ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -จาก การเป็นพยาบาลประจำห้องฉุกเฉิน ต้องคอยรับรักษาผู้บาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และภาพความเศร้าเสียใจจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นซ้ำซาก จึงเห็นความจำเป็นของงานเยียวยาด้านจิตใจ ประกอบกับความสนใจงานด้านจิตเวชที่เป็นทุนอยู่เดิม กลายเป็นแรงผลักดันให้ “นางอังคณา วังทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต โรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี” หันมาทำงานเยียวยาฟื้นฟูจิตใจอย่างจริงจัง

"ปกติโรงพยาบาลชุมชนทั่วไปจะไม่เน้นงานจิตเวช ไม่มีพยาบาลจิตเวชและนักจิตวิทยาประจำอยู่ แต่จากเหตุการณ์ไฟใต้ ทำให้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับโรงพยาบาลหนองจิก จึงเลือกเรียนต่อและเป็นพยาบาลจิตเวชที่นี่" นางอังคณา เริ่มต้นเล่าและบอกว่า ทันทีที่มีคนถูกยิง แน่นอนเราต้องเร่งช่วยชีวิต รักษาทางกายเพื่อให้พ้นวิกฤตก่อน จากนั้นจึงเป็นการเยียวยาจิตใจที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งการรักษาทางใจไม่เหมือนทางกายที่ฉีดยากินยาแล้วหาย แต่ต้องใช้ระยะเวลา งานติดตามดูแลผู้ป่วยจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ

นางอังคณา กล่าวว่า แนวทางการเยียวยาจิตใจ ช่วงแรกที่ประสบเหตุการณ์รุนแรง ผู้ป่วยยังรับต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ชอบอยู่คนเดียว มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว และมีภาวะซึมเศร้า ต้องใช้เวลาในการทำใจ เราจึงต้องเข้าใจพร้อมให้กำลังใจ ซึ่งหลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้ว งานยังไม่จบเพียงเท่านั้น ยังต้องตามเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลและประเมินสภาพจิตใจ ซึ่งจากความช่วยเหลือของทุกฝ่าย เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้น ยอมรับความจริงได้มากขึ้น แม้แต่ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะอัมพาต ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ก็ตาม ทั้งนี้ยอมรับว่างานด้านสุขภาพจิตเป็นงานที่ซับซ้อน ใช้ศิลปะ การรักษาทางใจยากกว่าการรักษาทางกาย แต่หากทำสำเร็จจะช่วยให้คนๆ หนึ่งกลับมาใช้ชีวิตที่เป็นสุขได้

"มีรายหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับ บาดเจ็บร้ายแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้เป็นอัมพฤตต้องนอนติดเตียง ใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ทั้งที่อายุไม่มาก เกิดความท้อแท้ในชีวิต ซึมเศร้า บางครั้งหงุดหงิด ฉุนเฉียว หลังจากที่นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลและแพทย์ลงความเห็นว่าให้กลับบ้าน สิ่งที่ช่วยเหลือคือทำให้เขาสามารถอยู่บ้านได้อย่างสบายที่สุด ดังนั้นเราจึงเข้าไปดูที่บ้าน ปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสม อย่างน้อยก็ช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นได้บ้าง ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง” นางอังคณา กล่าว

ในการบำบัดจิตใจนั้น หัวหน้าศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต โรงพยาบาลหนองจิก บอกว่า สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาวะจิตใจดีขึ้น คือการใช้ศาสนาบำบัด ซึ่งทุกคนต่างมีศาสนาที่ต่างยึดถือกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พุทธ คริสต์ และอิสลาม เป็นต้น ช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เป็นชาวมุสลิม เราจึงได้นำคำอ่านคัมภีร์อัลกุรอานอัดเสียงลงในแฮนดี้ไดรฟ์ให้ฟัง ซึ่งล่าสุดแม้ว่าอาการทางกายจะคงที่ รักษาไม่ได้ แต่จิตใจของผู้ป่วยสงบลง และมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแค่บททดสอบจากพระเจ้าว่าเราจะยอมรับได้แค่ไหน

ไม่แต่เฉพาะกับผู้ป่วยที่เป็นผู้บาดเจ็บเท่านั้นที่ต้องได้ รับการเยียวยาด้านจิตใจ ญาติผู้เสียชีวิตและญาติผู้บาดเจ็บเองเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและต้องการ การดูแลพร้อมกำลังใจเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ภรรยา และลูกๆ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เกิดภาวะซึมเศร้า ขาดที่พึ่ง ต้องการความช่วยเหลือ และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นผู้รองรับอารมณ์ผู้ป่วยและผู้พิการจาก เหตุการณ์ความรุนแรง

ด้วยเหตุนี้ การทำงานเชิงรุกเพื่อเยียวยาจิตใจจึงเริ่มต้นเน้นไปที่กลุ่มหญิงหม้ายที่สูญ เสียสามีจากเหตุการณ์ความรุนแรง จึงมีการจัดตั้ง "กลุ่มแกนนำสตรีผู้สูญเสีย" เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน สร้างความเข้มแข็ง เป็นกำลังใจให้กันและกัน ซึ่งในช่วงแรกที่ประสบเหตุการณ์ต่างรู้สึกช็อก เครียดกังวล เพราะส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน ไม่มีรายได้ จึงกังวลต่ออนาคตเพราะขาดผู้นำครอบครัว ทำให้เก็บตัวเงียบ ชอบอยู่คนเดียว โดยเราจะออกไปเยี่ยมบ้านเป็นประจำเพื่อให้รู้ว่า เขาไม่ได้ถูกทิ้งโดดเดี่ยวและพยายามดึงเข้ากลุ่ม

"การรวมกลุ่มผู้ที่ ประสบปัญหาเดียวกันจะทำให้มีเพื่อนพูดคุย ทำให้รับรู้ว่ายังมีคนที่เจอเหตุการณ์เหมือนกัน มีทางระบายออก ซึ่งการที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกันเองจะดีกว่าคุยกับเรา เพราะต่างเข้าใจกัน อีกทั้งด้วยที่เราเป็นข้าราชการอาจทำให้เกิดความรู้สึกเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน" นางอังคณา กล่าว และบอกต่อว่า ต่อมาจึงได้ขยายการดูแลต่อไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาผลพวงจากความรุนแรงเช่นกัน บางคนกลายเป็นเด็กกำพร้าที่ขาดพ่อขาดแม่ เป็นเด็กมีปัญหา ชอบตามเพื่อน และติดยาเสพติด ซึ่งการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนยังเป็นการช่วยลดความเครียดให้กับแม่ด้วย โดยเราจะค่อยๆ เข้าพูดคุยเหมือนเราเป็นเพื่อนเป็นญาติ เพื่อดึงเขากลับมา

หัวหน้าศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต โรงพยาบาลหนองจิก จ.ปัตตานี เล่าต่อว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบที่มีผู้บาดเจ็บเกิดขึ้นรายวัน ทำให้จำนวนผู้ที่ต้องได้รับการดูแลและเยียวยาด้านจิตใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องเข้าใจว่าขณะที่เราดูแลผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยรายเก่ายังต้องดูแลต่อเนื่องละทิ้งไม่ได้ เพราะความเจ็บป่วยทางจิตใจอาจเป็นซ้ำขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ หากมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบจิตใจ ทำให้งานด้านเยียวยาจิตใจนับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอำเภอหนอกจิกมีประชากร 80,000 คน ขณะเดียวกัน ที่โรงพยาบาลหนองจิกมีพยาบาลจิตเวช 1คน และนักจิตวิทยา 2 คน ทำอย่างไรการดูแลคงไม่ทั่วถึง

“ทุกครั้งที่มีเหตุระเบิด มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น มักจะรู้สึกว่ามีผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องได้รับการเยียวยาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นห่วงว่าจะทำงานไม่ทัน ดูแลได้ไม่ดีพอ เพราะเราต้องดูแลทั้งผู้ป่วยรายเก่า ผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้ต้องมีการวางแผนการทำงานที่เป็นระบบ”

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจึง มีการสร้างเครือข่ายด้วยการดึงผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และชาวบ้านเข้าร่วมเพื่อช่วยกันดูแล นอกจากให้เป็นหูเป็นตาแทนเราแล้ว ยังเป็นการทำให้ชุมชนดูแลกันเอง ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือด้วยดี ซึ่งแผนงานต่อจากนี้ คือการพัฒนาเครือข่ายให้มีความรู้ความสามารถในการคัดกรอง สังเกตอาการผู้ป่วย และส่งต่อรักษายังโรงพยาบาล ทั้งนี้จากการสร้างเครือข่ายเพื่อดูแลด้านจิตใจ ทำให้การดูแลผู้ป่วยทั่วถึงมากขึ้น และได้มีการขยายการดูแลไปยังกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มเติม

ในการทำงานที่โรงพยาบาลหนองจิกท่าม กลางเหตุการณ์ความไม่สงบ ซ้ำยังเป็นงานเชิงรุกที่ต้องออกนอกโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ นางอังคณา บอกว่า ส่วนตัวอาจเป็นเพราะอยู่ในพื้นที่จนเกิดความคุ้นชิน และยังคงอยากเดินหน้าทำงานด้านสุขภาพจิตต่อไป เพราะมองว่าเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่างต้องการความช่วยเหลือทางใจนี้ เพียงแต่ในการลงพื้นที่จะเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง