ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ตลอดระยะเวลาการทำงาน 20 ปี ที่แผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาลบันนังสตา จ.ยะลา แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ “นางวิราพร ยัญญางกูร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลบันนังสตา เกิดความท้อถอย แต่ตรงกันข้ามกลับเกิดความมุ่งมั่นในการทำงานวิชาชีพพยาบาลมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บให้รอดพ้นวิกฤตชีวิต พร้อมกันนี้ยังได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จนเกิดประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ

วิราพร เริ่มต้นเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำงานได้เริ่มในปี 2536 หลังจากจบหลักสูตรพยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาลนครศรีธรรมราช ได้บรรจุเป็นพยาบาลประจำหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉินซึ่งตรงกับบุคลิกและเป็นสิ่งที่ชื่นชอบ เพราะที่แผนกฉุกเฉินเป็นงานที่ท้าทาย ต้องใช้ความรวดเร็วในการทำงานเพื่อยื้อชีวิตคนไข้ ทั้งรูปแบบการรักษายังตรงไปตรงมา ไม่สลับซับซ้อนเหมือนงานด้านอายุรกรรมที่ต้องใช้ความละเอียดมากกว่า จึงเลือกเป็นพยาบาลทำงานที่หน่วยนี้

ในช่วงแรกของการทำงานที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เหตุการณ์ความไม่สงบเริ่มเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่รุนแรงมากนัก ยังเป็นเพียงการสร้างกระแสที่มีการทำร้ายข้าราชการ ครู และทหาร ยิงรถสองแถว แต่ผู้บาดเจ็บยังจำนวนไม่มาก และตอนนั้นด้วยความที่ยังเป็นวัยรุ่นจึงยังไม่กลัวเพราะไม่ได้คิดอะไรมาก จนกระทั่งปี 2547 ความรุนแรงในพื้นที่เกิดขึ้นถี่มากขึ้น มีผู้ถูกทำร้าย ถูกยิง ถูกระเบิดมากขึ้น จึงทำให้เริ่มรู้สึกกลัว ซึ่งทางโรงพยาบาลเองยังมีการปรับแผนการทำงานของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ เพื่อความปลอดภัย ทั้งการกำหนดแต่งชุดไปรเวทมาทำงานแทนเครื่องแบบ การจัดรถรับส่งระหว่างโรงพยาบาลและบ้านพัก การจัดเวรยามที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการทำกิจกรรม 5 ส. ที่เป็นการเฝ้าระวังความผิดปกติที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล        


 

เช่นเดียวกันกับแผนกฉุกเฉินที่ได้มีการปรับแผนการทำงานเช่นกันเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มตาม จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมรับเหตุการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งเครื่องมือและบุคลากร มีการจัดเวรผลัดเปลี่ยน ซึ่งบ่อยครั้งที่การระเบิดมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ต้องมีการระดมพยาบาลและเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ โดยในปี 2550 เป็นปีมีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุด บางวันมีมากถึง 10 ราย ต้องมีการระดมพลทั้งหมด ทำให้พวกเราทุกคนต่างต้องเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานเสมอ

"ความพร้อมในการทำงานเป็นหัวใจสำคัญของแผนกฉุกเฉิน เพราะไม่รู้ว่าจะมีการยิงหรือระเบิดเกิดขึ้นตอนไหน แต่เราต้องพร้อมที่จะออกไปช่วยเหลือ เป็นสิ่งที่ย้ำบอกกับน้องพยาบาลเสมอ ท้องจะต้องอิ่มตลอดเวลา รองเท้าที่ใส่ต้องสวมสบาย ไม่ใช่ใส่ส้นสูง นอกจากนี้พยาบาลหน่วยฉุกเฉินไม่ต้องสัญญาว่าจะไปรับลูก ให้คนอื่นทำหน้าที่แทน เพื่อจะได้ไม่เกิดความพะวงเป็นปัญหาต่อการทำงาน”

ไม่แต่เฉพาะการทำงานตั้งรับในโรงพยาบาลเท่านั้น วิราพร เล่าว่า นอกโรงพยาบาลเองเราต้องลงไปจัดเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินเช่นกัน เพราะในช่วงเวลากลางคืนที่ชาวบ้านอาจเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น แต่ไม่สามารถเดินทางมายังโรงพยาบาลได้ เพราะด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ประกอบกับมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ ห้ามออกจากบ้านช่วงเวลากลางคืน ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้ความรู้ทักษะการปฐมพยาบาลกับชาวบ้าน โดยเริ่มที่กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ก่อน เพื่อให้สามารถดูแลตนเองหรือผู้ป่วยเบื้องต้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเลือด การกดหน้าอกปั้มหัวใจเพื่อฟื้นคืนชีพ การให้ออกซิเจนในผู้ป่วยหอบหืด การเช็ดตัวลดไข้เพื่อกันภาวะช็อก เป็นต้น เป็นการประทังอาการให้พ้นวิกฤตเพื่อรอให้เช้าก่อนจึงนำส่งต่อมารักษายังโรงพยาบาลได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญ แม้ว่าในการลงพื้นที่ตามหมู่บ้านในขณะนั้นจะมีความเสี่ยงมากก็ตาม

นอกจากการให้ความรู้ด้านปฐมพยาบาลแล้ว สิ่งที่ได้เน้นย้ำกับชาวบ้านเพิ่มเติม คือต้องให้ความสำคัญในการแจ้งเหตุกับทางโรงพยาบาล เพื่อที่โรงพยาบาลจะได้รับทราบสถานการณ์ล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมด้านการรักษา การจัดเตรียมห้องฉุกเฉินเพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้บาดเจ็บมีเป็นจำนวนมากจะได้ทำการระดมกำลังช่วยเหลือได้ทัน

"เราต้องสอนให้ชาวบ้านรู้จักแจ้งเหตุเป็น ทันทีที่ได้ยินเสียงปืนหรือเสียงระเบิด ต้องแจ้งมาที่โรงพยาบาลก่อน เพราะในกรณีที่ผู้บาดเจ็บมีจำนวนมากจะได้ระดมเจ้าหน้าที่หรือขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลข้างเคียงได้ทัน ซึ่งในช่วงกลางคืนเรามีพยาบาลอยู่เวรเพียงแค่ 3 คน หากผู้บาดเจ็บเข้ามามาก ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่ดูแลได้ไม่ทัน แต่ยังทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสการรักษาที่ดีและรวดเร็ว" พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลบันนังสตา กล่าว

วิราพร เล่าต่อว่า  นอกจากนี้ยังมีการจัดหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินเพื่อออกไปรับผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งนอกจากรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลแล้ว ยังมีรถฉุกเฉินจาก "มูลนิธิฮีลาลอะห์มัร" ที่พร้อมออกช่วยเหลือและลำเลียงนำส่งผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ เพราะเพียงแค่รถพยาบาลฉุกเฉินเฉพาะของโรงพยาบาลคงไม่เพียงพอ จึงได้มองหาหน่วยงานที่จะมาช่วยเสริม และได้เห็นรถของมูลนิธิฮีลาลอะห์มัร มีสัญลักษณ์พระจันทร์เสี้ยววิ่งเข้ามาส่งผู้ป่วยในโรงพยาบาล ได้เข้าไปสอบถามและประสานให้มาช่วยงานโรงพยาบาล ทั้งนี้มูลนิธิฮีลาลอะห์มัรได้เริ่มทำงานร่วมกับโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2548 พร้อมกับสถานการณ์ความไม่สงบที่เริ่มรุนแรงขึ้น และได้ค่อยๆ สอนวิธีการปฐมพยาบาลในรูปแบบต่างๆ จนพัฒนาศักยภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่สิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ คือการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกต้นคอ เขาสามารถเข้าไปดูแล ณ จุดเกิดเหตุได้ดี ถือว่าเยี่ยมมาก ผ่านมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.)  

“มูลนิธิฮีลาลอะห์มัรไม่พูดถึงคงไม่ได้  เพราะเป็นมูลนิธิที่รักและสร้างมาด้วยมือ ได้พัฒนาอาสาสมัครกู้ชีพจากที่เป็นแค่ลูกชาวบ้านทั่วไป จนสามารถเป็นหน่วยปฏิบัติการรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้ ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤต ทั้งยังเป็นหน่วยฉุกเฉินที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเขตเข้าแข่งขันหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินระดับประเทศ  เรียกได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจในการสร้างมูลนิธินี้” วิราพร กล่าว และว่า ทั้งนี้ยอมรับว่าการทำงานของหน่วยกู้ชีพมูลนิธิฮีลาลอะห์มัรช่วยแบ่งเบาภาระงานได้มาก ทั้งการเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ยังมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะเป็นคนในชุมชนด้วยกัน ทำให้รู้ว่าช่วงเวลาไหนเหมาะที่จะเข้าไปนำคนเจ็บออกมาจากเหตุการณ์

วิราพร กล่าวว่า ในงานของหน่วยกู้ชีพฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้บาดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่ายังถูกให้ความสำคัญไม่มาก แม้แต่ในพื้นที่ อ.บันนังสตาเอง ทั้งที่เป็นงานที่จำเป็น จึงต้องช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะด้วยพื้นที่ซึ่งห่างไกล บางครั้งโรงพยาบาลอยู่ห่างจุดเกิดเหตุมาก ทำให้การช่วยเหลือค่อนข้างล่าช้า ทั้งที่หัวใจของการฉุกเฉินคือการออกไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุด

ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น บ่อยครั้งที่มีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นใกล้กับโรงพยาบาลบันนังสตานั้น วิราพร กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีเหตุระเบิด พวกเราซึ่งอยู่หน่วยฉุกเฉินต่างรู้สึกอยากออกไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ จนบางครั้งลืมคิดถึงความปลอดภัยของตัวเอง  สาเหตุที่ทำให้พวกเราสามารถทำงานอยู่ในพื้นที่ได้นั้น นอกจากเราอยู่กันมานานแล้ว เราทุกคนที่นี่ยังค่อยช่วยเหลือกัน มีความเป็นพี่เป็นน้อง ซึ่งในรุ่นนักเรียนพยาบาลของตนที่จบมานั้น มีมาด้วยกัน 7 คน และทั้งหมดก็ยังทำงานที่โรงพยาบาลบันนังสตาแห่งนี้ เรียกว่ามีความผูกพันกัน และคิดว่าหากเราย้ายไปที่อื่นเพื่อนๆ เราจะอยู่ยังไง อีกทั้งหากเราไปทำงานที่อื่นบรรยากาศมิตรภาพและน้ำใจจะเหมือนกับที่นี่หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ทำให้ทุกคนยังคงอยู่ที่นี่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง