ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในภาวะที่คนในประเทศแบ่งสีแบ่งข้าง โดยเฉพาะปลายปี 2556 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้สถานการณ์ค่อนข้างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีเหตุปะทะกัน บาดเจ็บล้มตายไปแล้วหลายราย ใครที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้กลายเป็นคนเลือกข้าง ไม่ข้างผู้ชุมนุม ก็ข้างรัฐบาล อย่างที่ผ่านมาวงการสาธารณสุขก็ถูกมองว่าเลือกข้างไปแล้วอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการไปตั้งจุดบริการโรงพยาบาลสนามนั้นถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ มาให้บริการทางการแพทย์กับกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.เพียงกลุ่มเดียว และตามมาด้วยการถามหาจรรยาบรรณของคนที่ทำงานด้านสาธารณสุข ล่าสุดเกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมรุมประชาทัณฑ์ ดต.คงเพชร เพชรกังหา ผบ.หมู่สังกัดกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) ที่บริเวณหน้าสโมสรทหารบก หลังผู้ชุมนุมพบเห็นว่าพกปืนเข้ามาในที่ชุมนุม ซึ่งก็ได้เจ้าหน้าที่มูลนิธิกู้ชีพ และเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์หิ้วปีกไปส่งโรงพยาบาล

“ช่วงที่เกิดเหตุผมยืนประจำอยู่ที่รถกับคุณหมอท่านหนึ่ง และได้ยินเสียงปืนมาปั้งหนึ่ง ซึ่งยืนยันว่าได้ยินเสียงปืนนัดเดียวจริงๆ แต่ไม่ทราบว่าทำถึงมีผู้บาดเจ็บถูกยิงเข้าที่บริเวณหัวเข่าหลายคน บาดเจ็บที่ขา บาดเจ็บที่ท้องถูกยิงทะลุหลังด้วย ได้ยินเสียงปั้งปุ๊บก็วิทยุไปบอกทีม ซึ่งพวกผมมา 2 ทีม ให้ทีมหนึ่งเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ แล้วผมก็ปีนขึ้นไปยืนบนล้อรถตู้เพื่อจะมองไปอีกฝั่งหนึ่งปรากฏว่าเห็นคนยืนเป็นกลุ่มสี่เหลี่ยมก้มหน้า อาการอย่างนี้เท่าที่เคยเจอมาคือกำลังรุมยำอะไรสักอย่างจริงๆ ก็มั่นใจว่าน่าจับคนร้ายที่ยิงได้แน่ๆ แล้วไม่มีเสียงตอบวอร์ผม ผมก็วิ่งไปที่เกิดเหตุ พอไปถึงก็กระโดดเข้าไปขวางผู้ชุมนุม เพราะเห็นคนที่ถูกทำร้ายร่างกาย ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าเขาเป็นตำรวจ แต่เห็นว่าเขาหลับไปแล้ว คือทำอะไรไปก็ไม่มีผลอะไร ตามหลักการแพทย์เขาไม่รู้สึกตัวแล้ว นอกจากจะทำให้กระดูกแตกหักและอาการหนักกว่าเดิม และตอนนั้นอยู่กับทีมมูลนิธิร่วมกตัญญูเลยบอกให้เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกมาจากตรงนั้น เพราะอยู่ตรงนั้นไม่ปลอดภัย เราจะเจ็บไปด้วย เขาก็บอกโอเคไป ก็ยกกันเลย พอยกปุ๊บก็จัดเต็ม ผมต้องเอาตัวมาบังผู้บาดเจ็บไว้ ทำให้ได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้อแขนขวาช้ำ ขาซ้ายท่อนล่างและหัวเข่า ก็ไปรับแทนเขา” นายโป้ง (ขอสงวนชื่อ นามสกุลจริง) ตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์ เล่าถึงเหตุการณ์ช่วยชีวิต ดต.คงเพชร ซึ่งถูกกลุ่มผู้ชุมนุมรุมประชาทัณฑ์

ตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์ เล่าให้ฟังว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่พวกเขาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ปะทะทางการเมือง และไม่ใช่ครั้งแรกที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บไม่ได้แบ่งว่าเป็นข้างไหน สีไหน หน้าที่คือการช่วยเหลือทุกคนที่ได้รับบาดเจ็บ อย่างคราวที่ดินแดงก็ไปตั้งเป็นเต้นท์พยาบาล กลางจุดปะทะ ใครเจ็บก็รักษาตรงนั้นเลยเพราะมีอาจารย์หมอหลายท่าน และตามหน้าที่ของการเป็นแพทย์ เมื่อเห็นผู้ได้รับบาดเจ็บรักษาแล้วก็ต้องสอบถามให้ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล แต่ผู้บาดเจ็บจะบอกว่าไม่ไปได้ไหม อยากไปชุมนุมต่อ อยากไปแนวหน้าต่อ วันนั้นที่ดินแดงมีผู้หญิงหัวแตกอาจารย์หมอก็เย็บสดตรงนั้นเลย คนเจ็บก็บอกไม่ไปโรงพยาบาล บอกให้นั่งพักก็ไม่พัก ออกไปชุมนุมต่อ นี่คือสิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการ ไม่ใช่ทีมแพทย์ต้องการ ผู้ชุมนุมต้องการแบบไหนเราจัดให้แบบนั้น บางทีก็ห้ามเขาไม่ได้

ทั้งนี้ ตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์ ได้เล่าที่มาที่ไปของการเข้ามาเป็นอาสาสมัครทางการแพทย์ก่อนจะตั้งเป็นเครือข่ายขึ้นมาว่า เริ่มต้นในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปะทะที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ตอนนั้นตนซึ่งเป็นอาสาสมัครกู้ภัยใน กทม. และอยากมาให้การช่วยเหลือในพื้นที่ แต่ทางมูลนิธิกู้ภัยประกาศห้ามไม่ให้ใส่เครื่องแบบเข้าไปในที่เกิดเหตุ เลยตัดสินใจกับเพื่อนใส่ชุดนอกกันมา แล้วมาเจอกับอาจารย์แพทย์หลายท่าน ให้ความช่วยเหลือจัดหาแพทย์มาประจำเต้นท์ร่วมกับกลุ่มของตนที่เวทีราช ต่อมาก็เริ่มมีอาสาสมัครทางการแพทย์เข้ามาร่วมงานกันเรื่อยๆ จึงตั้งเป็นกลุ่มเฟชบุ๊คขึ้นมาโดยใช้ขื่อว่าเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์เพื่อสื่อสารการทำงานกัน ซึ่งที่ผ่านมา นพ.เพชรพงษ์ กำธรกิจการ ผอ.ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ประสานความร่วมมือและส่งทีมแพทย์กู้ชีพมาสนับสนุนต่อตลอด 

นายโป้ง เล่าว่า ระหว่างที่ทำงานเป็นอาสาสมัครกันนั้น ถูกห้ามไม่ใช้เครื่องหมายกาชาด คือกากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว เพราะเขาถือว่าเพราะเกรงว่าจะเป็นการเอาสัญลักษณ์มาฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ตอนนี้ทางเครือข่ายก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเครือข่ายฯ ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด  การช่วยเหลือก็ช่วยทั้งผู้ชุมนุม ช่วยทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมา หลายครั้งที่ตัวเองต้องเจ็บ จะบอกว่าตนฝักใฝ่ฝ่ายใดไม่ได้แล้วอันนี้พูดได้เต็มปาก นี่คือจุดที่เกิดเครือข่าย ซึ่งตอนนี้ทำงานเป็นอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับใคร แม้แต่ศูนย์เอราวัณก็ต้องพึ่งเครือข่ายฯ ถ้าจะเข้าไปในพื้นที่ 1. เราไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด 2. เราไม่ขึ้นตรงกับใคร เป็นลักษณะการทำงานที่เหมือนหลักกาชาดสากล ปัจจุบันมีการแบ่งเครือข่ายไปตั้งเต้นท์ให้บริการใน 7-8 เวที และทุกเวทีจะทีทีมแพทย์อยู่ แต่ในส่วนของมูลนิธิไม่ได้เข้ามาทำงานร่วมกันตนก็ไม่เข้าใจ

“ดังนั้นการทำงานที่ผ่านมาจะบอกว่าผู้ที่เข้าไปให้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่การชุมนุมไม่มีจรรยาบรรณของความเป็นแพทย์ไม่ได้ เพราะผมยืนยัน 100%อาจารย์แพทย์ท่านก็ยืนยัน 100% ว่าเราช่วยทุกฝ่าย ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่เต้นท์อยู่ตรงกลางถ้าตำรวจจะเดินมารักษาเราก็รักษาให้ 2.วันที่ดินแดงเราก็ช่วยตำรวจ ผมเป็นคนช่วยตำรวจจากการโดนยำเหมือนเคสนี้เลย แล้วผมจะโดนยำเอง จนอาจารย์หมอต้องเดินไปบอกว่านี่ไม่ใช่ตำรวจ เราต้องโกหกประชาชน พูดตรงๆ วันนั้นเราโกหก แต่เป็นการโกหกเพื่อรักษาชีวิตเขา อย่างเมื่อวานผมเป็นคนลากตำรวจคนนั้นออกมา ผมต้องแอ่นตัวรับโดนนับไม่ถ้วนว่าโดนไปกี่สิบครั้งเหมือนกัน นั่นคือยืนยันแน่นอนว่าเราไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เราช่วยทุกคน” ตัวแทนเครือข่ายอาสาสมัครทางการแพทย์ กล่าวยืนยันถึงจิตวิญญาณของความเป็นบุคคลสาธารณสุข