ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์ข่าวสด - "สมอง" เป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญในการควบคุมการทำงานของร่างกายมนุษย์

จะด้วยปัจจัยด้านอายุหรือการประสบอุบัติเหตุก็ดี มีงานวิจัยพบสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "โรคที่สืบเนื่องจากความผิดปกติทางสมอง" ของคนไทยในปัจจุบันว่า

ไม่ว่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน ความจำเสื่อม หรือสมองอักเสบนั้น

แม้หลายครั้งที่การรักษาด้วยการสแกนสมองด้วยเครื่อง "เอ็มอาร์ไอ" จะช่วยได้

แต่ความแม่นยำในการวินิจฉัย ก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์เป็นหลัก

ดังนั้น หากมีการจำลองลักษณะของสมองคนปกติเพื่อใช้เปรียบเทียบกับลักษณะสมองของผู้ป่วย นอกจากเปรียบเสมือนเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำขึ้น ยังจะนำมาซึ่งการรักษาที่ทันท่วงทีและยังสามารถชะลออาการของโรคได้นับสิบปีอีกด้วย!

ล่าสุด ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมก) แห่งโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ บริษัทฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลงานวิจัย "แผนที่สมองของคนเอเชียจากการสุ่มตัวอย่างแผนที่สมองของประชากรที่มีจำนวนสูงสุด" นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการสาธารณสุขไทย เพื่อนำเสนอในการประชุม "1st ASEAN Advanced Imaging Leaders Conference" เมื่อ 6-8 กันยายนที่ผ่านมา ที่โรงแรมรอยัล ออคิดส์ เชอราตัน

รศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและนายกรังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย หัวหน้าศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า ศูนย์สนับสนุนพันธกิจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลระบุถึงที่มา โครงการ "แผนที่สมองของคนเอเชียจากการสุ่มตัวอย่างแผนที่สมองของประชากรที่มีจำนวนสูงสุด" ว่า

ในอดีตประเทศไทยใช้ "แผนที่สมอง" ของซีกโลกตะวันตก

แต่ด้วยรูปร่างและขนาดของสมองระหว่างคนตะวันตกและคนเอเชียมีลักษณะที่แตกต่างกัน

นอกจากนั้น แผนที่สมองของชาวตะวันตกส่วนใหญ่เป็นของคนหนุ่มสาว ไม่มีของผู้สูงอายุ

จึงทำให้ผลที่ได้เกิดความคลาดเคลื่อนและผิดพลาดได้สูง

ศูนย์ไอแมกจึงได้พัฒนา งานวิจัยแผนที่สมองชิ้นนี้ขึ้น โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 60 ล้านบาท และเปิดดำเนินการมาได้ 3 ปีแล้ว

เป็นการนำกลุ่มตัวอย่างที่แบ่งตามระดับอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป มาตรวจร่างกายและตรวจด้านจิตวิทยา

จากนั้นจึงจัดทำแผนที่สมองซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 10 ชุด

โครงการวิจัยแผนที่สมองคนเอเชียดังกล่าวได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาล รวมถึงเครื่องมือแพทย์จากบริษัทฟิลิปส์ เป้าหมายมุ่งหวังว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการทางสมอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่อาจตรวจพบได้ด้วยการฉายรังสี

โดยสามารถดูรายละเอียดการทำงานของสมองได้ลึกถึงระดับโมเลกุลและน้ำในสมอง นับเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำและรักษาได้ทันท่วงที

รศ.พญ.จิรพรยกตัว อย่างกรณีเด็กออทิสติกที่มักอยู่ไม่สุข เมื่อเข้าเครื่องตรวจเอ็มอาร์ไอแล้วปรากฏว่าสมองก็ปกติดี

แต่พอนำมาเทียบกับแผนที่สมองแล้ว พบว่าสมองมีเส้นใยสมองโยงใยผิดปกติ

ส่วนกรณีของโรคพาร์กินสัน แผนที่สมองจะช่วยทำให้แพทย์วินิจฉัยแยกประเภทของโรคพาร์กินสันชนิดเกิดช้า ออกจากโรคพาร์กินสันชนิดเกิดเร็วเนื่องจากพันธุกรรมได้

ทั้งยังมีประโยชน์ในการรักษาคนไข้ และชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้ตั้งแต่ต้น

นอกจากการจัดทำแผนที่สมองสำหรับ ผู้ป่วย โรคสมองอักเสบ อัลไซเมอร์และ พาร์กินสัน

อีกงานวิจัยหนึ่งซึ่งรศ.พญ.จิรพร ตระหนักถึงความสำคัญและต้องการนำเสนอต่อสาธารณชน คือ "การสร้างแผนที่สมอง นักมวยเด็กฉบับแรกของโลก"

สำหรับความเป็นมาของการสร้างแผนที่สมองสำหรับนักมวยเด็ก รศ.พญ.จิรพรระบุว่า จากสถิติเมื่อปี 2550 มีนักมวยเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีที่ลงทะเบียนไว้กับการกีฬาแห่งประเทศไทยเพียง 929 คน

แบ่งเป็นผู้ชาย 851 คน และผู้หญิงอีก 78 คน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในปัจจุบันตัวเลขน่าจะขยับไปถึง 300,000 คนแล้ว

เด็กเหล่านี้บางคนเริ่มต้นชกมวยด้วยอายุเพียง 2 ขวบ

บางคนถูกชกจนต้องหามลงจากเวที

ซึ่งจะมีผล กระทบทางด้านสมองเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ศูนย์ไอแมกจึงลงพื้นที่ไปทำงานวิจัยในชุมชนต่างๆ และคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างอายุตั้งแต่ 6-15 ปี เป็นเด็กชายจำนวน 100 คน และเด็กผู้หญิงอีก 100 คน โดยมีนักมวยเด็ก 11 คน มาตรวจเช็กร่างกายผ่านเครื่องเอ็มอาร์ไอ และตรวจเช็ก ด้าน จิตวิทยาอย่างละเอียด กระทั่งพบว่า

กลุ่มนักมวยเด็กนั้น แม้จะมีการทำงานของกล้ามเนื้อดีกว่าปกติก็ตาม แต่พบความผิดปกติในสมองหลายประการ

เช่น มีถุงน้ำในสมองโป่งพอง เส้นใยประสาทที่เชื่อมระหว่างสมองกับเซลล์ประสาทเสื่อมและขาดออกจากกัน มีไอคิวต่ำ มีการบาดเจ็บที่ก้านสมองเนื่องจากได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงเหมือนกับโดนรถชนเพราะแรงกระแทก

อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมอง โรคสมองเสื่อม และไตวายอีกด้วย

หากปล่อยทิ้งไว้ นักมวยเด็กเหล่านี้อาจถึงขั้นพิการได้

รศ.พญ.จิรพร แสดงความกังวลว่า หากยังไม่มีการปกป้องคุ้มครองเยาวชนนักมวยเด็กเหล่านี้ ประเทศไทยจะถูกประชาคมโลกมองอย่างไร

ดังนั้น ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นในการค้นหาคำตอบของโรคทางสมอง ซึ่งศูนย์ไอแมกพยายามที่จะช่วยเหลือและรักษาเด็กๆ กลุ่มนี้ ก่อนจะระบุว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือพ่อแม่ผู้ปกครองต้องหันมาให้ความสนใจในการดูแลสมองของเด็ก เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ในอนาคตต่อไป

สุดท้าย รศ.พญ.จิรพรเน้นย้ำถึงจุดประสงค์ของงานวิจัยว่า

ไม่ได้ต้องการหยุดธุรกิจกีฬาชนิดนี้ เพราะเข้าใจถึงความจำเป็นที่เด็กเหล่านี้ต้องหารายได้เข้าสู่ครอบครัว

แต่สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักคือ ความปลอดภัยและสุขภาพของนักมวยเด็ก

นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และผจก.ทั่วไปกลุ่มธุรกิจเพื่อการแพทย์และการดูแลสุขภาพฟิลิปส์ กล่าวว่า

ในปัจจุบันภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยมีความท้าทายร่วมกันในเรื่องจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น

ฟิลิปส์มีความมุ่งมั่นในการนำเสนอนวัตกรรมและบุกเบิกงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน

โดยร่วมมือกับศูนย์ไอแมก ผ่านการสนับสนุนด้านเครื่องตรวจอวัยวะด้วยคลื่นแม่เหล็กกำลังสูง (เอ็มอาร์ไอ) ระบบดิจิตอลความเร็วสูง หรือ "Ingenia MR"

นายวิโรจน์ระบุถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นของนวัตกรรม "Ingenia MR" ว่า ได้รับการพัฒนาจากสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า dStream  และเทคโนโลยี DirectDigital  ซึ่งเปรียบเสมือน "หัวใจ"โดยเป็นการรับคลื่นสัญญาณวิทยุและเปลี่ยนสัญญาณให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอลที่ขดลวดโดยตรงตลอดกระบวนการสแกนเอ็มอาร์ไอ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ได้รับผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพสูงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ฟิลิปส์ยังปรับปรุงอัตราส่วนของสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนให้ดีขึ้นร้อยละ 40 ทำให้ได้ภาพที่คมชัดในเวลาที่สั้นกว่า

ในส่วนของความคุ้มค่าและรองรับการใช้งานในอนาคต "Ingenia MR" ใช้เทคโนโลยี FlexStream  ช่วยให้สามารถสร้างภาพได้โดยใช้ขดลวดรับสัญญาณน้อยลง จึงประหยัดเวลาในการตระเตรียมเครื่อง

และการเปลี่ยนสัญญาณเป็นดิจิตอลที่ขดลวดรับสัญญาณโดยตรงช่วยให้ปรับขยายการใช้งานได้ง่ายด้วย EasyExpand โดยไม่ต้องเปลี่ยน "ฮาร์ดแวร์" เพื่อรองรับระบบใหม่ในอนาคต

นอกจากนั้น ด้วยวัสดุและลักษณะทางกายภาพ "Ingenia MR" ออกแบบโดยคำนึงถึงอายุ ขนาดรูปร่าง และลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันของคนไข้ เช่น อุโมงค์ขนาด 70 ซ.ม. ซึ่งกว้างกว่าเดิมจึงช่วยลดความอึดอัด ซอฟต์แวร์อัจฉริยะซึ่งช่วยลดการสแกนซ้ำ และขดลวดแบบดิจิตอลซึ่งลดน้ำหนักของขดลวดได้มาก ผู้ป่วยจึงไม่ต้องเปลี่ยนท่าหลายครั้งระหว่างการสแกน

เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีการแพทย์ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเราให้ดีขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด  วันที่ 17 กันยายน 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง