ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมัยก่อนเราจะได้ยินว่าหากกินเหล้ามากๆ จะเป็นตับแข็ง แล้วยังเชื่อว่าเป็นตับแข็งแล้วจะเป็นมะเร็งตับ หรือบางคนกลับเข้าใจไปว่าเป็นโรคเดียวกันด้วยซ้ำไป ปัจจุบันคนไทยอาจดื่มเหล้าลดลง ทำให้คนที่เป็นโรคตับแข็งจากการดื่มเหล้าก็พบได้น้อยลงไปด้วย แต่ถ้ารับประทานอาหารหมักดอง กินยาดองเกือบทุกวัน จนกระทั่งมีตับแข็งระยะเริ่มต้น และตรวจพบก้อนเนื้อที่อาจเป็นมะเร็งตับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้เราไม่ได้กินเหล้า แต่หากกินอาหารที่มีส่วนผสมของเหล้า หรือแอลกอฮอล์ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ตับทำงานหนักทุกวันจนเป็นตับแข็งและมะเร็งได้ โรคมะเร็งตับเป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ของตับกลายเป็นมะเร็งมีการแบ่งตัวของเซลล์ และแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ การดื่มสุรา การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ

แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การที่เราเป็นโรคตับอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่นชนิด B และชนิด C (B พบได้บ่อยกว่า) ส่วนมากมักได้รับเชื้อจากมารดาตั้งแต่ที่เราคลอด อาจติดจากสามี-ภรรยา หรือแฟนเรานั่นเอง ในสมัยก่อนที่การบริจาคเลือดไมได้มีการตรวจสอบเชื้อได้ดีอย่างในปัจจุบัน ทำให้มีเลือดของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ติดต่อกันจากการให้เลือดได้ แต่ในปัจจุบันสามารถคัดกรองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ดังนั้นเราอาจจะพอสังเกตได้ว่า ไวรัสตับอักเสบ B, C สามารถติดต่อได้เหมือนโรคเอดส์นั่นเอง แต่ที่สำคัญคือ มันติดต่อได้ง่ายกว่า คือเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับเชื้อแล้วจะเป็นโรคจะมีสูงกว่า ทีนี้เมื่อเราได้รับเชื้อเข้าไปในเลือดแล้ว เชื้อไวรัสจะไปรวมตัวที่ตับทำให้ตับอักเสบ ส่วนจะมีอาการของโรคตับอักเสบหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน บางคนแทบไม่มีอาการเป็นแล้วหายเอง และมีภูมิต้านทานในตัว แต่บางคนเป็นแล้วเชื้อไม่หายไปจากตัว กลายเป็นชนิดเรื้อรัง หรือเป็นพาหะติดต่อผู้อื่นได้ พอตับอักเสบนานๆ เข้า เป็น 10-20 ปี ก็ทำให้เซลตับเป็นพังผืด เหี่ยวลง จนอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งบางเซลในล้านๆ เซล อาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้ แต่ก็มีเหมือนกับประเภทที่เป็นตับอักเสบ แต่ไม่มีตับแข็ง แล้วกลายเป็นมะเร็งตับได้เช่นกัน

เกี่ยวกับโรคนี้ โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง จังหวัดลำปาง พร้อมทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง จึงจัดโครงการรณรงค์ป้องกันโรคมะเร็งตับเชิงรุกขึ้น ซึ่ง น.พ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง กล่าวถึงที่มาของการจัดโครงการฯว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 1 ของประชากรไทย จากสถิติคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณปีละ 58,076 ราย (สถิติสาธารณสุข 2553) และแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งพบเพิ่มมากขึ้นทุกปีเนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น มีสารก่อมะเร็งมากขึ้นในสิ่งแวดล้อม และมีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการรับประทานอาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น การรักษาขึ้นกับชนิดของมะเร็งตับ ขึ้นกับระยะของโรคว่าเป็นมากหรือน้อย โดยทั่วไปการรักษามีดังต่อไปนี้การผ่าตัด จะทำได้ก็ต่อเมื่อมะเร็งอยู่เฉพาะที่ตับ และขนาดไม่ใหญ่มาก ที่สำคัญต้องไม่มีโรคอื่น เช่นตับแข็ง embolizatio คือการฉีดสารบางอย่างให้อุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงมะเร็งตับทำให้มะเร็งขาดเลือด เป็นการรักษาในรายที่ไม่เหมาะต่อการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด มักจะไม่ค่อยได้ผล การฉายรังสีก็มักจะไม่ค่อยได้ผล

ผอ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า โรคมะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย จังหวัดลำปาง ในเพศชายพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ ทั้งๆ ที่เป็นโรคมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ และจากสถิติงานทะเบียนมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง พบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับรายใหม่ที่มารับบริการในปี 2554 อำเภอที่พบผู้ป่วยมะเร็งตับมากเป็นอับดับที่ 1 ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง (293 ราย) อันดับ 2 ได้แก่ อำเภอเกาะคา (90 ราย) และอับดับที่ 3 ได้แก่ อำเภอเถิน (74 ราย) ตามลำดับ ซึ่งสาเหตุสำคัญของมะเร็งตับที่สำคัญเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อมะเร็งตับ เช่น การดื่มสุรา กินอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาดิบที่มีไข่พยาธิ อาหารที่มีเชื้อรา รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งเสริมการเกิดโรคมะเร็งตับได้ ถ้าสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สร้างทัศนคติที่ดีต่อโรคมะเร็งจะส่งผลให้เกิดการตระหนักในการนำความรู้ไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง จึงได้จัดโครงการ "รู้เท่าทัน ป้องกันมะเร็งตับ" ขึ้น โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการประกอบด้วย การบรรยายความรู้เรื่องโรคมะเร็งตับ การจัดนิทรรศการความรู้เรื่องโรคมะเร็งตับ และกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ ในจังหวัดลำปาง โดยทีมวิทยากรจากโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ออกไปให้ความรู้กับประชาชนในกลุ่มเป้าหมายต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 3 สิงหาคม 2556