ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus-แม้การเจราจาเอฟทีเอระหว่างไทย-อียูจะผ่านไปได้เดือนกว่า แต่ความกังวลของภาคประชาชนยังไม่จางหาย เนื่องจากข้อกังขาอีกมากมายต่อข้อตกลงการเจรจาที่ดูจะไม่เปิดเผยอย่างที่ควรเป็น การเจรจารอบที่ 3 จะเริ่มอีกครั้งในเดือนธันวาคมนี้ที่กรุงบรัซเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม แน่นอนว่ารัฐบาลไทยต้องถูกกดดันอย่างหนักอีกครั้งเพื่อให้ยอมรับข้อเรียกร้องจากทางอียู

หนึ่งในข้อตกลงที่รัฐบาลไทยโดนกดดันอย่างหนักเพื่อให้ยอมรับจากฝ่ายอียู คือ ข้อตกลงการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement for Promotion and Protection of Investment) ซึ่ง FTA Watch วิเคราะห์ว่า ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีการส่งเสริมเรื่องการลงทุนอยู่แล้ว ประเด็นที่หน้าจับตามองคือการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งมีกฎที่ชัดเจนคล้ายข้อตกลงใน TPP ที่ทางอเมริกาเรียกร้องประเทศคู่เจรจา การคุ้มครองการลงทุนจะขยายนิยามการลงทุนให้กว้างขึ้น จนอาจส่งผลกระทบกับนโยบายสาธารณะได้

การขยายนิยามการลงทุนแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ

1.ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นการลงทุน ดังนั้น จึงมีการเสนอข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าขององค์การการค้าโลก ทั้งในเรื่องยาและทรัพยากรชีวภาพ ผลกระทบจากการขยายนิยามข้อนี้ทำให้เกิดการขยายเวลาด้านสิทธิบัตร และให้สิทธิบริษัทต่างชาติในการจดสิทธิบัตรซ้ำในประเทศไทย การคุ้มครองนี้จะทำให้รัฐบาลจะมีความลำบากในการดำเนินมาตรการเพื่อสาธารณะ เช่น รัฐบาลอาจถูกฟ้องได้หากมีการประกาศมาตรการทำยาซีแอล

2.นิยามรวมมิติการลงทุนในอนาคตและการยึดทรัพย์ทางอ้อมจากผู้ลงทุน เช่น หากรัฐบาลไทยมีการออกนโยบายหรือกฎหมายใหม่ที่ส่งผลให้การทำกำไรของบริษัทหนึ่งลดลงในอนาคต แม้นโยบายหรือกฎหมายนั่นผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง บริษัทสามารถฟ้องรัฐบาลได้ กรณีนี้เห็นได้จากการที่ออสเตรเลียได้ทำการออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ ทางบริษัทบุหรี่จึงฟ้องและกล่าวหาว่าเป็นการยึดทรัพย์ทางอ้อม

3.นิยามรวมกรณี pre-establish investment หรือก่อนการเริ่มลงทุน เช่น หากบริษัทต่างชาติจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทย โดยที่มีแผนการลงทุนพร้อมไว้แล้ว แต่หากรัฐบาลไทยออกกฎหมายใหม่ที่ส่งผลต่อการลงทุนในขณะนั้น บริษัทสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ หรือหากรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนกรอบภาษีสินค้ามีโทษ เช่น สุรา หรือมีการกำหนดเขตห้ามขายสุรา เพิ่มมาตรการควบคุมฉลากและโฆษณา ก่อนที่บริษัทผู้นำเข้าสินค้าจะเริ่มการค้าในประเทศไทย (โดยจดทะเบียนไว้แล้ว) บริษัทก็สามารถฟ้องรัฐบาลได้

เครือข่ายประชาชนและด้านการค้าสากลได้จัดในการเวทีสาธารณะที่องค์การค้าโลก ณ กรุงเจนีวา เมื่อปลายเดือนก.ย. ปีที่แล้ว ในหัวข้อ “ข้อตกลงและข้อกำหนดการลงทุน อะไรคือวิธีการที่เหมาะสมในศตวรรษที่ 21”  มีการอภิปรายถึงผลกระทบของข้อตกลงการคุ้มครองการลงทุนอย่างเข้มข้น  มีการยกกรณีของการฟ้องร้องของเอกชนต่อรัฐบาลเปรูภายใต้ข้อตกลง US-Peru FTA บริษัทสัญชาติอเมริกา เรนโค่กรุ๊ป ได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงหลอมเหล็กในประเทศเปรู โรงหลอมเหล็กถือว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก กระทรวงสาธารณสุขของเปรูตรวจพบว่า 99% ของเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีสารตะกั่วอยู่ในเลือด 20% ของเด็กกลุ่มนี้ต้องการการรักษาทางการแพทย์โดยด่วน บริษัทในเครือเรนโค่กรุ๊ปได้ทำการสัญญากับทางรัฐบาลว่าจะมีการฟื้นฟูพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 เรนโค่กรุ๊ปได้แสดงความจำนงต่อรัฐบาลเปรูว่าจะยื่นเรียกร้องค่าเสียหาย 800 ล้านดอลล่าสหรัฐ จากกรณีที่นโยบายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลเปรูขัดผลกำไรในอนาคตของตน

อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่มีการพูดถึงในเวที คือเรื่องข้อพิพาทระหว่างบริษัทเชฟรอนและรัฐบาลเอกวาดอร์ บริษัทเชฟรอนได้เข้าซื้อกิจการจากบริษัทเท็กซาโก้ ซึ่งเข้าขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ในช่วงปี 2507-2533 รัฐบาลเอกวาดอร์กล่าวหาว่าการขุดเจาะได้ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชนเผ่าดั้งเดิมในพื้นที่ และฟ้องเป็นคดีผ่านศาลเอกวาดอร์ ซึ่งตัดสินให้บริษัทจ่ายค่าเสียหาย 18,000 ล้านดอลล่าสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้มีการอ้างถึงความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างสหรัฐและเอกวาดอร์ในการหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา  ความขัดแย้งนี้เป็นผลให้รัฐบาลเอกวาดอร์ยกเลิกการเจรจา FTA กับสหรัฐอเมริกาในปี 2549 ความคืบหน้าล่าสุด บริษัทเชฟรอนได้นำกรณีนี้ไปร้องเรียนต่อศาลสหรัฐว่ารัฐบาลเอกวาดอร์ไม่เป็นธรรมและมีการคอรัปชั่น คดีกำลังอยู่ในระหว่างการสืบพยาน

รัฐบาลในบางประเทศกำลังพัฒนาที่มีการทำสัญญาการค้าเสรีกับประเทศพัฒนาโดยรวมจากการขยายนิยามการลงทุนโดยหลักการไม่เลือกปฏิบัติ หรือ MFN (Most-Favored Nation Treatment)เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมในการนําเข้าใดๆ หรือการให้สิทธิใดๆแก่ประเทศสมาชิกทุกประเทศในอัตราเดียวกัน ข้อตกลงนี้ส่งผลให้รัฐบาลฝ่ายประเทศกำลังพัฒนาเกิดความกังวลในเรื่องการสูญเสียรายได้ รัฐบาลอาจมีการริเริ่มการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีไปอย่างช้าๆ ตัดค่าใช้จ่ายด้านสังคม หรือยัดเยียดภาษีใหม่ให้แก่ประชาชนเพื่อความเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ

เช่นในกรณีศึกษาของประเทศมาลาวีและแซมเบีย (เป็นประเทศเล็กในแอฟริกาที่มีหนี้สาธารณะสูง) ทั้งสองประเทศเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจในกลางค.ศ. 1980s หลังจากตกลงการค้าแบบ preferential scheme (การลดภาษีให้กับสินค้าบางประเภท แต่ไม่ลดถึงศูนย์) กับอียูและอเมริกา แต่สมรรถภาพทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศนั้นไม่ได้พัฒนาขึ้น เพราะมีศักยภาพไม่เพียงพอในการสร้างการเติบโตเศรษฐกิจ  ทำให้ไม่สามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากความสัมพันธ์ด้านการค้าแบบ preferential scheme ได้เท่ากับฝั่งอียูและอเมริกาซึ่งได้ประโยชน์เต็มที่จากความสัมพันธ์การค้านี้  การยึดอยู่กับการส่งออกอย่างเดียวนั้นทำให้คุณภาพของประชาชนถูกละเลยและถดถอย ในขณะที่เอกชนสามารถหาประโยชน์จากการลงทุนได้เต็มที่ ในกรณีของแซมเบียซึ่งขึ้นอยู่กับการส่งออกทองแดงเป็นหลัก โดนซ้ำเติมด้วยการดิ่งราคาของทองแดงในตลาดโลก ธนาคารโลกได้สรุปในขณะนั้นว่า ประเทศทั้งสองมีตัวชี้วัดแสดงให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตด้านสังคมและการศีกษาตกต่ำ อัตราทารกตายเพิ่มสูง อัตราการรู้หนังสือในผู้ใหญ่ถดถอย เด็กวิกฤติด้านการขาดสารอาหาร ความยากจนเพิ่มสูง

ซึ่งเมื่อดูกลไกลของข้อตกลงการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน จะเข้าใจได้ว่าเหตุใดนักลงทุนข้ามชาติจึงเรียกร้องข้อตกลงนี้อย่างมาก หากรัฐบาลไทยรับ มีนักวิชาการหลายฝ่ายวิเคราะห์ไว้ว่า รัฐบาลไทยเองจะติดขัดในการทำนโยบายสาธารณะให้เกิดผล

หากแสดงท่าทีไม่รับข้อตกลงทั้งหมด ทางอียูอาจกดดันโดยการลดผลประโยชน์อื่นๆของประเทศไทย เช่น การยกเลิกการลดภาษีให้สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ กุ้งและอาหารทะเล

ถามว่ารัฐบาลไทยจะไม่รับข้อตกลงนี้ได้หรือไม่?

ตอบว่าได้ ตามรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 190 ใจความสำคัญระบุไว้ชัดเจนว่า ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศใด ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน กรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องเสนอกรอบเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อความเห็นชอบด้วย

เมื่อปี 2553 รัฐบาลในขณะนั้นได้ทำการเสนอกรอบเจรจาแก่สภาไปแล้ว โดยมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า หากรัฐบาลไทยประกาศใช้นโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือความมั่นคงแล้ว ผู้ลงทุนข้ามชาติไม่มีอำนาจในการฟ้องร้อง และนำไปสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่ได้

โดยหลักการแล้ว รัฐบาลต้องทำตามกรอบที่วางไว้ และท่าทีของรัฐบาลไทยก็ดูเหมือนจะไม่รับเกินกรอบ แต่หากรัฐบาลไทยจู่ๆเปลี่ยนท่าที นั่นอาจเป็นเพราะโดนกดดันหนักโดยฝ่ายเอกชนหรือผู้มีอิทธิพลก็เป็นได้