ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหาหมอ..หมอ...คุกรุ่นอีกครั้ง เมื่อ “นพ.วิทิต อรรถเวชกุล” อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ในฐานะผู้ บริหารมือดีที่บริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้วจนประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม กลับต้องมาประสบวิบากกรรม จนถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บริหาร อภ. อย่างไม่คาดคิด ได้ออกมาประกาศฟ้องร้องผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องชนิดรายบุคคล  เพราะมองว่าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบธรรมด้วยประการทั้งปวง

โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.วิทิต ได้มีการหารือร่วมกับทีมที่ปรึกษากฎหมาย ผู้แทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม และผู้แทนเครือข่ายความเป็นธรรมด้านสุขภาพ  ถึงการปกป้องสิทธิของตนเอง หลังจาก คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบตาม บอร์ด อภ.ในการเลิกจ้างออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ. โดยจากการหารือสรุปได้ว่า จะเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทั้งหมด 31 ล้านบาท ทั้งจากบอร์ด อภ.  และครม. ทั้งชุด โดยจะฟ้องทั้งคดีทางปกครอง เพื่อให้ถอนมติ ครม. และคุ้มครองฉุกเฉิน และฟ้องคดีอาญามาตรา 157 ในฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขณะเดียวกันก็ฟ้องหมิ่นประมาทตัวบุคคล ทั้งนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. ฐานให้ข่าวกล่าวร้ายทำให้เกิดความเสียหาย  โดยจะดำเนินการฟ้องร้องทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้

งานนี้ใช่ว่า นพ.วิทิต จะเดินหน้าเพียงฝ่ายเดียว เพราะหลังจากข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ทั้ง นพ.ประดิษฐ และนพ.พิพัฒน์ ก็ออกมาตอบโต้ชนิดไม่ลดละ เนื่องจากมองว่า หากการฟ้องร้องครั้งนี้ไม่มีมูลข้อเท็จจริง ก็อาจมีการฟ้องกลับได้เช่นกัน

หนำซ้ำ  บอร์ด อภ.  ยังเตรียมเรียกค่าเสียหาย นพ.วิทิต สมัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.ที่ทำให้องค์การฯ เกิดความเสียหายอีกด้วย โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาละเมิดกรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอลที่มีปัญหาการปนเปื้อน ไม่สามารถผลิตออกจำหน่าย และยังไม่สามารถส่งคืนวัตถุดิบได้ในสมัยของ นพ.วิทิต กระทั่งถูกเลิกจ้าง และมีการตั้งรักษาการผู้อำนวยการ อภ.ขึ้นมาใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแลกวัตถุดิบเก่าเป็นใหม่อีกครั้ง  รวมไปถึงให้มีการพิจารณาความเสียหายที่เกิดจากกรณีความล่าช้าโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก จ.สระบุรี ที่เริ่มก่อสร้างในปี 2552 และแล้วเสร็จในปี 2554 แต่จนบัดนี้ยังไม่แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ “นพ.พิพัฒน์”  ยังบอกว่า   ไม่เพียงความเสียหายที่เกิดจาก 2 กรณี ยังมีกรณีอื่นๆ อีก จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณียาโครพิโดเกรล (clopidogrel) ซึ่งเป็นยาโรคหัวใจที่ซื้อมามูลค่ากว่า 10 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้มีการนำไปใช้ รวมทั้งกรณียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) มูลค่า 500 ล้านบาท ก็ยังไม่มีการใช้เช่นกัน เนื่องจากมีข่าวใกล้หมดอายุ ซึ่งหากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีความเสียหาย ก็จะต้องนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาละเมิดฯ เพื่อเรียกค่าเสียหาย นพ.วิทิต อีก

งานนี้ นพ.วิทิต อ่วม ชนิดหากมีการเรียกค่าเสียหายกลับ การฟ้องร้องต่อบอร์ด อภ. ครม. และนพ.ประดิษฐ จำนวน 31 ล้าน คงไม่พอหากบอร์ด อภ.จะเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.วิทิต พูดสั้นๆว่า ไม่เข้าใจว่า บอร์ด อภ.คิดอะไรอยู่  ซึ่งส่วนตัวยังคงยืนยันฟ้องร้องเช่นเดิม

ขณะที่จากการสอบถามคนใกล้ชิด นพ.วิทิต เล่าว่า กรณีที่บอร์ด อภ.ตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาเพื่อรวมรวมความเสียหายสมัย นพ.วิทิต เป็นผู้อำนวยการฯ นั้น เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากกรณีวัตถุดิบยาพาราเซตามอล ไม่ได้เป็นการกักตุน แต่เป็นการนำเข้าเพื่อผลิตจริงๆ ขณะเดียวกัน อภ.ก็มีแผนในการสร้างโรงงานแมสโปรดักชั่น ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ในการผลิตยาทั่วไป รวมทั้งยาพาราเซตามอลด้วย ซึ่งโรงงานดังกล่าวแล้วเสร็จตั้งแต่ช่วงเมษายนที่ผ่านมา 

ส่วนโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก สาเหตุของความล่าช้าที่เดิมกำหนดก่อสร้าง 540 วัน แต่ใช้เวลาไปแล้ว 1,261 วัน ก่อสร้างไปได้เพียง 58%  นั้น  จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่เกิดเป็นปกติวิสัย ทั้งในภาครัฐและเอกชน เหมือนการสร้างบ้านหลังเดียวก็พบปัญหาความล่าช้าได้เช่นกัน โดยสาเหตุของความล่าช้ากรณี มีทั้งการปรับแบบฐานราก และยกระดับอาคาร การทบทวนแบบอาคารระหว่างก่อสร้าง การเปลี่ยนบริษัทที่ปรึกษา และควบคุมการก่อสร้าง  รวมทั้งประสบปัญหาน้ำท่วมถึงสองครั้ง คือ พ.ศ.2553 และพ.ศ.2554 ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้งานเดินไม่ได้ ทั้งหมดล้วนมีที่มาที่ไป จึงไม่เข้าใจว่าการที่บอร์ด อภ.ตั้งคณะกรรมการมาเอาผิดเช่นนี้ ถูกต้องหรืออย่างไร

ดูเหมือนปัญหาอภ.จะไม่จบแค่การฟ้องร้องกันไปมา เพราะล่าสุดจากกรณีที่ เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ฯลฯ ได้หารือร่วมกับนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ และนพ.ประดิษฐ ตกลงและทำเป็นเอกสารเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า ให้ตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปลด นพ.วิทิต  แต่ปรากฎว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.ประดิษฐ ได้มอบให้ บอร์ด อภ.ตั้งคณะผู้รับฟังและคณะผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แทนการตั้งเป็นคณะกรรมการฯ โดยจะเรียกให้ทั้งหมดเข้ามาประชุมหารือเรื่องนี้ในวันที่ 8 กรกฎาคม ที่องค์การเภสัชกรรม ปรากฎว่า เครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ไม่เห็นด้วย และพร้อมใจกันไม่เข้าร่วมทุกกรณี

งานนี้ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  หนึ่งในผู้แทนของทางเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ออกมายืนยันชัดเจนว่า ผู้แทนทั้งหมด 7 ท่าน จะไม่ขอเข้าร่วมการประชุมของ อภ. เพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่เคยมีมติร่วมกัน 

เมื่อสอบถามไปทาง นพ.ประดิษฐ ได้รับการยืนยันเหมือนเดิมว่า การจะไปตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงซ้ำจากที่เคยสอบสวนแล้วเสร็จไปนั้น คงทำไม่ได้ แต่หากพบข้อเท็จจริงใหม่ก็สามารถส่งเรื่องมายังตน และจะมีการพิจารณาตั้งทีมทบทวนอีกก็ได้

งานนี้ไม่รู้ว่าจะลงเอยเช่นไร แต่ที่แน่ๆ ปัญหา อภ.คงเป็นเรื่องยาวหลายภาคแน่...

หมายเหตุ สำหรับรายชื่อคณะผู้ชี้แจงและผู้รับฟังข้อเท็จจริงกรณีเลิกจ้าง นพ.วิทิต  ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ. มีทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วย คณะผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง  มี นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อดีตรักษาราชการแทนปลัด สธ. เป็นประธาน นายกมล นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด อภ. นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย กรรมการ อภ. นพ.สมชัย นิจพานิช กรรมการ อภ. ภญ.พิศมร กลิ่นสุวรรณ รักษาการผอ.อภ. นพ.ทรงยศ ชัยชนะ ผู้ตรวจราชการฯ และนายสุจินต์ สิริอภัย นิติกรชำนาญการ
 

ส่วนฝั่งเครือข่ายฯ เป็นคณะผู้รับฟังข้อเท็จจริง มีรศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังระบบยา ศ.ภญ.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช ภาควิชาการวิทยาการเภสัชกรรม และเภสัชอุตสาหกรรม จุฬาฯ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัด สธ. นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.11 กระทรวงฯ นายชำนาญ พิเชษฐ์พันธุ์ นักกฎหมายอิสระ และนายระวัย ภู่ระกา ประธานสหภาพฯ