ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.อุ้มผาง เดินสาย รพ.ใหญ่ ขอความร่วมมือรับบริจาค “ยาเหลือ” ช่วย รพ.ประหยัดค่ายาแสนบาทต่อเดือน เผยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน และยาลดไขมัน ช่วยลดรายจ่าย รพ. แก้ปัญหา รพ.ขาดทุน พร้อมระบุ รพ.อุ้มผาง ประสบปัญหางบประมาณต่อเนื่อง แม้มีกองทุนคนไร้สถานะหนุน เหตุมีคนไร้สถานะในพื้นที่ถูกขึ้นทะเบียนเพียง 5-6 พันคน รพ.ยังคงรับภาระดูแล 2-3 หมื่นคน

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า พื้นที่ จ.ตาก ถือเป็นพื้นที่พิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มคนไร้สถานะค่อนข้างมาก อาศัยอยู่ตามแนวชาย แม้ว่าจะอยู่ในประเทศไทยมานาน แต่ไม่ได้รับรองสิทธิคนไทย ด้วยเหตุนี้ในการเข้ารักษาพยาบาลจึงไม่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นภาระที่โรงพยาบาลต้องดูแล แต่หลังจากมีกองทุนรักษาพยาบาลคนไร้สถานะ ซึ่งเริ่มเมื่อปี 2553 แม้ว่าจะทำให้มีงบประมาณลงมาส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถดูแลคนกลุ่มนี้ในพื้นที่ได้ทั้งหมด ซึ่งที่โรงพยาบาลอุ้มผางปัจจุบันมีคนไร้สถานะที่ขึ้นทะเบียนสิทธิรักษาพยาบาลกองทุนคนไร้สถานะหรือรอพิสูจน์สัญชาติ 5-6 พันคน แต่ยังมีกลุ่มคนไร้สถานะที่ยังไม่ได้รับสิทธินี้อีก 2-3 หมื่นคน ทำให้โรงพยาบาลอุ้มผางยังคงต้องประสบปัญหางบประมาณไม่เพียงพอต่อเนื่อง

นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานอกจากประหยัดงบประมาณแล้ว ยังต้องใช้วิธีของบประมาณเพิ่มเติมจากทางจังหวัดในการเกลี่ยเงินช่วยเหลือ ซึ่งโรงพยาบาลอุ้มผางมีผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียง 3-4 หมื่นคน ขณะที่ต้องดูแลกลุ่มคนไร้สถานะที่มีจำนวนมากกว่าอยู่ที่ร้อยละ 58 ของจำนวนประชากร อีกทั้งด้วยที่เป็นโรงพยาบาลซึ่งห่างไกลจากเมือง ต้องใช้เวลาเดินทาง 4-5 ชั่วโมง ทำให้ค่าใช้จ่ายและต้นทุนโรงพยาบาลสูงกว่าที่อื่น แต่ละปีงบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับจะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายจริงอยู่ที่ 70 ล้านบาท งบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งในปีนี้ทางโรงพยาบาลเป็นหนี้ติดลบแล้ว 24 ล้านบาท และมีบริษัทยาหลายแห่งที่ไม่ยอมจัดส่งยาให้โรงพยาบาลแล้วต้องขอส่วนกลางช่วยเหลือ

“พื้นที่ จ.ตาก เป็นพื้นที่พิเศษ นอกจากการแบกรับกลุ่มคนไร้สถานะแล้ว ยังมีต้นทุนการรักษาที่สูงกว่าพื้นที่อื่น  อาทิ ค่าถังออกซิเจน ถ้าโรงพยาบาลในเมืองจะอยู่ที่ 110 บาท แต่ที่นี่เราต้องจ่ายถึง 270 บาท เพราะต้องบวกค่าขนส่ง ยังไม่รวมค่าน้ำมันเพื่อใช้ในการปั่นไฟเดือนละ 2 แสนบาท ดังนั้นในการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงพยาบาลจึงต้องพิจารณาถึงปัจจัยและบริบทพื้นที่แตกต่างกันเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่การจัดสรรงบแบบตัดเสื้อโหล แต่ควรคำนึงถึงต้นทุนขั้นต่ำการให้บริการของโรงพยาบาลด้วย เพื่อให้โรงพยาบาลอยู่ได้ ไม่แต่เฉพาะโรงพยาบาลอุ้มผางเท่านั้น แต่รวมถึงโรงพยาบาลในพื้นที่อื่นที่มีปัญหาเดียวกัน ขณะที่งบกองทุนรักษาพยาบาลคนไร้สถานะช่วยแบ่งเบาได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีคนไร้สถานะอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาโรงพยาบาลคงไม่ต้องพูดถึง” นพ.วรวิทย์ กล่าวและว่า สำหรับงบประมาณไตรมาสที่ 3 ในปี 2557 นี้ ขณะนี้ทางโรงพยาบาลยังไม่ได้รับโอน ซึ่งปกติต้องจ่ายลงมาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว ซึ่งไม่ทราบว่าติดปัญหาอะไร

นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนทำงานโรงพยาบาลอุ้มผางมา 23 ปี ยอมรับว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีคุณอเนกอนันต์ทำให้งานรักษาพยาบาลของประเทศร้อยละ 90 ประสบความสำเร็จและคงไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับการมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และส่วนตัวก็ไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่เห็นว่าพื้นที่อีกร้อยละ 10 ของประเทศไม่สามารถใช้การจัดสรรรูปแบบดังกล่าวได้ และปัญหาดังกล่าวอยู่ที่นี่เกือบร้อยละ 50 แล้ว ซึ่งการจัดสรรงบรูปแบบนี้ทำมากว่า 10 ปี และได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถใช้กับทุกพื้นที่ได้ทั้งหมด จึงอยากถามว่าแล้วจะปล่อยให้เป็นแบบนี้อีกต่อไปและไม่คิดจะแก้ปัญหาหรือ ส่วนงบที่กันไว้ช่วยหน่วยบริการที่มีปัญหางบประมาณหรือที่เรียกว่า งบContingency fund หรือ งบ CF ก็ช่วยไม่ได้มาก

นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากการช่วยเหลือจากทางจังหวัดแล้ว โรงพยาบาลต้องดิ้นรนช่วยตัวเองในการประหยัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง รวมไปถึงการเปิดรับบริจาคยาขยะ ซึ่งทางโรงพยาบาลทำมากว่า 10 ปีแล้ว เบื้องต้นเป็นการเปิดถุงขอรับบริจาคยาจากชาวบ้าน ซึ่งในช่วง 2 ปีหลังมานี้ได้ขอความร่วมมือเพิ่มจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในการช่วยเปิดรับบริจาคยาขยะจากประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลที่ช่วยส่งยาขยะให้กับโรงพยาบาลอุ้มผางมากที่สุด คือ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาโรคเรื้อรัง อย่างเช่น ยาเบาหวาน ความดัน ยาลดไขมันในเลือด เป็นต้น และในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ซึ่งตนจะไปบรรยายที่โรงพยาบาลรามาธิบดีก็จะขอให้ช่วยเปิดรับบริจาคยาขยะจากประชาชนให้กับโรงพยาบาลอุ้มผางเช่นกัน

“ยาขยะที่โรงพยาบาลได้รับ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาโรคเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับยามากิน 1-2 เดือน บางคนกินบ้างไม่กินบ้าง บางคนก็ไปหาหมอและรับยาอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ทำให้ยาพวกนี้เหลือทิ้งเพราะผู้ป่วยกินไม่หมด และพอครบกำหนดหมอนัดก็ได้รับยาชุดใหม่มาอีก ผมจึงไปคุยกับทางโรงพยาบาลให้ช่วยเปิดรับบริจาคยาเหล่านี้จากประชาชนเพื่อนำมาคัดแยกโดยเจ้าหน้าที่ หากยาไหนเสื่อมสภาพ หมดอายุก็ทิ้งไป แต่ส่วนใหญ่พบว่าเป็นยาที่ยังใช้ได้ ไม่หมดอายุก็เก็บขึ้นมา อีกทั้งปัจจุบันยาส่วนใหญ่ถูกบรรจุในแผงยาอย่างดี คงสภาพยาได้นาน ไม่เสื่อม แต่ที่ผมเรียกว่าเป็นยาขยะนั้น เพราะทิ้งไว้ก็เป็นขยะในบ้าน ไม่มีประโยชน์เท่านั้น แต่เป็นประโยชน์สำหรับที่นี่” ผอ.รพ.อุ้มผาง กล่าวและว่า จากการรับบริจาคยาขยะนี้ สามารถรวบรวมยาคิดเป็นมูลค่าแสนบาทต่อเดือน สามารถช่วยโรงพยาบาลประหยัดค่ายาได้มาก จากรายงานประเทศไทยสูญเสียปีละกว่าพันล้านบาทจากยาขยะที่ถูกทิ้งเหล่านี้ ซึ่งขอเพียงแค่ 1% ของมูลค่านี้ก็เพียงพอแล้ว    

นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า นอกจากยาขยะที่โรงพยาบาลขอรับบริจาคแล้ว ทางโรงพยาบาลยังขอรับบริจาคผ้าอ้อม ผ้าห่ม และเสื้อผ้า เพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยที่นี่ฐานะยากจน เวลามาหาหมอทางโรงพยาบาลก็จะให้สิ่งของเหล่านี้กลับไป ซึ่งคนที่นี่ไม่เรื่องมาก ไม่ต้องการอะไร ขอเพียงแค่ปัจจัยสี่เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตก็เพียงพอ