ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน - เภสัชกรจุฬาฯเตือนคลินิกรักษาสิวจ่ายยาแก้อักเสบมากเกิน 1 สัปดาห์ ก่อปัญหาดื้อยาไม่รู้ตัว ด้านนักวิชาการนานาประเทศเตรียมหาทางออกเร็วๆ นี้

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานข่าวจากประเทศอังกฤษ ว่า โรงพยาบาลเซ็นทรัลแมนเชสเตอร์พบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง จนทำให้มีคนเสียชีวิตไปแล้วราว 16 คน ซึ่งการดื้อต่อยาปฏิชีวนะ หรือที่มักเรียกว่า ยาแก้อักเสบ ณ ขณะนี้พบได้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เพียงแต่ไม่มีหน่วยงานใดมาตรวจสอบว่าคนไทยมีภาวะดื้อต่อยาปฏิชีวนะมากน้อยแค่ไหน และมีผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้หรือไม่ เนื่องจากส่วนใหญ่จะระบุว่าเสียชีวิตจากภาวะปอดบวม แต่ไม่ได้วิเคราะห์เชิงลึกว่ามาจากเชื้อดื้อยาด้วยหรือไม่ ซึ่งการขาดระบบรองรับเป็นเรื่องน่าวิตก โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้อักเสบต่างๆ ที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย และหาซื้อง่าย ทั้งในร้านขายยาทั่วไป หรือ แม้กระทั่งสถานเสริมความงามต่างๆ ก็พบการจ่ายยาชนิดนี้สูง

"ปัญหาที่พบมาก คือ สถานเสริมความงามชื่อดังต่างๆ ที่รักษาผู้ที่มีปัญหาเรื่องสิว แพทย์มักจ่ายยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะยาอะม็อกซิซิลลิน (Amoxicillin) ซึ่งจัดเป็นยาต้านการอักเสบชนิดหนึ่ง แต่ไม่แน่ชัดว่ายาชนิดนี้จะแก้ปัญหาสิวได้อย่างไร เพราะจริงๆ แล้ว หากจะทำให้ทุเลาก็น่าจะเป็นสิวอักเสบที่เป็นหนอง แต่ที่รับทราบมาเป็นสิวบวมแดงก็มีการจ่ายยาชนิดนี้ด้วย ที่น่ากังวล คือ หากมีการจ่ายยากลุ่มดังกล่าวให้รับประทานเกิน 1 สัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลานานย่อมมีโอกาสเกิดอาการดื้อยาได้ในที่สุด และหากเป็นเช่นนั้น เมื่อเกิดเจ็บป่วยและต้องใช้ยากลุ่มนี้ก็ต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงขึ้น และถ้าไม่มีสุดท้ายก็จะไม่มียารักษา ซ้ำร้ายอาจลุกลามไปถึงขั้นการดื้อต่อยาปฏิชีวนะทุกชนิด ที่เรียกกันว่า ปัญหาเชื้อซุปเปอร์บั๊ก หากถึงขั้นนั้นก็สายเกินไป" ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว และว่า ขณะนี้นักวิชาการด้านเชื้อดื้อยาจากทั่วโลกเตรียมจะประชุมหารือถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อหาทางออกร่วมกันในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2557 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยตนได้รับเชิญเข้าร่วมในครั้งนี้เช่นกัน

ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดควบคุมการใช้ยาในลักษณะนี้ มีเพียงการควบคุมการจ่ายยาของแพทย์ไม่ให้เกินความจำเป็น แต่ในทางกลับกันก็ควรมีหน่วยงานควบคุมการใช้ยาในระดับพื้นที่ด้วย ทั้งร้านขายยา สถานเสริมความงาม รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง เพราะยาปฏิชีวนะมีค่อนข้างจำกัด หากเกิดการดื้อยาทั้งหมดก็จะไม่มียาตัวใดมาทดแทน ขณะที่บริษัทยาข้ามชาติ ไม่มีแผนในการวิจัยและพัฒนายาตัวใหม่ๆ ทำให้ต้องควบคุมการใช้ยาเพียงอย่างเดียว

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 25 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--