ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงนี้ข่าวคราวเรื่องการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมจนนำไปสู่การทำแท้งในกลุ่มเยาวชนขึ้นหน้าหนึ่งของ หนังสือพิมพ์แทบจะรายวันเลยทีเดียว ทั้งนี้ หากพิจารณาสถิติในระดับประเทศจะพบว่าเยาวชนอายุ ๑๕-๒๔ ปีตั้งครรภ์ปีละประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าราย เป็นตัวเลขที่สูงเป็นอันสองของโลกและเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียเลยทีเดียว

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือในแต่ละวันจะมีเยาวชนมาฝากครรภ์วันละประมาณ ๗๐๐ ราย แต่มาคลอดเพียงวัน ละ ๓๓๖ ราย คงไม่ต้องบอกใช่ไหมครับว่าอีกเกือบ ๔๐๐ รายทำไมถึงไม่คลอด  

ครับ! เยาวชนของเรากว่าครึ่งเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ แล้วก็เป็นที่น่าเศร้าอีกว่า ไทยและพม่าเป็น 2 ประเทศที่เยาวชนมีอัตราการเสียชีวิตจากเอดส์และการทำแท้งมากที่สุดในอาเซียน ผมจะไม่พูดถึงเพื่อนบ้านแต่จะพูดเฉพาะประเทศไทยที่มีระบบสาธารณสุขที่ทันสมัยจนถึงขนาดที่รัฐบาลเตรียมผลักดันให้เป็น Medical Hub มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการดูแลรักษาสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน แต่ทำไมเด็กไทยถึงต้องมาเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยกันมากมายขนาดนี้

เอาล่ะ...ผมจะไม่แตะต้องเรื่องทัศนคติใดๆ ที่มีต่อการทำแท้งทั้งสิ้น เรื่องนั้นต้องว่ากันยาวๆ เพราะเป็นความเชื่อและมีความซับซ้อนในเชิงวิธีคิดซึ่งอาจจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป แต่ฉบับนี้ผมจะตรงไปตรงมากับระบบการศึกษาและระบบสาธารณสุขในบ้านเราที่ “ใจแคบ” ต่อเรื่องนี้

ว่ากันที่ระบบการศึกษาก่อนที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องเพศศึกษา เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องเพศแต่เรื่องสรีระ เรื่องฮอร์โมนซึ่งใช้ไม่ได้กับชีวิตจริงเมื่อเขามีโอกาสอยู่กับแฟนสองต่อสองเพราะไม่เคยถูกฝึกให้คิดและประเมินได้ว่าเมื่อมีโอกาสอยู่กับแฟนก็เป็นไปได้ว่าเพศสัมพันธ์อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่ได้ถูกฝึกในเรื่องดังกล่าวเด็กๆ จึงไม่ได้เตรียมเรื่องการป้องกัน ทำให้เกิดสถานการณ์เรื่องโรคและเรื่องท้องตามมา พอท้องขึ้นมาเด็กก็ขาดประสบการณ์ในการประเมินอีกว่า  ถ้าประจำเดือนขาดไปหลังมีเพศสัมพันธ์ควรสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ไว้ด้วย เด็กบางคนนับระยะปลอดภัยไม่เป็น ไม่รู้ว่าประจำเดือนมาสม่ำเสมอหมายความว่าอย่างไรเพราะไม่เคยถูกสอน ถูกฝึกให้จดบันทึก กว่าจะรู้อายุครรภ์ก็หลายเดือนแล้ว การจัดการก็ยากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ คงต้อง “กระทุ้ง” กระทรวงศึกษาธิการเจ้าภาพเรื่องการศึกษาในบ้านเราที่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาวิชาการอย่างคณิต วิทย์ ภาษาอังกฤษ จนละเลยที่จะสอน “วิชาชีวิต” ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่เด็กจะเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้

ส่วนระบบสาธารณสุขบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า สถานการณ์เรื่องท้องไม่พร้อมของไทยนี่เข้าขั้นวิกฤตินะครับ แต่ดูเหมือนสาธารณสุขบ้านเราเสนอแนวทางเดียวในการแก้ปัญหาคือให้ป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็อย่างที่เล่าให้ฟังครับว่าเด็กไม่เคยถูกฝึกให้ประเมินการมีเพศสัมพันธ์จึงไม่ได้เตรียมเรื่องป้องกัน พอท้องขึ้นมาแล้วก็แทบจะไม่มีทางเลือกที่ปลอดภัยให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ เพราะยายุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและองค์การอนามัยโลกอนุญาตให้ใช้อย่าง Mifepristone (RU486) และ Misoprostol นั้น อย.ไทยไม่ขึ้นทะเบียนยาให้ครับ ห้ามนำเข้าด้วย เด็กๆ จึงไปซื้อยาที่ว่านี้ผ่านเวปไซต์แล้วพอซื้อมาก็ใช้อย่างไม่ถูกวิธีเพราะเวปไซต์ก็ไม่ได้อธิบายวิธีใช้ เราจึงได้เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าเด็กๆ ใช้ยาเหล่านี้จนเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิต

คำถามสำคัญคือ กว่า 300,000 รายที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมนั้นจะมีสักกี่รายที่อยู่ใน ๔ กรณีที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ แล้วถ้าเด็กคนหนึ่งไม่พร้อมที่จะท้อง ไม่พร้อมที่จะเป็นแม่ จำเป็นต้องแบกรับอีกหนึ่งชีวิตที่กำลังจะเกิดมา  บนความไม่พร้อมหรือครับ ไหนจะอนาคตของคนที่อุ้มท้องอีก  คิดง่ายๆ ครับว่าหากเราต้องเป็นแม่ตอนอายุ 16-17 เราจะทำมาหากินอะไรเลี้ยงลูกดีบนเงื่อนไขที่ว่าเราจบการศึกษาแค่ภาคบังคับหรือเรียนไม่จบอะไรเลย

 ขณะนี้  ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายกำลังเร่งแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายอันดีครับ แต่แนวทาง การแก้ปัญหาที่ว่าต้องคำนึงถึง “ผู้ได้รับผลกระทบ” เป็นอันดับแรก เพราะชีวิตคนมีหลายมิติ ซับซ้อน เกินกว่าจะ ออกมาตรการทางกฎหมาย เอาผิดเด็ก เอาผิดสถานบริการที่ให้บริการและการไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอยู่นี้ ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้เด็กๆ ต้องช่วยตัวเอง ไปเลือกใช้บริการที่มีอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต    อย่างไรก็ตามถ้าใครที่กำลังเผชิญปัญหา หากมีความกังวลเรื่องนี้โทรปรึกษา 1663 ได้ครับ สิบโมงเช้าถึงสองทุ่มทุกวัน

เรื่องท้องกับเรื่องเอดส์มักจะมาด้วยกันครับ เพราะหากไม่ได้ป้องกัน ไม่ได้ใช้ถุงยาง ก็มีโอกาสตั้งครรภ์และมีโอกาสติดเชื้อเอชไวอีได้ ผมขอจบด้วยว่า ขอให้ทุกคนสุขและมีความปลอดภัยจากเพศสัมพันธ์ของคุณครับ

ที่มา : นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 2 กรกฎาคม 2556