ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระแสการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อมุ่งสู่การสร้างนำซ่อมได้รับการตอบรับอย่าง มาก ส่งผลให้คนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องยอมรับว่า เบื้องหลังความสำเร็จนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีบทบาทอย่างมากในการผลักดัน โดยเฉพาะการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ จนเกิดกระแสการตอบรับ และด้วยการโหมกระแสด้วยใช้สื่อต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมานี้ จึงมีการวิพากย์วิจารณ์อย่างมากถึงงบประมาณที่ทุ่มลงไป รวมไปถึงการกำหนดแคมเปนการรณรงค์ที่เน้นการแบ่งเส้นขาวและดำ ดีและเลว ที่เป็นการผลักคนกลุ่มหนึ่งให้กลายเป็นกลุ่มคนไม่ดี โดยเฉพาะในการรณรงค์เรื่องเหล้าและบุหรี่ รวมไปถึงการอนุมัติโครงการที่ถูกมองว่าผู้ที่รับทุนส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มเดิม

HFocus ได้มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ผู้บริหาร สสส. ร่วมกับสื่อต่างๆ ทั้ง ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. นพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. และ ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และการสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. เพื่อเปิดใจถึงแนวทางการดำเนินนโยบายและตอบข้อซักถามถึงเสียงวิจารณ์ข้างต้นนี้ 

เริ่มจากงบประมาณที่ใช้ในการรณรงค์ โดย ทพ.กฤษดา กล่าวว่า การใช้สื่อรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเหล้าและบุหรี่เป็นเพียงแค่มาตรการหนึ่ง ของการดำเนินงานของ สสส. เท่านั้น โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า หากจะทำให้การลดบริโภคเหล้าและบุหรี่ได้ผล สิ่งที่ต้องทำคือ 1.ทำให้ราคาเหล้าและบุหรี่แพงขึ้น 2.ขึ้นภาษีอย่างต่อเนื่อง 3.ทำให้เด็กเข้าถึงได้ยาก และ 4.การรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆซึ่งทั้งหมดต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ที่ผ่านมาแม้ว่า สสส.จะถูกมองว่า ได้ใช้งบประมาณทุ่มลงไปกับการรณรงค์ผ่านสื่ออย่างมาก เป็นประเด็นที่มักถูกโจมตีมาตลอด แต่ในความเป็นจริงแล้ว สสส.กลับใช้เพียงแค่ 7% ของงบประมาณที่ได้รับ หรือเฉลี่ยปีละ 200 ล้านบาทเท่านั้น อาจขยับเพิ่มตามเงินเฟ้อบ้าง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้รับกลับมา และหากเปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างหน่วยงานภาครัฐจะใช้งบมากกว่า สสส. 5-6 เท่า แม้แต่กระทรววสาธารณสุขยังใช้มากกว่า  
นอกจากนี้ในการทำงานของ สสส.เป็นไปในรูปแบบภาคีเครือข่าย แม้แต่การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โดยเรามีสถานีโทรทัศน์ทุกช่องเข้าร่วม มีผู้ผลิตสปอตทีวีที่เข้ามาทำงานด้วยราคาต้นทุนและด้วยงานที่เป็นไปเพื่อสังคม ทำให้ทุกภาคส่วนอยากเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นในการทำแคมเปนเพื่อสื่อสารออกไปแต่ละเรื่อง สสส.จึงใช้ต้นทุนต่ำกว่า

“ยอมรับว่า สสส.เราตกเป็นเป้าว่าใช้เงินมาก คงเป็นเพราะว่าโฆษณาของ สสส.ค่อนข้างโดนใจเสมอ ได้รับการตอบรับ สามารถสร้างกระแส ทำให้สังคมหันมาสนใจได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงกลับใช้เงินไม่มากเลย” ผู้จัดการ สสส. กล่าว และว่า การใช้สื่อในการกระตุ้นเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเรายังมีการทำงานด้านวิชาการ การผลักดันกฎหมายต่างๆ  

ส่วนการการกำหนดแคมเปนรณรงค์ที่เน้นในเรื่อง ศีลธรรนนั้น ด้าน ดร.วิลาสินี ชี้แจงว่า การสื่อสารด้วยการโฆษณาทางทีวีนั้น อย่างมากใช้เวลาเพียง 30-45 วินาทีเท่านั้น นักสื่อสารจะทราบว่าเวลาแค่นี้เราจะต้องบอกสิ่งที่เราต้องการสื่อในแบบสั้นๆ เท่านั้น ไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้มาก ดังนั้นจึงต้องพยายามบอกในสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ซึ่งต้องยอมรับว่า ทั้งเรื่องค่านิยม วัฒนธรรมไทย และศาสนา เป็นสิ่งที่ผูกอยู่กับคนไทยมานาน เมื่อสื่อสารออกไปจึงทำให้คนจะเข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท อย่างไรก็ตามในการทำสื่อรณรงค์แต่ละครั้ง สสส.เองจะมีกระบวนการสำรวจความเห็นไปยังกลุ่มเป้าหมายเยอะมาก เพื่อให้สิ่งที่สื่อสารออกไปได้ผลมากที่สุด

“การออกโฆษณาของ สสส. ไม่ได้เจตนาที่จะหาคนผิด หรือตีเส้นว่าใครขาว ใครดำ เพียงแต่เราต้องยอมรับว่าคนไทยเองเราก็ผูกพันธ์กับเรื่องวัฒนธรรมและศาสนา จึงสื่อสารได้ง่าย และจากการทำงานแคมเปนงดเหล้าเข้าพรรษาก็เห็นผลชัดเจน ที่มีจำนวนผู้ดื่มลดลง โดยวัดจากตัวเลขยอดการขาย” ดร.วิลาสินี กล่าวและว่า แต่การสื่อสารเราไม่ได้ใช้แค่จุดเบรกวัฒนธรรม ความเชื่อเท่านั้น แต่ยังต้องมีกระบวนการทำงานต่อเนื่อง อย่างตอนนี้เราเริ่มหันมาพูดเรื่องพ่อ ด้วยการดึงค่านิยมสังคมไทยที่ผู้ชายมักนิยมดื่มเหล้าหลังเลิกงาน โดยชี้ให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปตามเพื่อนก็ได้เป็นการเพิ่มเวลาให้กับครอบครัว ซึ่งได้ใช้จังหวะเริ่ม้นช่วงงดเหล้าเข้าพรรษานี้ และเรื่องนี้เราไม่ใช่แค่จัดทำสื่อโฆษณา แต่ออกไปทำงานร่วมกับเครือข่ายกลุ่มผู้ใช้แรงงานในการผลักดัน

ดร.สุปรีดา อธิบายว่า การใช้ศีลธรรมหรือวัฒนธรรมเข้ามาเดินเรื่อง เป็นการใช้ทุนสังคมเดิมที่เรามีอยู่ เป็นรากเหง้าสังคมไทย ทั้งการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา การให้เหล้าเท่ากับแช่ง เราเพียงแต่ชี้ให้เห็น แต่ไม่ได้พูดถึงศาสนาหรือวัฒนธรรมเต็มๆ แต่เมื่อสื่อออกไปทุกคนก็เข้าใจ ซึ่งการรณรงค์ที่ใช้ทุนสังคมแบบนี้ ประเทศอื่นทำไม่ได้ เพราะเขาไม่มีวัฒนธรรมเหมือนไทย 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็น คือจน เครียด กินเหล้า มีคนบางกลุ่มมองว่าการรณรงค์แบบนี้เป็นการดูถูกคนจน ซึ่ง สสส.เองก็รับฟัง แต่เมื่อดูการประเมินผลหลังจากสื่อออกไปนั้น พบว่าสามารถสร้างการรับรู้ได้ถึง 92% ถือว่าสูงมาก ทั้งยังมีความเข้าใจถึงความหมายที่เราต้องการสื่อ 

เช่น เดียวกับ ทพ.กฤษดา กล่าวต่อว่า ทุกแคมเปญหลังดำเนินการแล้วจะมีการประเมินผลทุกครั้ง เรื่องนี้ยอมรับว่าในทุกสังคมย่อมมีความเห็นต่างซึ่งยินดีรับฟัง เรื่องไหนแรงไปก็จะลดลง แต่ทั้งนี้อยากให้ความเป็นธรรมในเชิงภาพรวมกับผลที่เกิดขึ้นด้วย จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ที่ทำมาถูกทางแล้ว โดย สสส.ทำงานบนพื้นฐานวิชาการ

การอนุมัติโครงการเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพเป็นอีกเรื่อง หนึ่ง ที่มักถูกโจมตี เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ส่วนใหญ่เป็นการอนุมัติให้เฉพาะเครือข่ายนั้น ทพ.กฤษดา กล่าวว่า โดยหลักการ สสส.มีระบบพิจารณาโครงการตามลำดับขั้นตอน หากเป็นโครงการเล็กๆ จะมีนักวิชาการที่เป็นอิสระ 2-3 คนในการดู แต่หากเป็นโครงการใหญ่อาจต้องมีนักวิชาการร่วมพิจารณาถึงกว่า 10 คน และหากเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่มากกว่านั้นระดับ 20 ล้าน ต้องมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาที่ตั้งโดยบอร์ด และหากเป็นโครงการที่ใหญ่กว่านั้นไปอีก บอร์ดจะเป็นผู้พิจารณาโดยตรงซึ่งจะมีการกลั่นกรองการใช้งบประมาณในทุกขึ้นตอน

ทั้งนี้ แต่ละปีจะมีประมาณ 2,000 โครงการ ที่ถูกเสนอเข้ามาพิจารณา ที่ผ่านมา สสส.มักถูกกล่าวหาว่าในการอนุมัติโครงการมีแต่คนหน้าเดิมที่รับทุน อยากชี้แจงว่า แต่ละปีมีเรารายใหม่รับทุนโครงการถึง 80% และ 20% เป็นรายเก่า และ 80% เราไม่รู้จักเป็นใครบ้าง ซึ่งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น อาจมีผู้ที่ขอทุนแต่พลาดหวังเสียใจ จึงมีคำพูดมุมมองแบบนั้น เราก็เข้าใจ ไม่ตอบโต้ 

ทพ.กฤษดา กล่าวต่อว่า อีกประเด็นหนึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา สสส. มักถูกมองเป็นหน่วยให้ทุน แต่ข้อเท็จจริง งาน สสส. 90% เป็นการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ จึงต้องรุกออกไปหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงมาร่วมงาน อย่างเช่น การลดอุบัติเหตุ เราเข้าไปทำงานร่วมกับตำรวจ กับผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น โดยเราเป็นผู้รุกเข้าไปเพื่อดำเนินโครงการ 90% งาน สสส.เป็นแบบนี้ ขณะที่การรับพิจารณาโครงการเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ทำให้คนพลาดหวังมาก 

ผู้จัดการ สสส. กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สสส. ได้ดำเนินการสร้างสุขภาพอย่างมีประสิทธิผล แต่หากดูภาพรวมโดยเฉพาะงบประมาณที่ได้รับ สสส.ถือเป็นส่วนน้อย เพียง 1% ของงบป้องกันและส่งเสริมสุขภาพทั้งประเทศ ทั้งในส่วนท้องถิ่นและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการส่งเสริมุขภาพเป็นงานที่เดินมาถูกทิศแล้ว เพราะไม่ว่าวิชาการเล่มไหนต่างสรุปตรงกันว่า การทำในเรื่องป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพมีความคุ้มค่ามากกว่าการตามรักษาพยาบาล ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการรักษาภายหลังหลายเท่าตัว