ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แรกเริ่มสถานการณ์ไข้เลือดออกมาเงียบๆ ต่อเนื่องตามฤดูกาล แต่นานวันเข้ากลับทำสถิติระบาดหนักที่สุดในรอบ 10 ปี ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อแล้ว 106,148 ราย เสียชีวิต 101 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4 เท่า

ก่อนหน้านี้ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ประเมินแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจะยังเพิ่มไม่หยุด หากไม่มีมาตรการป้องกันเข้มข้นอาจทำให้ตัวเลขผู้ป่วยในปี 2556 สูงถึง 2 แสนราย เกินกว่าค่าเฉลี่ยเดิมถึง 8 เท่า ส่งผลต่อค่ารักษาอาจมากถึง 2,000 ล้านบาท

นี่เป็นเหตุให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องเรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะคลอด “ศูนย์ปฏิบัติการเอาชนะไข้เลือดออก” ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ สู้กับปัญหาเป็นการด่วน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวกับโพสต์ทูเดย์ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่ครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจาก 1.เป็นวงรอบของการระบาด และ 2.การร่วมมือกันกำจัดโรคยังทำได้ไม่ดีพอ นั่นคือไม่มีใครอยู่ตรงศูนย์กลางเพื่อควบคุมป้องกันโรค โดยโรคไข้เลือดออกต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นจากกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงสาธารณสุข แต่ที่ผ่านมา อำเภอ โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งยังไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้มีการกำกับควบคุมนโยบายจากรัฐ จึงตั้งใจทำเฉพาะในพื้นที่ที่ตัวเองสนใจเท่านั้น

"การป้องกันโรคนี้ หากครึ่งหนึ่งทำ แต่อีกครึ่งหนึ่งไม่ทำ จำนวนยุงลายก็แพร่ออกไป เนื่องจากโรคพร้อมจะระบาดตลอดเวลา ทำให้ตัวเลขของผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้น เมื่อตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้น อัตราการเสียชีวิตก็เยอะตามไปด้วย"นพ.สุภัทรกล่าว

นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า ปีนี้ในพื้นที่ระบาดรุนแรงในรอบ 10 ปีเช่นกัน สาเหตุน่าจะมาจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยเพียงไม่กี่คน ทำให้ทั้งประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงโรงพยาบาลเอง ละเลยในการดูแลแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำให้จำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น โดยในพื้นที่ขณะนี้มีผู้ป่วยสูงถึง 170 คน ทั้งที่ปี 2555 มีเพียง 50-60 คน และปี 2554 มีผู้ป่วยหลักสิบคนเท่านั้น

ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศลาว เนื่องจากโรคไข้เลือดออกสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ง่าย นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังมองว่าการกำจัดโรคไข้เลือดออกจะต้องพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายเท่านั้น แต่กลับไม่ได้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ในบ้านเรือนตัวเอง

ขณะที่ นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ว่า เหตุที่มีผู้ป่วยสูงกว่าปกติถึง 4 เท่า เนื่องจาก 1.สถานการณ์การระบาดเริ่มต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวของปี 2555 ที่ผ่านมา และต่อเนื่องมายังหน้าฝนของปีนี้ ซึ่งนับว่าผิดปกติ เนื่องจากปกติจะไม่มีการระบาดในฤดูหนาว และเกิดการระบาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างรุนแรงทุกประเทศ ทำให้หลายจังหวัดในเขตชายแดน เช่น จ.มุกดาหาร เลย นครพนม เชียงราย มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก 2.โรคไข้เลือดออกมักจะแพร่ในผู้ที่ไม่เคยรับเชื้อมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2554-2555 พบการระบาดน้อย ทำให้มีผู้ที่ยังไม่ได้รับเชื้อจำนวนมากมาติดเชื้อในปีนี้ 3.ในปีนี้มีการระบาดของไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2 และสายพันธุ์ที่ 3 จำนวนมาก ซึ่งสายพันธุ์ที่ 2 และ 3 มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ที่ 1 ซึ่งโดยปกติจะระบาดรุนแรงที่สุดทุกปี

นพ.วิชัย ยังระบุอีกว่า ผู้ที่ติดเชื้อกว่า 90% จะไม่แสดงอาการ ทำให้โรคสามารถแพร่ไปยังผู้อื่นในละแวกได้ หากมียุงในพื้นที่ จึงสังเกตได้ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือช่วงเข้าพรรษานั้นมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมาก แม้ว่ารัฐบาลจะมีมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มี.ค. เพื่อให้ควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยให้บูรณาการทุกกระทรวง อาทิ กระทรวงคมนาคม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ในสถานีขนส่ง หรือกระทรวงศึกษาธิการ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ในโรงเรียนแล้ว แต่ก็ยังระบาดหนักมากขึ้น

ทั้งนี้ ดูแนวโน้มในช่วง 1-2 เดือนหลัง ยังต้องตั้งการ์ดเฝ้าระวังต่อไปเรื่อยๆ ไม่ให้เกิดช่องโหว่ให้ยุงแพร่เชื้อต่อไปอีก ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีผู้ป่วยก็ควรต้องเฝ้าระวังด้วย เนื่องจากเชื้อสามารถแพร่ไปได้ทุกพื้นที่ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณในเรื่องของการกลายพันธุ์ การระบาดยังคงเป็นไปในลักษณะทั่วไป

ที่มา: http://www.posttoday.com