ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวคือระดับล่างสุดในสายการบังคับบัญชาของโรงพยาบาล

Hfocus -ลูกจ้างชั่วคราวเปรียบเสมือนฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่คอยขับเคลื่อนงานในระบบสาธารณสุขให้ราบรื่น ไม่สะดุดกับเรื่องเล็กๆ น้อย อย่างการล้างเครื่องมือแพทย์ การทำความสะอาด เข็ญเปลฯ ซึ่งงานเหล่านี้แม้ขาดพวกเขาไปใครๆ ก็คงทำได้ แต่ถามว่าแล้วใครจะทำ! ก็ไม่ใช่เพราะวงการสาธารณสุขขาดแคลนหรอกหรือถึงมีความจำเป็นต้องจ้างงานตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวมานานกว่า 10 ปี แต่ดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพนักงานกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

นายกมล ศรีมั่น ลูกจ้างชั่วคราวในโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส วัยเกือบ 40 ปี เป็นพนักงานเปล ของโรงพยาบาลมานานถึง 17 ปี โดยไม่ย้ายไปทำงานที่อื่นเลยแม้จะได้รับค่าตอบแทนเพียงเดือนละ 8,330 บาท ในการเลี้ยงดูอีก 4 ชีวิตในครอบครัวคือ แม่ กับพี่อีก 2 คน ซึ่งคนหนึ่งพิการด้วยรวมถึงภรรยาที่ยังไม่มีลูกด้วยกัน ซึ่งเงินที่ได้รับในแต่ละเดือนนั้นไม่พอกิน เลยต้องทำงานหลายอย่าง แม้แต่แ

ม่ยังต้องออกไปกรีดยางด้วย แต่ที่ยังคงทำงานในโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าได้ทำงานใกล้บ้าน ใกล้กับครอบครัว แต่แรงจูงใจที่สำคัญที่สุดที่ยังทำงานที่นี่คือ ได้ช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล ตามที่ได้ปฏิญาณตนหน้าพระพักตร์สมเด็จพระราชินีนาถเมื่อครั้งเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครรักษาหมู่บ้านของโครงการสมเด็จพระบรมราชินีนาถ (อรบ.) แล้วว่าจะดูแลเจ้าหน้าที่และผู้ที่เข้ามารักษาตัวที่นี่อย่างดีที่สุด

นายกมล บอกว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้จะต้องพกอาวุธป้องกันตัวระหว่างเดินทางไปทำหน้าที่เข็ญเปลยกเปล กับปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้กับผู้ป่วยที่เข้ามาที่โรงพยาบาลโดยไม่รู้สึกว่าหนักหนาอะไร แต่บางครั้งก็อดน้อยใจไม่ได้ที่ตัวเขาและบรรดาเพื่อนๆ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลสุไหลโก-ลก เกือบ 200 ชีวิต ที่เหมือนเป็นเพียงคนกลุ่มเดียวที่ถูกทอดทิ้ง ถูกละเลยการเอาใจใส่ เพราะแม้แต่ค่าเสี่ยงภัยก็ยังไม่ได้รับจากผู้ปกครองสักบาท แม้จะตากหน้าไปขอจากกระทรวงสาธารณสุขหลายครั้งแล้วก็ตาม ต่างจากอาชีพอื่นๆ ทั้งหมอ ทั้งพยาบาล หรือแม้แต่คนนอกสายวิชาชีพก็ตามทีต่างก็ได้รับกันถ้วนหน้า

“บางครั้งรัฐบาลไม่เห็นอกเห็นใจตรงนี้ เพราะว่าเริ่มเหตุการณ์ ปี 2547 – 2548 จะได้เงินค่าเสี่ยงภัย แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้อีก ทั้งๆ ที่หน่วยงานอื่นจะได้เงินตรงนี้กัน เพราะเขาบอกว่าไม่มีงบ พวกผมดิ้นรน ขึ้นกระทรวงฯ ไปก็หลายครั้ง เพราะเห็นว่ามันไม่มีความเป็นธรรม ภาคใต้ไม่ได้รับความสนใจเท่าไหร่ เงินเดือน 8,330 บาท สวัสดิการก็ไม่มี” นายกมล กล่าว

วันนี้ความหวังเดียวของ นายกมล คือการได้รับบรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.)  เพราะเท่าที่ได้ศึกษารายละเอียดก็เห็นว่าสวัสดิการที่จะได้รับนั้นน่าพอใจทีเดียว ถ้าได้มาก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้เมื่อไหร่ เพราะทางกระทรวงฯ ก็ผัดผ่อนมา 3 -4 ครั้ง เลยไม่มีความเชื่อถือแล้ว อีกทั้งการสอบประเมินผลค่อนข้างจะเคร่งครัดมาก ไม่ช่วยลูกจ้างในพื้นที่ภาคใต้เลย อ้างว่างบประมาณไม่พอ ทั้งๆ ที่งบของโรงพยาบาลเพียงพอ แต่ถูกนำไปใช้อย่างอื่น อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามสถานการณ์ดูว่าต่อจากนี้กระทรวงจะทำได้อย่างที่รับปากเอาไว้หรือไม่ซึ่งหากกระทรวงไม่ทำตามที่รับปากไว้ ซึ่งเราคงเรียกร้องด้วยเอกสาร หลักฐานต่างๆ กันต่อไป

นางวัลภา ศรีพนม ลูกจ้างชั่วคราวทำหน้าที่ล้างเครื่องมือในแผนกผ่าตัดของโรงพยาบาล โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา กล่าวในวัยใกล้เกษียณ ว่าหลังเรียนจบระดับประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อเข้าสู่วัยสาวอายุ 19 ก็ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลนี้มาตลอด จากวันนั้นถึงวันนี้ก็นับได้ 30 ปี พอดี ซึ่งตอนแรกๆ ยังพอมีแรงก็ทำงานที่แผนกหลังคลอด ทำโอทีบ้าง แต่ตอนนี้อายุปาเข้าไปตั้ง 51 ปี แล้ว เลยย้ายตัวเองมาทำงานที่แผนกล้างเครื่องมือในห้องคลอดแทน ซึ่งภาระงานก็หนักไม่ได้แตกต่างกันเลย โอทีที่เคยทำได้ก็ต้องทำน้อยลงแถมยังต้องขอไปทำที่ตึกมะเร็ง กับตึกไฟฟ้ามากกว่า

ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ทำงานมากับผลตอบแทนที่ได้รับเดือนละ 9,171 บาท ที่เพิ่งจะได้รับเพิ่ม กับเงินโอที ที่คิดเฉลี่ยๆ ก็อยู่ที่ประมาณ 4,000 ต่อเดือน อย่างเดือนนี้มีเงินพีพอร์พี (ค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน) เพื่อเข้ามาอีก 442 บาท เมื่อรวมกันแล้ว ถูกหักประกันสังคมไปแล้ว ถูกหักเข้าสหกรณ์ไปแล้ว จะเรียกว่าพอใช้ก็ได้ เพราะอย่างน้อยก็อยู่ได้จนถึงวันที่เงินเดือนสามีที่เป็นทหารออกมาพอดี  ส่วนตัวก็อยากให้เงินเดือนขึ้นจะได้เลิกทำโอทีสักที เพราะร่างกายไม่ไหวจริงๆ งานมันหนักมาก มันเหนื่อยมาก วัลภา ยังบอกว่าที่ยังทำงานอยู่เป็นเพราะเราเป็นคนที่นี่ ครอบครัวอยู่ที่นี่ ความรู้ก็ไม่มี จึงไม่กล้าไปไหน การเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลอย่างน้อย ฝนตกฟ้าร้องก็ยังได้เงิน

“ถ้าพูดถึงเรื่องการบรรจุ (พกส.) เงินก็ได้รับเพิ่มแค่ประมาณ 200 บาท ขณะที่ประกันสังคม ค่าสหกรณ์ก็ยังตามมาเหมือนเดิม เลยมีความรู้สึกว่าบรรจุหรือไม่บรรจุก็ได้ อยู่อย่างนี้ก็ได้ เพราะอย่างสิทธิการรักษาพยาบาลก็ได้รับตามระบบประกันสังคมอยู่แล้ว ที่สำคัญพี่เหลืออีก 9 ปีก็เกษียณแล้ว คงไม่มีประโยชน์ แต่ก็ดีใจที่น้องๆ รุ่นหลังๆ รวมถึงลูกสาวซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวทำงานอยู่ในห้องคลอดเหมือนกันจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้ก็พอได้ชื่นใจบ้าง แต่สำหรับตัวเอง การบรรจุคือการนับหนึ่งใหม่” นางวัลภา กล่าว

ขณะที่ นายมาโนช คงทน ลูกจ้างประจำแผนกเภสัชกรรมของโรงพยาบาลแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วัย 42 ปี บอกว่าตลอดระยะเวลาที่ทำงานที่โรงพยาบาลแม่แจ่ม ไม่มีวันไหนเลยที่เขาไม่มีความสุข ด้วยความที่เป็นคนรักงานด้านการบริการเป็นทุนเดิม สายลม แสงแดด น้ำตก หุบเขา นาขั้นบันได ความทุรกันดาร ความเป็นชนบทของแม่แจ่มคือมนต์เสน่ห์ ที่ทำให้เขาทำหน้าที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวมายาวนานถึง 16 ปี แม้เงินเดือนที่ได้รับ 9,123 บาท บวกกับค่าโอทีอีกประมาณหนึ่งพันนิดๆ จะไม่พอใช้ในแต่ละเดือน แต่ก็อาศัยอาชีพของครอบครัวในการประกองฐานะ และดูแลพ่อ แม่ และน้องที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม

แต่นายมาโนช ก็ยอมรับว่า การทำงานกับคนหมู่มากก็มีท้อแท้บ้าง แต่คิดว่าเราทำงานเพื่อมวลชนเพราะฉะนั้นจะบอกตัวเองอยู่เสมอว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็สว่าง

แม้จะมีความสุขกับงาน จนดูเหมือนว่าชีวิตนี้คงไม่ต้องแสวงหาสิ่งใดอีกแล้ว แต่ด้วยความที่ว่าพ่อของนายมาโนชเป็นโรคหัวใจ ทำให้คิดได้ว่า หากได้รับการบรรจุเป็น พกส. อย่างน้อยๆ พ่อของเขาจะมีสิทธิในการได้รับยาดีๆ เหมือนกับพวกข้าราชการ ซึ่งน่าจะดีกว่าสิทธิบัตรทองที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  แต่ตอนนี้ทางกระทรวงบอกให้รอไปก่อน สิ้นเดือนต.ค.ทุกอย่างน่าจะเสร็จสมบูรณ์ ก็ไม่รู้ว่าจะหลอกกันหรือเปล่า เพราะว่ากระทรวงจะผัดผ่อนมาหลายครั้งแล้ว แต่นายมาโนชก็ยังไม่สิ้นหวัง เพราะเท่าที่ได้ปรับทุกข์กับเพื่อนๆ ก็มีความคิดตรงกันว่าในเมื่อรอกันมานานขนาดนี้ จะรอต่อไปอีกหน่อยคงไม่เป็นไร แต่ถ้าจะให้ไปเรียกร้อง ก่อม็อบอะไรทำนองนั้นคิดว่าคงไม่ทำ เพราะไม่ชอบการปลุกระดม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

กำเนิดลูกจ้างชั่วคราวสธ. พวกเขาเป็นใครในโรงพยาบาล ตอนที่ 1

สำรวจสถานะลูกจ้างชั่วคราวสธ. พวกเขาเป็นใครในโรงพยาบาล ตอนที่ 2

เรื่องที่เกี่ยวข้อง