม่?

เรามีเวทีของเรากันอยู่ คิดว่าวันนี้เราเข้าใจบทบาทของสภาต่างๆ เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าต้องเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องกันเอง เลยถือโอกาสจัดทำเครือข่ายแล้วก็คุยกันว่าจะมีการประชาพิจารณ์หรือนำเสนออย่างไร เพราะอย่างไรก็ตามเราอยากให้มันเกิด แต่ถ้าฝันเฟื่องเกินไปมันก็ไม่เกิด ไม่มีประโยชน์ ติดแค่วิชาชีพเดียว

การปรับค่าแทนที่ผ่านมาเริ่มตั้งแต่ปี 51แต่ละวิชาชีพเป็นอย่างไร?

ในส่วนของแพทย์เดิมมีแค่ 2 เรต คือ จบมาปีแรกได้เดือนละ 2,000 บาทหลังจากนั้นทุกปีต่อไปได้ 2,200 บาท เพิ่มขึ้น 200 บาท กันดาร 1 ได้ 10,000 บาท กันดาร 2 ได้ 20,000 บ. ถ้วน จบแค่นี้ ผ่านไป 37 ปี หมอมีแค่ 6% แสดงว่าเงินก้อนนี้ไม่ได้จูงใจอะไรเลย เราเลยมาเปลี่ยนในปี 2551 คือคำนึงถึงตั้งหลายเรื่อง ทั้งอายุงานมากขึ้นก็ได้มากขึ้น 2. จะใช้อายุงาน 1-3 ปีเป็นตัวหลักปรับเพราะวัฒนธรรมของแพทย์เมื่อใช้ทุนครบ 3 ปีจะไปเรียนต่อ เราไม่อยากให้ไปเรียนเลยปรับปีที่ 4 – 10, 11-20, 21 ปีขึ้นไป โดยหลักการพยายามดูอย่างนี้ 1-3 ปีแรกเป็นช่วงบังคับชดใช้ทุนก็แค่ปรับอัตราจาก 2,000 เป็น 10,000 แค่นั้นเอง พอหลังจากนั้นปีที่ 3 กับปีที่ 4 เราต้องการจูงใจไม่ให้เขาไปเรียนเลยปรับอัตรากระโดดขึ้นมา พอปีที่ 11-20 เรามองว่าถ้าอยากให้เขาอยู่นานต้องไปชดเชยโอกาสที่เขาสูญเสียเช่นมีลูกก็ต้องส่งลูกไปเรียนในเมืองก็ต้องเอาเงินก้อนนี้ไปเยี่ยมลูกไปจ่ายค่าหอพักให้ลูกในการเรียน พอปีที่ 21 ขึ้นไป พ่อ แม่เขาเริ่มแก่เฒ่า อยู่ในเมืองเขาก็ต้องเอาเงินก้อนนี้ไปเยี่ยมพ่อแม่ ไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พ่อแม่

วิชาชีพเภสัชกรก็มีเรตปีแรกได้ 1,700 บาท ปีที่ 2 ได้ 1,900 บาท แต่เภสัชกรพูดตรงๆ กลไกการตลาดไม่ขาดเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับแพทย์ทันตแพทย์ เมื่อเอากลไกการตลาดมาจับก็ปรับตาม 4 ช่วงอายุเหมือนกันแต่ไม่ได้เรตกระโดดเท่าแพทย์ ทันตแพทย์ เช่นจากเดิม 1,700 ก็เป็น 3,000, 4,000, 5,000, 6,000 บาท พยาบาลเดิมไม่มีเลย เป็น 0 บาท ดังนั้นจาก 0 บาทก็ปรับกระโดดมาเป็น 1,200 บาท กับ 1,800 บาท ในฉบับที่ 6 พยาบาลวิชาชีพที่สถานีอนามัยในพื้นที่ทุรกันดารก็ไม่เคยได้เราก็มาปรับเป็น 3,000-6,000 บาท เหมือนกัน กลายเป็นว่าถ้าเป็นสถานีอนามัยในพื้นที่เสี่ยงภัยมากๆ ก็ได้ถึง 6,000 จาก 0 บาท ถ้าทุรกันดารระดับหนึ่งได้สูงสุด 3,000 บาท ส่วนพยาบาลวิชาชีพที่อยู่ในสถานีอนามัยถ้าจำตัวเลขไม่ผิดเคยได้เดือนละ 600 บาท ก็ปรับมาเป็น 3,000 บาท หรือ 5 เท่า คือมันกระโดดแล้ว แต่ว่าคนพวกนี้เขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมมาก่อน ต่อมาโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปซึ่งไม่ควรได้เลยก็มาขอด้วยได้ในอัตราเท่ากับพยาบาล

สภาการพยาบาลไม่เข้าใจในสิ่งที่แพทย์ชนบทพยายามบอก เพราะมองว่าการขับเคลื่อนก็เพื่อให้กลุ่มแพทย์ที่มีอายุงาน 21 ปีขึ้นไปที่เสียประโยชน์ตรงนี้ไปได้ผลประโยชน์กลับคืนมาเท่านั้น

หลักการอย่างที่บอก ว่า 1.การเยียวยา อันนี้เป็นออฟชั่นเพิ่มเติม ตอนนี้หมอมีความรู้สึกว่าสภาไม่เข้าใจ ไม่รู้เราต้องให้บุคลากรของเขาไปคุยกันเอาเอง เพราะตอนนี้ โรงพยาบาลที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนโดยส่วนใหญ่เขาเข้าใจแล้วว่าต้องพูดถึงหลักการความเป็นจริง ที่มา ที่ไปเป็นอย่างไร  อย่างวันนั้นมีพยาบาลมาตั้ง 300 คน แต่ 10.1 ยังไม่กล้าแจกเพราะยังไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ ถ้าใครแย้งแม้แต่วิชาชีพเดียวผมไม่เอาเลยเพราะรู้สึกว่ามันเปลืองตัวเปล่าๆ แต่นี่เราทำให้ พยาบาลไม่ยอมให้เภสัชมากกว่า ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ ล้มเลย แล้วต้องกลับเริ่มต้นใหม่เลย โรงพยาบาลเล็กๆ อาจจะไม่มีจ่ายเลย เขาอ้างว่าทำไมเราไม่เชิญเขามาประชุม ที่จริงเราเชิญทั้งประเทศ แต่เขาไม่มาเอง แล้วเขาก็ไม่ยอม เขามีวาระซ่อนเร้นอะไรอยู่ ที่หนักร้ายกว่านั้นคือเขายึดศักดิ์ศรีมากว่าเขาจบปริญญาตรี ถ้าอย่างนี้มันก็เคลียร์ไม่ได้

ยืนยันว่าเราสู้เพื่อทุกคนไม่ได้สู้เพื่อแพทย์ที่อายุงานมากเท่านั้น

ถูก ต้องถามว่าคุณคิดอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ตัวแทนที่อยู่โรงพยาบาลชุมชนกับเราเขาคิดอย่างนั้นไหม ซึ่งมันไม่มีเลย ไม่มีใครยกมือค้านแม้แต่คนเดียว เพราะเราพูดถึงความเป็นไปได้ด้วยว่าระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมันโยงกับระบบงบประมาณ แล้วคุณก็รู้อยู่แล้วว่ามันใช้จากเงินบำรุง จะไปหลอกเขาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเล่าความจริงให้เขาฟังว่างบประมาณมาจากไหน สุดท้ายเพิ่มไปก็ต้องเพิ่มจากเงินบำรุงอยู่ดี

การแก้ปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันได้อย่างไร?

อย่างไรก็ออกได้ ตอนนี้อยู่ที่กลุ่มวิชาชีพพยาบาลที่เขาต้องไปเคลียร์กันเอาเอง ก็ต้องให้พยาบาลที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนไปเคลียร์กับสภาว่าคุณไม่ควรมายุ่ง อย่างนี้โหนกระแสกับเราให้ออกได้วันที่ 1 ก.ค.ดีกว่า