ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สยามธุรกิจ - นับวันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุขอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีการสื่อสารมีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญ คือเรื่องอาหารการกิน ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมือง หรือชนบทต่างก็แทบจะมีวิถีชีวิตที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะอาหารที่นิยมก็มาจากร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหารตามสั่ง ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่ก็มาจากภาคเกษตร ดังนั้นการเกษตรจึงมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในทุกระดับชั้น

วัตถุดิบ หรือผลผลิตที่มาจากภาคเกษตรนั้นแน่ใจแล้วหรือว่าปลอดภัย ไร้สารตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ หรือพืชผัก ผลไม้ อาจจะมีการปนเปื้อนสิ่งเจือปน และสารแปลกปลอม เช่น สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ปกติใช้เป็นยารักษาหอบหืดในคน แต่มีผู้ลักลอบนำมาใช้ผสมในอาหารสุกรเพื่อเพิ่มเนื้อแดง และลดไขมันในเนื้อ

สารบอแรกซ์ หรือชื่อทางการค้าทั่วไปว่า น้ำประสานทอง ผงกรอบ ผงเนื้อนิ่ม สารข้าวตอก และผงกันบูด มีลักษณะไม่มีกลิ่น เป็นผลึกละเอียด หรือผงสีขาว ละลายน้ำได้ดี ไม่ละลายในแอลกอฮอล์95% มีการนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม และมีคุณสมบัติทำให้เกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับสารประกอบอินทรีย์โพลีไฮตรอกซี เกิดเป็นสารหยุ่นกรอบและเป็นวัตถุกันเสีย จึงมีการลักลอบนำมาผสมลงในอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อหมู ปลาบด ลูกชิ้น และผลไม้ดอง

สารฟอร์มาลิน สารกันรา หรือกรดซาลิซิลิคเป็นสารเคมีตัวหนึ่งที่นำมาใช้เป็นวัตถุกันเสีย กันรา มีการลักลอบใส่ในน้ำผักผลไม้ดอง

สารฟอกขาว หรือสารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์

เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการฟอกสีของอาหาร และยับยั้งการเจริญเติบโตของ ยีสต์ รา แบคทีเรีย มักจะถูกนำมาใช้เพื่อให้อาหารมีสีขาว คุณภาพดี

สุดท้ายคือ ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คือวัตถุมีพิษที่นำมาใช้ เพื่อป้องกัน กำจัดศัตรูพืชซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ได้บางชนิด แต่ต้องทิ้งระยะให้สารหมดความเป็นพิษก่อนการเก็บเกี่ยว เพราะเมื่อสารเข้าสู่ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับเอนไซม์ในร่างกายมีผลให้เกิดการขัดขวางการทำหน้าที่ตามปกติของระบบประสาท ทั้งในคนและสัตว์

อย่างไรก็ตาม สารพิษที่สะสมตกค้างมากับอาหารนั้น ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในรูปแบบต่างๆมากมาย ทั้งผลเสียทางตรงต่อผู้ที่นำไปฉีดพ่นในแปลง เรือกสวน ไร่นา ทำให้ปากเบี้ยว มือหงิกอัมพฤกษ์ อัมพาต เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อีกทั้งภัยต่อผู้บริโภคทำให้เกิดมะเร็ง เซลล์ผิดปกติโรคหัวใจ สารพิษสะสมในเลือด

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 - 27 ก.ย. 2556--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง