ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวในการแถลงข่าว "ติดยา หายขาดได้" ว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คาดว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งผู้เสพและผู้ค้า ปี 2556 ประมาณ 1.9 ล้านคน ขณะที่จากข้อมูลผู้เข้ารับการรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในเขตภูมิภาคอีก 6 แห่งทั่วประเทศ สังกัดกรมการแพทย์ จากการรวบรวมสถิติผู้ป่วยยาเสพติดทั้งหมด พบว่า ปี 2556 ถึงเดือนมิถุนายน จำนวน 5,106 ราย เมื่อแยกตามช่วงอายุของผู้เข้ารับการบำบัดพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มของวัยรุ่นและวัยรุ่นตอนปลาย

สถิติที่แยกตามกลุ่มการศึกษาที่พบว่า ตั้งแต่ปี 2552-2556 กลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่ คือ กลุ่มมัธยมศึกษา ในปี 2556 มีจำนวนร้อยละ 85.2 สถิติของผู้เข้ารับการรักษาจำแนกตามประเภทของสารเสพติด พบว่า ยาบ้ามีปริมาณสูงปี 2556 มีจำนวนมากถึงร้อยละ 55.97 รองลงมาคือ ยาเสพติดประเภทสุรา ร้อยละ 17.96 ยังพบว่า ยาไอซ์เป็นยาเสพติดอีกชนิดหนึ่งที่พบแนวโน้มการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า ผู้ติดยาเสพติดถือเป็นผู้ป่วยโรคสมองติดยา โจทย์สำคัญที่เล็งเห็นว่าควรดำเนินการอย่างจริงจังคือ การทำให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาแล้วไม่กลับไปเสพซ้ำ และเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้อย่างถาวร โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เสพเองและครอบครัว ที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาประมาณร้อยละ 30 มีการกลับไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดอีก

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า ผู้เสพยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้เข้ารับการบำบัดจะถือเป็นผู้ป่วย ข้อมูลจะไม่เข้าไปสู่ระบบข้อมูลอาชญากรของตำรวจ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสพหากเพิ่งเริ่มติดอยู่ในช่วงปีแรกแล้วเข้ารับการบำบัดผลการบำบัดจะหายขาดได้ดีกว่าผู้ที่เสพมาเป็นเวลานาน กลุ่มเด็กเมื่อได้รับสารเคมีที่เป็นยาเสพติดจะทำให้เกิดการติดได้มากกว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากสมองยังอ่อน การป้องกันในกลุ่มนี้ไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจึงเป็นเรื่อง จำเป็น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 4 กรกฎาคม 2556