ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ - ร้อนตั้งแต่ยังไม่รับตำแหน่ง สำหรับเก้าอี้ของนพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุลผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) คนใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้งเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา หลังถูกกล่าวหาจากชมรมแพทย์ชนบทมาตลอดว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากมีความสนิทสนมกับนพ.ประดิษฐสินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข

จากที่เคยเป็นทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ จนได้รับตำแหน่งสูงสุดเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ คุณหมอสมเกียรติบอกว่า ความรู้จากงานวิจัยด้านการแพทย์ สามารถนำไปกำหนดนโยบายด้านสังคม หรือแม้แต่ทิศทางอุตสาหกรรมของประเทศได้ แต่ในแง่หนึ่งก็มีข้อจำกัด เพราะงานวิจัยที่ถูกผลิตขึ้นส่วนใหญ่สร้างกันขึ้นมาเพื่อขอผลงานวิชาการ ไม่ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ต่อให้เกิดประโยชน์รวมถึงหลายครั้งหัวข้อวิจัยก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาจริงๆ ของสังคม ทำให้นำไปใช้วางแผนนโยบายสาธารณะ หรือไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ไม่ได้

ยุทธศาสตร์ในการพัฒนา สวรส. ในวาระ 3 ปีของคุณหมอสมเกียรติมี 4 ข้อ ได้แก่ 1.สนับสนุนการวิจัยที่มีความสำคัญต่อระบบสุขภาพ ตั้งแต่การสร้างและประสานจัดการองค์ความรู้เพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพของประเทศ 2.เสริมสร้างสมรรถนะนักวิจัยด้านสุขภาพ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3.พัฒนาระบบบริหารจัดการวิจัยแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดจนกลไกเชิงยุทธศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยและ 4.บริหารจัดการเพื่อนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพได้อย่างยั่งยืน ส่วนยุทธศาสตร์สำคัญใน 5 ปี ผลงานวิจัยจะถูกพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพมากขึ้น ด้วยเป้าหมายใหญ่คือทำอย่างไรให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น

คุณหมอสมเกียรติ ยอมรับว่า ได้รับมอบหมายงานสำคัญจาก นพ.ประดิษฐ เพื่อนสนิทให้ สวรส.มาช่วยสนับสนุนการปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งยิ่งใหญ่ โดยติดตามระบบเชิงวิชาการตั้งแต่การประเมินตัวชี้วัด การจัดการคน-เงิน-ของ ให้บริการประชาชนได้เต็มที่ ทำลายกำแพงเดิมๆ ที่เคยมีระหว่างนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลชุมชนเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนแทน หรือกล่าวกันง่ายๆ คือ ดูแลกันก่อนที่จะป่วยแต่ไม่ได้หมายความว่า สวรส.จะต้องไปรับใช้การเมืองเพียงแต่ผลิตงานวิจัยตามข้อเท็จจริง ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะเอาไปใช้หรือไม่ก็แล้วแต่

ส่วนบทบาทของ สวรส.ที่เคยเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนกลุ่มแพทย์ชนบทกว่า 20 ปี จะถูกเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น นพ.สมเกียรติ ตอบว่า วันนี้พร้อมที่จะเข้าไปคุยกับทุกฝ่าย แม้กระทั่งแพทย์ชนบทเพราะเชื่อว่าหากมีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้สุขภาพของคนไทยทุกคนดีขึ้น ก็ไม่น่าใช่เรื่องยากในการปรับความเข้าใจกัน เพราะองค์กรตระกูล ส.ไม่ใช่ของใครแต่มีเจ้านายคนเดียวคือประชาชน

อย่างไรก็ตาม นพ.สมเกียรติ ยังคงเห็นแย้งกับกลุ่มแพทย์ชนบท เพราะเขายังเชื่อว่าการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P มีความจำเป็นในระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะในวันที่งบประมาณแผ่นดินถูกใช้จ่ายเพื่อเป็นเงินเดือนบุคลากรมากกว่างบลงทุน และในวันที่แพทย์โรงพยาบาลรัฐบาลยังคงเป็นอาชีพที่ขาดแคลน ซึ่งควรจะได้รับอนุมัติอัตรากำลังเพิ่มจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ซึ่งขณะนี้ ก.พ.ก็ทำหนังสือมาถึงกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า หากต้องการอัตรากำลังเพิ่ม ก็ควรจะมีการเก็บคะแนนวัดผลที่ชัดเจน

ทั้งนี้ P4P จะเป็นคำตอบที่ดีมากกว่าการปล่อยให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราที่สูงมากอย่างในทุกวันนี้และที่สำคัญคือ กรมบัญชีกลางที่เป็นเจ้าของเงินไม่ให้อีกแล้ว แต่ รมว.สาธารณสุข ก็หาทางออกที่ยั่งยืนโดยจัดสรรเม็ดเงินที่ก่อให้เกิดระบบจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานให้อยู่ในเงินค่าเหมาจ่ายรายหัว ก็ไม่รบกวนกรมบัญชีกลางเป็นปีๆ ปัญหา P4P อย่าถามเลยว่าใครได้อะไร เม็ดเงิน 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี ต้องมีคำตอบว่าประชาชน (เจ้าของเงิน)ได้อะไร

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันที่ 18 กันยายน 2556