ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มีผู้คนจำนวนมากที่มีทัศนคติต่อความตายว่าเป็นการพลัดพราก เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว แม้เราจะมีความเชื่อต่อชีวิตหลังความตายแตกต่างกัน แต่มนุษย์ย่อมรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงเมื่อต้องเผชิญกับความตาย บางคนอาจมองความตายเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง บ้างพยายามที่จะประวิงเวลาการตายให้นานที่สุดทั้งที่เราทุกคนต่างรับรู้ว่าความตายเป็นสิ่งแท้แน่นอนสิ่งสุดท้ายที่ทุกคนทุกชีวิตต่างต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เดือน ต.ค.ที่ผ่านมามีการจัดประชุมนานาชาติโดยความร่วมมือของสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่อง"The Dawn of Palliative Care in Thailand" องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยาม "Palliative Care" ว่า "วิธีการดูแลที่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิตโดยให้การป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัวด้วยการเข้าไปดูแลปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระยะแรกๆของโรค รวมทั้งทำการประเมินปัญหาสุขภาพทั้งทางด้าน กาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณอย่างละเอียดครบถ้วน"

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือ End of Life Care เมื่อทีมแพทย์ผู้ดูแลพิจารณาแล้วว่าโรคที่คุกคามชีวิตผู้ป่วยขณะนั้นๆ ลุกลามเกินจะควบคุมได้ (Can no Longer be Controlled) ซึ่งการส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมและการรักษาต่างๆ ได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสงหรือการรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามการดูแลผู้ป่วยยังคงต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตในช่วงสุดท้ายกับครอบครัวและคนที่รักอย่างเป็นปกติสุข นั่นหมายความว่าการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายมิใช่เพียงการดูแลร่างกายเพียงอย่างเดียว หากเน้นที่ความสุขสบายทั้งด้านร่างกายจิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ

ถ้าเลือกได้ อยากรู้วันตายของคุณหรือไม่? พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า ในบางครั้งแพทย์ต้องลำบากใจเมื่อญาติผู้ป่วยขอร้องมิให้แพทย์บอกความจริงแก่ผู้ป่วยว่าโรคภัยไข้เจ็บได้ดำเนินมาถึงระยะสุดท้าย อันที่จริงมีการวิจัยสนับสนุนชัดเจนว่าผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงต่างๆมีความเห็นว่า หากได้รับรู้เกี่ยวกับโรคที่เป็นและมีโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็น พูดคุยปรึกษาหารือกับแพทย์อย่างเปิดเผยจริงใจ ตลอดจนตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่ตนต้องการจะช่วยให้ผู้ป่วยคลายความกังวลและสามารถรับมือกับโรคและสถานการณ์การเจ็บป่วยได้ดียิ่งขึ้น

แม้แพทย์จะไม่สามารถระบุระยะเวลาที่ผู้ป่วยยังมีได้อย่างแม่นยำ ก็พอจะทำนายคร่าวๆตามหลักวิชา อย่างน้อยช่วงเวลาที่เหลือก็เพียงพอให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเตรียมตัวและใช้เวลาอย่างมีคุณค่ากับบุคคลที่ผู้ป่วยรัก นั่นหมายความว่าช่วงเวลาดังกล่าวแพทย์ควรเปิดโอกาสให้ครอบครัว เพื่อนฝูงญาติมิตรหรือแม้กระทั่งชุมชน องค์กรที่ผู้ป่วยผูกพันได้มีบทบาทในการร่วมดูแล เยียวยาผู้ป่วยในฐานะหนึ่งในทีมผู้รักษา

ญาติและทีมผู้ดูแลควรมีท่าทีและบทบาทอย่างไร?

ที่กล่าวมาในเบื้องต้น ญาติไม่ควรปิดบังผู้ป่วยเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการพยากรณ์โรคโดยเฉพาะการโกหก หรือให้ความหวังลมๆแล้งๆ กับผู้ป่วย เพราะคิดเป็นห่วงไปว่าผู้ป่วยอาจจะรับไม่ได้หากบอกความจริง จริงอยู่ที่ญาติจะมีความห่วงใยและเป็นกังวลกับการบอกข่าวร้าย แต่หากญาติมีทัศนคติที่เป็นบวก พยายามเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วย ญาติจะยินดีให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสรับรู้และเตรียมตัวมากกว่าที่จะจากไปด้วยความกังวลและหวาดกลัว พร้อมทิ้งภาระมากมายหลายอย่างไว้เบื้องหลังเพราะไม่มีเวลาได้เตรียมการ

เมื่อผู้ป่วยรับรู้สถานการณ์การเจ็บป่วยญาติและทีมผู้รักษา ควรเตรียมพร้อมรับท่าทีของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรับรู้ข่าวร้ายเกี่ยวกับชีวิต ช่วงเวลาดังกล่าวควรเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูด ระบายความรู้สึกทั้งความกลัว ความกังวล ความผิดหวัง สูญเสีย ท่าทีที่สงบรับฟังด้วยความรู้สึกห่วงใยและเห็นใจผู้ป่วย จะช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและทบทวนทางเลือกเพื่อเดินหน้าต่อสู้กับปัจจุบัน

แม้การพูดคุยเกี่ยวกับการพลัดพราก จะเป็นเรื่องที่ทุกคนลำบากใจแต่ด้วยท่าทีที่เหมาะสมการใช้คำพูดที่อ่อนโยนจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถไตร่ตรองและเลือกตัดสินใจในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นแผนการรักษาที่ผู้ป่วยต้องการ การจัดการหน้าที่การงาน ครอบครัวหรือสิ่งต่างๆ ที่ผู้ป่วยยังรู้สึกกังวลและค้างคา ผู้ป่วยและญาติอาจร่วมกันวางแผนเกี่ยวกับการจัดการพิธีศพค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องชำระ การชดใช้หนี้หรือคำสัญญาที่ผู้ป่วยยังติดค้างและอาจต้องการให้ญาติเป็นธุระจัดการให้ รวมไปถึงการทำพินัยกรรม เป็นต้น ผู้ป่วยอาจทำสัญญาตกลงอนุญาตให้ญาติคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่แทนเมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในภาวะรับรู้หรือตัดสินใจได้อีกต่อไป

ถึงแม้ว่าการพูดคุยเรื่องความตายจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผู้ป่วยคงไม่อยากถูกถามหรือพูดเรื่องเดิมๆ เศร้าๆ ซ้ำๆ ย้ำๆ ผู้ป่วยจำนวนมากบอกว่าสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดที่พวกเขาต้องการ คือการได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและบุคคลที่พวกเขารัก แม้ไม่มีคำพูดมากมาย การเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่ก็ทำให้ผู้ป่วยสุขใจ นั่นหมายถึงสมาชิกคนสำคัญที่มีความหมายต่อจิตใจผู้ป่วยอย่างมากเช่น หลานชายตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก หลานสาวเล็กๆ ที่ส่งเสียงเจื้อยแจ้วจ๊ะจ๋าทุกครั้งที่มาเยี่ยม หรือแม้กระทั่งสุนัขตัวโปรดก็อาจทำให้ผู้ป่วยยิ้ม ชื่นใจลืมความทุกข์ใจได้ชั่วขณะ

ให้อภัยในความผิดพลาดในอดีต ขอโทษเขาในสิ่งที่เราได้เคยล่วงเกิน และไม่ลืมขอบคุณความดีของเขาที่ยังประทับตรึงในใจของเราอย่าลังเลที่จะทำวันนี้เมื่อเรายังมีโอกาสจะได้ไม่เสียใจ เสียดายว่าตอนที่เขายังอยู่ไม่ได้มีโอกาสทำดีต่อกัน แม้วันหน้าที่เขาจากไปแล้วคุณไปเคาะฝาโลงขออโหสิกรรมก็ยากจะเดาว่าดวงจิตของเขาจะรับรู้หรือไม่

"ไม่มีความประมาทอะไรที่ร้ายแรงไปกว่าการทิ้งโอกาสที่จะฝึกฝนตนเอง ให้เผชิญความตายอย่างสงบ ในขณะที่ยังมีเวลาและพละกำลังอย่างพร้อมมูล"

ชวนคิดเพื่อชีวิตสุดท้าย

คนจำนวนมากต้องการจากไปอย่างสงบ มีสติ ไม่ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต้องการจะเสียชีวิตที่บ้านในบรรยากาศที่สงบและอบอุ่นท่ามกลางหมู่ญาติมิตรที่คุ้นเคย ได้มีโอกาสสั่งเสีย ร่ำลา ขอขมาลาโทษกัน และไม่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อยื้อชีวิตแต่ละเลยมิติทางจิตใจ ไม่ต้องการนอนอยู่ในห้องไอซียูจนสิ้นลมเพราะบรรยากาศในนั้นโดดเดี่ยว อ้างว้าง อยู่ท่ามกลางเครื่องมือทางการแพทย์และบุคคลที่ไม่คุ้นเคย

รศ.นพ.เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี แพทย์รังสีรักษา โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวถึงประเด็นการใช้เทคโนโลยียื้อชีวิตว่า คงขึ้นอยู่กับเป้าหมายว่าเรายื้อชีวิตไปเพื่ออะไรและเพื่อใคร "การใส่ท่อช่วยหายใจยื้อชีวิตไปอีกหนึ่งวัน เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติคนสำคัญได้เจอกันก็มีประโยชน์และมีความหมายสำหรับผู้ป่วยและญาติคนนั้น แต่การยื้อไปเรื่อยๆโดยไม่มีความหมาย อาจเพิ่มความทรมานกายและใจให้ผู้ป่วยและญาติได้"

การปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ คือ การไม่ขอรับการรักษาที่เป็นไปเพียงยืดการตาย ยื้อชีวิตที่กำลังถดถอยไม่อาจฟื้นดีดังเดิมและปล่อยการตายเป็นไปอย่างธรรมชาติ โดยที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลทางกายอย่างดีที่สุด ความรู้สึกทางใจและความเชื่อได้รับการตอบสนอง

กรณีผู้ที่เป็นห่วงว่าบั้นปลายชีวิตอาจมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่แล้วก็อาจมีความทุกข์ทรมาน โดยหลักของการตายดีที่ให้สิทธิไว้ สมมติบอกว่า "ขอไม่ให้แพทย์มาทำอะไรเรา เช่น เจาะคอ ใช้เครื่องช่วยหายใจอะไรต่างๆ แล้วก็อาจเสียชีวิตอยู่ที่บ้าน หรือที่โรงพยาบาลก็ตามที่มีญาติพี่น้องอยู่รายรอบ ถ้ามีอาการเจ็บปวดทรมาน แพทย์ต้องให้ยาเพื่อบรรเทาอาการลดความทุกข์ทรมาน ไม่ใช่พอแสดงเจตนารมณ์ไม่รักษาในหนังสือแล้ว หมอจะปฏิเสธทุกอย่าง เพียงแต่หมอจะไม่ทำในสิ่งที่ผู้ป่วยได้แสดงเจตนารมณ์ไว้เพื่อยืดความตายซึ่งไม่เป็นประโยชน์"

ที่ปรึกษาประจำศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่ผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าเพื่อวาระสุดท้ายหรือในวาระที่ไม่สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้โดยตรงนับว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาดูแลตัวเองร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

ในยามป่วยเรามักมอบอำนาจการตัดสินใจและสิทธิในการดูแลร่างกายไว้ในมือแพทย์"เราไม่ค่อยปฏิเสธการรักษาของแพทย์ สิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาอะไรก็ได้ ที่เราไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจ เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่มุ่งเน้นเพียงการรักษามนุษย์เฉพาะร่างกาย โดยมองข้ามความสำคัญของจิตใจและความอ่อนไหวของอารมณ์ความรู้สึกของคนไข้เจ้าของเรือนร่าง ซึ่งลำพังความรู้และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าเข้าไม่ถึง เนื่องจากไม่อาจชั่งตวงคำนวณวัดความทรมานได้ ผิดกับปรัชญาความรู้ทางศาสนา ซึ่งพินิจความตายไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือผิดแปลกออกไปจากวิถีชีวิตปกติแต่อย่างใด

แพทย์เรียนการรักษาชีวิต แต่ไม่ได้เรียนวิชาการตายดี ดังนั้นทุกคนต้องร่วมกันเรียนรู้วิชา "ตายดี"

หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ www.nationalhealth.or.th หรือ www.thailivingwill.in.th

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556