ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กำลังร้อนแรงสำหรับ เรื่องที่สมาคมการค้ายาสูบไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นตัวแทน ผู้ค้าปลีกกว่า 1,400 แห่ง ทั่วประเทศ ออกมาประกาศ เตรียมฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณายกเลิกประกาศ กระทรวงสาธารณสุขบังคับเพิ่มขนาดภาพคำเตือนสุขภาพบนพื้นที่ซองบุหรี่จาก 55% เป็น 85% และจะมีผลบังคับใช้บุหรี่ทุกซองที่จำหน่ายในประเทศตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.นี้ พร้อมกับขอให้มีการคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์งดสูบบุหรี่ต้องออกมาปกป้องมาตรการนี้กันจำนวนมาก

แน่นอนว่าย่อมมีชื่อของนพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่รวมอยู่ด้วย เพราะ นพ.ประกิต ถือเป็นหลักในการเคลื่อนไหวเรื่องภัยของบุหรี่และเริ่มเป็นเลขาธิการมูลนิธิตั้งแต่ปี 2529 หรือกว่า 27 ปีที่แล้ว และยังเคยเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งความทุ่มเทของคุณหมอทำให้ได้รับรางวัลมหิดล-บีบราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทยประจำปี 2544 ในฐานะผู้ได้อุทิศตนปฏิบัติงานเพื่อเป้าหมายการมีสุขภาพดีของประชาชนโดยรวมมาแล้ว

แม้จะมีมาตรการรณรงค์ออกมาหลากหลาย ตัวเลขผู้สูบบุหรี่ในไทยก็ยังสูงถึง 12 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 1 ล้านคนอยู่ในกรุงเทพมหานคร ขณะที่ 10% เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยปัจจัยที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ยังคงมี จำนวนมากมาจากมาตรการส่งเสริมการขายของบริษัทบุหรี่ ซึ่งนับวันวิธีการ ขายก็ยิ่งหนักหน่วงมากขึ้น

ผ่านมาเกือบ 30 ปี คุณหมอยืนยันว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมยาสูบ ได้แก่ 1.การขึ้นภาษี 2.การห้ามโฆษณา 3.การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และ 4.การพิมพ์คำเตือนบนซองบุหรี่ โดยให้ทุกมาตรการเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน

"การขึ้นภาษีจะทำให้ราคาแพงขึ้น วัยรุ่นสูบน้อยลง ขณะที่การห้าม โฆษณาก็จะทำให้สิ่งกระตุ้นผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่น้อยลงเช่นกัน ขณะที่มาตรการ ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะนั้น จะสามารถคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ รวมถึง ทำให้ค่านิยมการไม่สูบบุหรี่แพร่หลายขึ้น และการพิมพ์คำเตือนบนซอง บุหรี่นั้น ถือเป็นมาตรการที่คุ้มค่าที่สุด เพราะไม่ต้องใช้การบังคับทางกฎหมาย รวมถึงสามารถสื่อสารถึงผู้สูบบุหรี่ทุกคนได้ตลอดเวลา"นพ.ประกิต เล่าให้ฟัง

ทั้งนี้ งานวิจัยล่าสุดจาก 41 ประเทศ ที่ทำโดย David T. Levy.และคณะ ระบุว่า การใช้มาตรการควบคุมยาสูบหลายมาตรการร่วมกัน ทำให้จำนวนคนสูบบุหรี่ลดลงกว่า 14.8 ล้านคน และยังทำให้คนรอดพ้นจากการเสียชีวิตจากบุหรี่มากถึง 7.4 ล้านคน โดยในงานวิจัยระบุว่า เฉพาะการ เพิ่มขนาดภาพคำเตือนนั้น ทำให้ลดผู้สูบบุหรี่ได้มากกว่า 7 แสนคน

ขณะนี้ คุณหมอประกิตและกรมควบคุมโรคกำลังผลักดัน พ.ร.บ. ควบคุมบริโภคยาสูบฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างปรับแก้ก่อนเสนอกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) แต่ดูทิศทางแล้ว สงครามกับ สมาคมการค้ายาสูบไทยอาจยังต้องสู้กันอีกหลายยก

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 กรกฎาคม 2556