ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้จะมีเสียงคัดค้านจากบรรดาเอ็นจีโอ และเครือข่ายแพทย์ชนบทอยู่บ้าง ด้วยเหตุผลเรื่องการแย่งแพทย์ หรือทำให้ชนบทขาดแคลนแพทย์ในการรักษาคนไทย แต่โครงการ "เมดิคัลฮับ" ก็ยังคงเป็นโครงการที่รัฐบาลดันสุดตัวต่อไป

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์รมว.สาธารณสุข  กล่าวตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งแล้วว่า "เมดิคัลฮับ"ถือเป็นการเสริมสร้างรายได้ด้านสุขภาพครบวงจร ทั้งเรื่องยาสมุนไพรไทยอาหาร สินค้าพื้นเมือง รวมถึงการเป็นศูนย์กลางสุขภาพของประชาคมอาเซียน

กระนั้นเอง การสนับสนุนของรัฐบาลก็ยังถูกจำกัดวงอยู่แค่เชิงนโยบายสำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ให้คล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การตั้งระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการแพทย์ (Medical Mediator) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และโรงพยาบาลเอกชน หากเกิดปัญหาการให้บริการขึ้น

แต่ก็มิใช่ว่าโรงพยาบาลรัฐบาลจะไม่สนใจเข้าร่วมสนามเมดิคัลฮับเลย โดยเฉพาะโรงพยาบาลชายแดนต่างก็มองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรองบประมาณจากรัฐเพียงฝ่ายเดียวเช่นกัน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พาไปดูเมดิคัลฮับ "อาเซียนโมเดล" ครั้งแรกที่โรงพยาบาลสุรินทร์

นพ.ธงชัย ตรีวิบูลย์วณิชย์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ เล่าให้ฟังว่า แนวคิดมาจากเมื่อเห็นนักธุรกิจจากจังหวัดเสียมราฐ กัมพูชา เดินทางเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมียมในกรุงเทพฯ หรือในเวียดนาม ทั้งที่โรงพยาบาลสุรินทร์ก็พร้อมจะให้บริการเช่นกัน ประกอบกับการเปิดประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า

ถือเป็นโอกาสที่จะใช้โรงพยาบาลสุรินทร์รองรับ ด้วยทำเลที่เหมาะสม และความพร้อมของโรงพยาบาล ทำให้มั่นใจว่าที่นี่จะเป็นเมดิคัลฮับได้

"เราแสดงน้ำใจว่าเราพร้อมที่จะให้บริการที่ดีและประทับใจกับทุกคน โดยเฉพาะ 1.มาตรฐานการรักษาและ 2.มาตรฐานการให้บริการ ซึ่งเราได้ตั้งศูนย์บริการผู้ป่วยต่างชาติชัดเจน โดยจะให้บริการได้ทั้งชาวกัมพูชา และชาวต่างชาติ โดยจะพาไปทำบัตรทำธุระ และพาไปตรวจ โดยจะบอกราคาล่วงหน้าทันทีว่าคนไข้จะเสียเท่าไร เราไม่ได้คิดกำไรแบบเอาเปรียบ แต่เราจะดูแลด้วยมิตรไมตรี เมื่อเขาไว้ใจโรงพยาบาล และได้รับบริการที่ดี เขาก็จะเชื่อมั่นว่าคนไทยคนอื่นจะเป็นแบบนี้และต่อยอดไปใช้บริการการท่องเที่ยวส่วนอื่นๆต่อ" นพ.ธงชัย กล่าว

พิมพ์เขียวเมดิคัลฮับของโรงพยาบาลสุรินทร์ ที่นพ.ธงชัย วางไว้ จะเริ่มต้นอำนวยความสะดวกตั้งแต่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ด่านช่องจอม โดยจะมีช่องทางข้ามแดนพิเศษ และอำนวยความสะดวกด้านช่องทางข้ามแดนเพิ่มขึ้น ว่าจะเข้ามารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสุรินทร์ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็สามารถใช้ช่องทางบริการพิเศษ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก ทั้งเรื่องชี้แจงแพ็กเกจการรักษาราคาโดยสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษากัมพูชาและภาษาอังกฤษ เมื่อรักษาเสร็จก็สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวใน จ.สุรินทร์ ครบวงจร

ทั้งนี้ นพ.ธงชัย บอกว่า ค่ารักษาจะต้องแพงกว่าคนไทยพอสมควร เพราะชาวต่างชาติไม่ได้เสียภาษีให้ประเทศไทย โดยอาจจะบวกราว 10-20% แต่มั่นใจว่าถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมียมในกรุงเทพฯ แน่นอน พร้อมกับยกตัวอย่างการตรวจร่างกาย ที่เราจะคิดค่าใช้จ่ายราว 8,000-1.2 หมื่นบาท แต่เมื่อตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมียมจะคิด 1.8-2.4 หมื่นบาทนักธุรกิจกัมพูชาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนหรูๆในกรุงเทพฯ เพราะที่ จ.สุรินทร์ เองก็มีเครื่องมือเพียบพร้อมไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ยืนยันว่า หมออีกคนที่ไม่ได้ตรวจผู้ป่วยนอกตามปกติต้องเข้ามาเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเพิ่มส่วนใครที่ตรวจคนไทยอยู่แล้วก็ทำเฉพาะคนไทย ยกตัวอย่างเช่น ให้โรงพยาบาลชายแดนเปิดคลินิกเฉพาะทางในเวลาราชการ โดยให้แพทย์และพยาบาลได้ค่าตรวจด้วยหลังจากที่เขาทำงานในระบบปกติเรียบร้อยแล้ว

"ถ้าหมอคนนี้ควรตรวจผู้ป่วยนอกอาทิตย์ละ 2 วัน ผ่าตัดอาทิตย์ละ 1 วัน หากทำเต็มที่แล้วว่าได้มาตรฐานดี ก็ควรมีโอกาสเปิดคลินิก ที่ทั้งคนไทยและคนต่างชาติก็เข้ามาตรวจได้ ก็จะทำให้การดำเนินงานราบรื่นขึ้นภักดีกับโรงพยาบาลรัฐ ไม่สมองไหลไปเอกชน"

ขณะที่ นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า เมดิคัลฮับของโรงพยาบาลรัฐยังไม่ได้มองไปไกลถึงการแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชน แต่คงเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากกว่าอย่างไรก็ตามเห็นด้วยว่าโรงพยาบาลสุรินทร์ควรเป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลระหว่างไทยและกัมพูชา โดยสามารถประสานความร่วมมือเพื่อป้องกันโรคติดต่อถ่ายทอดข้อมูล และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแพทย์พยาบาล ของทั้งสองประเทศ

ส่วนการผลิตแพทย์เพิ่มนั้น ยังไม่ต้องกังวลเพราะกระทรวงสาธารณสุขวางแผนผลิตเพิ่มจาก1,000 คน ให้มากขึ้นเป็นอย่างน้อย 2,800-3,000 คนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ได้จัดทำข้อตกลงอาเซียนในเรื่องคุณสมบัติทางวิชาชีพในประชาคมอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของบุคลากรด้านสุขภาพ โดยขณะนี้ได้ลงนามแล้ว 3 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล

ในอนาคตอันใกล้นี้จึงน่าจับตาว่าเมดิคัลฮับ"สุรินทร์โมเดล" จะได้รับการขานรับจากกระทรวงสาธารณสุข และถูกขยายไปยังโรงพยาบาลรัฐอื่นๆต่อไปหรือไม่ 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 2 กันยายน 2556