ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรุงเทพธุรกิจ - ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แผนการที่จะยุบรวม 3 กองทุนสุขภาพยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติในระยะอันใกล้ "ศาสตราจารย์ แอนน์ มิลลส์" (Anne Mills) นักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร (University of London) และผู้ซึ่งเคยได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2552 และเป็นผู้ที่ติดตามพัฒนาการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยมานาน รวมถึงยังมีผลงานการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ ล่าสุดเธอให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นระบบสุขภาพของประเทศไทยไว้น่าสนใจ

เธอบอกว่า เป็นการตัดสินใจที่ดีมากที่ได้มีการเริ่มนำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ยูซี  : Universal Health coverage : UC) มาปรับใช้ในปี 2544 สิ่งที่ดีที่สุดคือการที่ระบบสามารถทำให้ผู้คนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง การพัฒนาการของยูซีน่าสนใจมาก นักเศรษฐศาสตร์ต่างให้ความสนใจการออกแบบยูซี โดยเฉพาะการใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัว เพราะยิ่งทำให้ประเทศไทยสามารถจ่ายให้กับยูซี

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในยูซีนั้นได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ตนคิดว่ายูซีจะได้รับความกดดันในอนาคต รวมถึงความกดดันที่จะเกิดขึ้นกับโรงพยาบาล ความแออัดของผู้ป่วย และการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ดังนั้น การบริหารงบประมาณยูซีในอนาคตนั้นต้องทำควบคู่ไปกับการทำให้การรักษาพยาบาลยังคงเข้าถึงได้

เธอแนะว่าไทยจะต้องเน้นการสร้างความเข้มแข็งในการบริการระดับปฐมภูมิ ประเทศไทยมีการบริการระดับปฐมภูมิที่อ่อนแอ หากเป็นที่ประเทศอังกฤษ ผู้ป่วยต้องเข้ารับบริการระดับปฐมภูมิก่อนที่จะไปโรงพยาบาล ซึ่งมีไว้สำหรับการรักษาระดับสูง ซึ่งจะไม่ทำให้โรงพยาบาลแน่นหรือบุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือ ผู้ป่วยจำนวนมากที่ป่วยด้วยอาการธรรมดาที่การบริการระดับปฐมภูมิสามารถให้การดูแลได้

ขณะที่ประเทศอังกฤษมีปัญหาคล้ายประเทศไทยในช่วงแรกๆ ของการเริ่มใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการร้องเรียนไปถึงรัฐบาลถึงเรื่องความไม่พอใจในการรักษา บุคลากรด้านการแพทย์มีงานล้นมือ และอื่นๆ ประเทศอังกฤษจึงต้องก่อตั้งองค์กรแยก National Health Service เพื่อบริหารระบบให้เกิดประสิทธิภาพ แต่หากว่าด้วยเหตุผล นี่คือความจริงของชีวิต ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลนั้นมีราคา โดยเฉพาะในยุคเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมาพร้อมกับความต้องการด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นศาสตราจารย์ แอนน์ มิลลส์ ยังขยายความต่อถึงการเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วของประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้นว่าไทยต้องคิดถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและหาแนวทางมาแก้ปัญหา มิฉะนั้น ปัญหาจะก่อเกิดขึ้นในโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องแบกรับผู้สูงอายุจำนวนมาก ในความเป็นจริงแล้ว การที่ผู้คนมีอายุมากขึ้นนั้นมิใช่ว่าพวกเขาจะมีปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้นตามมา แต่พวกเขาอาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้มากกว่า

ดังนั้น การที่พวกเขาเข้าพักที่โรงพยาบาลหนึ่งๆ อาจเป็นเพียงเพราะพวกเขาต้องการใครสักคนมาดูแล มิใช่เพราะปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งมันไม่ใช่แนวคิดที่ดีเลย ที่คุณจะเก็บผู้คนไว้ที่โรงพยาบาลเพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถทำอาหารเองได้ หรือไม่สามารถลุกขึ้นจากเตียงนอน มันเป็นการใช้เตียงในโรงพยาบาลที่สิ้นเปลือง จึงมองว่า เราต้องมีการวางระบบการดูแลผู้สูงอายุตั้งแต่วันนี้ สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการดูแลทางสังคมและระบบการรักษาพยาบาลไปพร้อมๆ กัน เช่น การมีอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน หรือรัฐบาลอาจต้องมีเงินสนับสนุนให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรไม่หวังผลประโยชน์ ในการมาดูแล ผู้สูงอายุ ขณะที่ปัญหาเรื่องงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่เพิ่มขึ้น เธอกลับไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา เพราะแม้ค่าเหมาจ่ายรายหัวจะเพิ่มขึ้น แต่เรายังคงสามารถรักษาระดับค่าใช้จ่ายรวมด้านสุขภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมไว้ได้สม่ำเสมอ ระบบยูซีให้การเข้าถึงการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน นั่นเป็นวิธีการใช้เงินจากรัฐบาลที่คุ้มค่ามาก

อย่างไรก็ตาม เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราอาจต้องมีการปรับงบเหมาจ่ายรายหัวให้จ่ายตามกลุ่มประชากร เพราะผู้สูงอายุต้องการการรักษาพยาบาลมากกว่ากลุ่มคนหนุ่มสาว ประเทศไทยสามารถบริหารค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้ดีอยู่แล้ว สิ่งที่คุณควรกังวลมากกว่า คือ การควบคุมคุณภาพการรักษาในอนาคต ส่วนประเด็นที่รัฐบาลกำลังจะมีการใช้การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน เธอมองว่ามันยากที่จะวัดคุณภาพจากภาระงาน วิธีการนี้อาจมีผลดีในระยะสั้น คุณต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการหาตัวชี้วัดของคุณภาพ

"คุณรู้ไหมว่า พฤติกรรมใดที่ทำให้หมอคนหนึ่งทำเพื่อได้เงิน ถ้ามันคือการไปทำงานในชนบทเพื่อได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม นั่นไม่เป็นไร แต่ถ้ามันคือการที่หมอคนหนึ่งพบผู้ป่วยมากขึ้น ให้ยามากขึ้น นั่นอันตรายมากทีเดียว"

ตนคิดว่า ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างมีคุณภาพ เช่น การสร้างคุณค่าในการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ การสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และนักวิชาการ หรือการมอบรางวัลที่ไม่ใช่ตัวเงินให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณภาพ

สำหรับกรณีที่ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพที่แยกออกเป็นสามกองทุนนั้น ในประเด็นนี้ เธอมีความเห็นว่าในระยะยาว ไทยต้องรวมสามกองทุนสุขภาพเข้าด้วยกัน โดยดึงเรื่องสุขภาพมาอยู่กองทุนเดียว ส่วนกองทุนไหนจะมีสวัสดิการสังคมก็ทำไป แต่เรื่องสุขภาพต้องเป็นกองทุนเดียว มันไม่ใช่เรื่องดีเลยที่ไม่สามารถรวมกองทุนได้ตั้งแต่เริ่มแรก

ทั้งนี้ เข้าใจว่าเป็นเพราะความยากบางประการ ที่ไทยมีระบบสวัสดิการข้าราชการที่มีอิทธิพลมาก แต่ละกองทุนมีการจัดการด้านการเงินที่แตกต่าง งบประมาณส่วนมากถูกส่งเข้าระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบประกันสังคมของไทยมีการจัดการโดยผู้ว่าจ้างงานและกลุ่มผู้ค้า นั่นหมายถึงการมีผลประโยชน์จากการที่มีกองทุนแยก มีหลายประเทศ เช่น บราซิล คอสตาริกา ที่สามารถจัดการกองทุนแตกแยกได้ จึงหวังว่าประเทศไทยจะสามารถรวมกองทุนได้ในท้ายที่สุด แต่นั่นคงต้องใช้เวลา

นอกจากนี้ เธอยังมีความสนใจศึกษาความความสัมพันธ์ระหว่างบริการสุขภาพภาคเอกชนและรัฐบาล พบว่าในหลายประเทศ ทรัพยากรกระจุกตัวอยู่ในภาคเอกชน  ดีที่ประเทศไทยอนุญาตให้ผู้คนได้ใช้บริการทางการแพทย์ภาคเอกชน ทั้งที่ให้ผู้ป่วยจ่ายค่าบริการเองหรือใช้หลักประกันสุขภาพ ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคมสามารถเลือกที่จะลงทะเบียนกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งคิดว่านี่มีเหตุมีผล เพราะนั่นหมายความว่า รัฐบาลสามารถใช้ทรัพยากรของภาคเอกชนได้ ในขณะที่สามารถควบคุมคุณภาพและราคาของการให้บริการ มันสำคัญมากที่จะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างภาครัฐและเอกชน

ถึงกระนั้นก็ตาม ปัญหาการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ของกลุ่มคนคนด้อยโอกาส เธอยอมรับว่าเป็นปัญหาของทุกระบบสุขภาพ ไม่ว่าจะประเทศใดๆ รัฐบาลต้องหาวิธีการให้ทุกคนได้เข้าถึงบริการด้านการแพทย์อย่างเป็นธรรม

ศาสตราจารย์ แอนน์ มิลลส์

ศ.มิลลส์ เป็นผู้นำในการนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการคลังสุขภาพ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่  มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของโลก โดยอาศัย ข้อค้นพบที่ว่า "การลงทุนด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมในสังคม" ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทั่วโลก ในการลงทุนด้านสุขภาพและ การใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อย่าง กว้างขวาง

ผลงานของ ศ.แอนน์ มิลลส์ ก่อให้เกิดการลงทุนด้านสุขภาพมากกว่า 4 เท่าในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สุขภาพของมวลมนุษย์ได้รับการยกระดับให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาที่สำคัญในระดับประเทศและระดับโลก อัตราการเสียชีวิตของเด็กและคนจนในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียลดลงอย่างชัดเจน เป็นประโยชน์แก่สุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์นับพันล้านคนทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การคลังสุขภาพ การวิจัยระบบและนโยบายสุขภาพโดยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และโครงการวิจัยแก่นักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกมากมายจากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการแพร่ขยายการดำเนินการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขไปทั่วโลก

'ประเทศไทยสามารถบริหารค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้ดีอยู่แล้ว สิ่งที่คุณควรกังวลมากกว่า คือ การควบคุมคุณภาพการรักษาในอนาคต' แอนน์ มิลลส์"--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 14 ตุลาคม 2556