ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ -ตลอดแนวตะเข็บชายแดนภาคเหนือติดต่อกับพม่า ไล่ตั้งแต่ จ.ตาก ไปจนถึงแม่ฮ่องสอนโรงพยาบาลอำเภอคลาคล่ำไปด้วยกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงระบบประกันสุขภาพ ทั้งจากชนกลุ่มน้อย แรงงานต่างด้าว หรือแม้กระทั่งคนไทยเองที่ตั้งรกรากมานานแล้ว แต่ไม่ได้รับโอกาสพิสูจน์สัญชาติ ด้วยปัญหาการสู้รบที่ไม่รู้จบ ทำให้คนชายขอบเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างที่คนไทยได้รับ และเมื่อไม่มีหลักประกัน ระบบก็ผลักดันให้คนกลุ่มนี้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจริงด้วยตัวเอง ทั้งที่ไม่มีงาน ไม่มีเงินและยังใช้ชีวิตด้วยการหาของป่า หรืออาชีพเสริมอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ นโยบายของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ก็คือการกำหนดให้"แรงงานต่างด้าว" ตามจังหวัดชายแดน ต้องจ่ายค่าบัตรประกันสุขภาพ สำหรับเด็กในอัตรา 365 บาทต่อคนต่อปี และสำหรับผู้ใหญ่ในอัตรา 1,900 บาทต่อคนต่อปี แค่อัตราที่สูงเกินไปก็ทำให้ใช้ไม่ได้ผล

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ระบุว่า ทางเลือกของคนกลุ่มนี้คือ เมื่อไม่มีเงินพอเจ็บป่วยก็เลือกที่จะอยู่บ้านอาจจะรักษาด้วยสมุนไพร หรือปล่อยไปตามอาการซึ่งด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้โรคระบาดอย่างมาลาเรียหรือวัณโรค ยังคงขยายตัวในเขตชายแดน

ขณะเดียวกัน "เงิน" ก็กลายเป็นช่องว่างทำให้ผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาไม่ได้ หากคิดคร่าวๆ ในเขตพื้นที่ของเขา มีประชากรมากกว่า 5.2 หมื่นคนหรือ62% ของประชากรทั้งหมด ที่ไม่ได้อยู่ใต้ระบบประกันสุขภาพ ขณะที่แรงงานต่างด้าวที่หมอประดิษฐหวังว่าจะให้จ่ายบัตรประกันสุขภาพใน 5 อำเภอของ จ.ตากมีเพียง 3 หมื่นคนจากผู้มีปัญหาเรื่องสัญชาติมากกว่า2.7 แสนคน และส่วนใหญ่อยู่ในตัวเมืองใหญ่ เช่นเขต อ.แม่สอด เท่านั้น

เมื่อนโยบายเก็บเงินไม่ได้ผลย่อมทำให้ สธ.ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายให้คนกลุ่มนี้สูงถึงปีละกว่า 250 ล้านบาท และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะคนต่างด้าวยังข้ามชายแดนเข้ามาต่อเนื่องขณะที่กลุ่มที่อยู่ในไทยอยู่แล้วก็มีอัตราการเกิดที่สูงต่อไป

"คนไม่มีเงินยังไงก็รีดเลือดจากเขาไม่ได้ ผมก็ขอบริจาคจากทุกอย่าง โรงพยาบาลเราจะรักษาทุกคนด้วยหลักมนุษยธรรม แต่เราขอจากบริษัทยาทั่วโลกและผมคิดว่ามหาเศรษฐีที่ได้เงินจริงๆ เขายินดีจ่ายเราก็จะไม่ขัดเรื่องมนุษยธรรม

สิ่งที่หมอวรวิทย์เสนอก็คือ 1.ขอให้มีการพูดเรื่องปัญหาสาธารณสุข สังคม และคุณภาพชีวิตในระดับอาเซียน โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง 2.พัฒนาระบบประกันสุขภาพในประเทศเพื่อนบ้านให้มีคุณภาพเพื่อที่จะไม่หลั่งไหลเข้ามารักษาในประเทศไทยและ3.จัดตั้งกองทุนมนุษยธรรมเพื่อดูแลสุขภาพคนไร้สัญชาติในประเทศไทย เพื่อให้โรงพยาบาลไม่ต้องรักษาแบบเข้าเนื้อตัวเองเหมือนทุกวันนี้ ขณะเดียวกันเขายังเสนอให้รัฐบาลไทยเร่งผลักดันกระบวนการดูแลคนไร้สัญชาติ ด้วยการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ และให้สิทธิคนต่างด้าว ให้สะดวกและรวดเร็วกว่านี้ เพื่อไม่ให้สถานบริการไม่ต้องรับภาระมากไปกว่านี้อีก

ขณะที่ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า สธ.จะผลักดันงบประมาณลงมายังโรงพยาบาลชายแดนมากขึ้น โดยจะเพิ่มเป็นประมาณ 310 ล้านบาท และเห็นด้วยที่จะผลักดันกองทุนมนุษยธรรมสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ และเข้าไม่ถึงระบบประกันสุขภาพ พร้อมกับระบุว่า เป็นเรื่องที่จะต้องแลกเปลี่ยนกันในเมื่อประเทศไทยดึงทรัพยากรธรรมชาติจากกลุ่มคนเหล่านี้มามากการให้การรักษาพยาบาลฟรี จึงอาจเป็นการตอบแทนอย่างหนึ่ง กองทุนมนุษยธรรมจึงเป็นทางเลือกที่ดี

ส่วนในระยะยาว ได้เตรียมเข้าไปช่วยพัฒนาระบบประกันสุขภาพ เช่น ในกัมพูชา ซึ่งอาจเริ่มได้ทันทีเพราะงบด้านสาธารณสุขของกัมพูชานั้น เริ่มที่ 1,200 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งใกล้เคียงกับตอนที่ไทยเริ่มมีระบบประกันสุขภาพครั้งแรก แต่ในพม่าอาจมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะชนกลุ่มน้อยไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลแต่ก็ยืนยันว่าจะเร่งเจรจาทวิภาคีเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขในเขตชายแดน และช่วยให้โรงพยาบาลตลอดแนวชายแดนไม่ต้องเกิดภาวะเตี้ยอุ้มค่อมต่อไป

เป็นปัญหาท้าทายที่ยังรอการผลักดันโดยเร่งด่วนจากรัฐบาล เพราะหากวันนี้ยังหยุดนิ่งอยู่กับที่ ถึงเวลาเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เมื่อไรสธ.จะลำบาก เพราะต้องแบกรับคน ค่าใช้จ่าย และโรคติดต่อที่ข้ามพรมแดนมาอย่างง่ายดายมากขึ้นแน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 กรกฎาคม 2556