ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus   - ท่ามกลางความเชื่อมั่นของ สธ. ที่มองว่ามาตรการขยายภาพคำเตือนเป็น 85% จะช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่ลงได้ และในระหว่างที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่กำลังไม่พอใจด้วยเกรงว่ายอดขายจะลดลงนั้น ... มีการเปิดเผยงานวิจัยหนึ่งซึ่งสั่นสะเทือนวงการยาสูบ

19 มิ.ย.ที่ผ่านมา 2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการยาสูบโลก คือ เจแปนโทแบคโกอินเตอร์เนชันแนล และ ฟิลิปมอร์ริส ได้ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฐานสร้างอุปสรรคในการทำการค้า

“ระเบียบดังกล่าวไม่เหมาะสมต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม ลิขสิทธิ์ทางปัญญา และเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อเป็นการพิทักษ์ความสามารถในการใช้ตราและเครื่องหมายการค้าต่อในประเทศไทย” คือเหตุผลที่ระบุไว้ในแถลงการณ์

ระเบียบที่ว่า คือการขยายขนาดพื้นที่คำเตือนบนซองบุหรี่จาก 50% เป็น 85% โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนต.ค.นี้

6 วันถัดมาคือในวันที่ 25 มิ.ย. สมาคมผู้ค้ายาสูบไทย รับลูกการเคลื่อนไหวข้างต้น ด้วยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองขอให้พิจารณายกเลิกระเบียบดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการออกกฎหมายโดยมิชอบ ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ทว่า นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กลับยืนยันว่า สธ.มีอำนาจออกระเบียบได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน

สำหรับอนุสัญญาฉบับดังกล่าว ได้กำหนดขนาดของภาพเตือนไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 30% ของซอง แต่ถ้าเป็นไปได้ควรขยายให้เกินกว่า 50%

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองได้ไต่สวนฉุกเฉินคำร้องของบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ โดยสั่งให้ สธ. ทำคำชี้แจงกรณีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ มองว่า กรณีดังกล่าว เป็นเพียงมาตรการข่มขู่ของบริษัทยาเพื่อยืดการบังคับใช้กฎหมายออกไป แต่หากดูจากสถานการณ์ในหลายประเทศ เช่น ประเทศอุรกวัย มีการกำหนดคำเตือนให้มีขนาด 80%

ประเทศศรีลังกา กำหนด 80% เช่นกัน แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะบริษัทบุหรี่ไปฟ้องศาลแต่แพ้ความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างศาลฎีกาตัดสิน ในขณะที่ออสเตรเลียมีคำเตือนบนซองบุหรี่ใหญ่ที่สุดในโลกเฉลี่ย 85% คือ ด้านหน้า 75% และด้านหลัง 100% บริษัทบุหรี่เคยฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย ศาลยังตัดสินว่ามาตรการเรื่องนี้ของรัฐไม่ได้ละเมิดเครื่องหมายการค้า ดังนั้นคิดว่ากรณีของประเทศไทยไม่น่าจะแตกต่างจากที่อื่น

ท่ามกลางความเชื่อมั่นของ สธ. ที่มองว่ามาตรการขยายภาพคำเตือนเป็น 85% จะช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่ลงได้ และในระหว่างที่บริษัทผู้ผลิตบุหรี่กำลังไม่พอใจด้วยเกรงว่ายอดขายจะลดลงนั้น ... มีการเปิดเผยงานวิจัยหนึ่งซึ่งสั่นสะเทือนวงการยาสูบ

ผลการศึกษาครั้งนี้ จะทำลายกรอบความเชื่อและอาจเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐ

“buy.ology” หนังสือที่เขียนขึ้นโดย มาร์ติน ลินด์สตรอม ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดชั้นนำระดับโลก ได้ระบุถึง สัญชาติญาณการซื้อ โดยวิเคราะห์จากการศึกษา “การทำงานของสมอง” ด้วยเทคโนโลยีสแกนล้ำสมัยอันดับ 1 ของโลก ที่ชื่อว่าเอฟเอ็มอาร์ไอ (Functional Magnetic Resonance Imaging) มูลค่าเหยียบ 120 ล้านบาท

การทำงานของเอฟเอ็มอาร์ไอ จะตรวจวัดคุณสมบัติความเป็นแม่เหล็กของฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบในเซลล์เม็ดเลือดแดง กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายคือเมื่อสมองส่วนใดทำงานหนัก สมองส่วนนั้นก็จะใช้พลังงานมาก แน่นนอนว่าเลือดก็จะฟอกไปในบริเวณนั้นมากขึ้น โดยเครื่องนี้จะวัดปริมาณเลือดที่ฟอกแล้วด้วยความละเอียด 1 ตารางมิลลิเมตร ช่วยให้นักประสาทวิทยาระบุได้ว่าสมองส่วนไหนกำลังทำงานอยู่อย่างไร

“buy.ology” อ้างสถิติว่า ทุกๆ วันมีการจำหน่ายบุหรี่ประมาณ 1.5 ล้านมวน หรือ 10 ล้านมวนต่อนาที ทั่วโลกมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1,400ล้านคน และธนาคารโลกได้คาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2568 ตัวเลขนักสูบจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้านคน ในขณะที่แต่ละประเทศมีความพยายามจะลดตัวเลขลง โดยมีการออกมาตรการต่างๆ หนึ่งในนั้นคือภาพเตือนบนซอง

เจมมา คาลเวิร์ต หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีภาพถ่ายทางระบบประสาทเชิงประยุกต์ มหาวิทยาลัยวอริคในประเทศอังกฤษ นำกลุ่มตัวอย่าง 32 ราย ถูกนำมาเข้ากระบวนการสแกนสมอง เขาเหล่านั้นต้องนอนนิ่งๆ กว่า 1 ชั่วโมง ระหว่างนั้นก็มีการให้ดูภาพคำเตือนบนซองบุหรี่หลากหลายแบบอย่างต่อเนื่อง โดยให้กลุ่มตัวอย่างบอกระดับความต้องการสูบบุหรี่ระหว่างดูภาพด้วยการกดปุ่ม

5 เดือนต่อมา ผลลัพธ์ทำให้โลกต้องตะลึง “คำเตือนทั้งด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลังซองบุหรี่ไม่มีผลต่อความอยากบุหรี่ของนักสูบเลย พูดง่ายๆ ก็คือบรรดารูปภาพน่าสยดสยอง กฎระเบียบของรัฐบาล ตลอดจนเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่ 123 ประเทศทุ่มให้กับการณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง”

น่าตระหนกหนักมากขึ้นอีก เมื่อพบว่า “ภาพคำเตือนโรคร้ายต่างๆ เหล่านั้น ได้กระตุ้นพื้นที่ในสมองที่เรียกว่านิวเคลียส แอคคัมเบนส์ หรือต่อมอยาก” นั่นหมายความว่า นอกจากคำเตือนบนซองบุหรี่จะไม่สามารถยับยั้งการสูบบุหรี่ได้แล้ว มันยังส่งสัญญาณให้ต่อมอยากตื่นตัวจนกลายเป็นการ “กระตุ้น” ให้นักสูบอยากสูบบุหรี่มากขึ้นอีก

ผลการศึกษาครั้งนี้จึงสรุปได้ว่า คำเตือนบนซองบุหรี่ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ ลดการเกิดโรคมะเร็ง และรักษาชีวิตคน กลับกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดชั้นยอดให้แก่อุตสาหกรรมยาสูบมาโดยตลอด