ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ในอดีตการทำงานของภาคประชาคมกับภาครัฐ เรามีเป้าหมายเดียวกัน แต่เดินเป็นเส้นขนาน เจอกันคนละครึ่งทาง แล้วเดินไปด้วยกัน สุดท้ายคนในพื้นที่ได้ประโยชน์"

เสียงสะท้อนของ นางมยุเรศ แลวงค์นิล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนลำปาง เอ่ยถึงการทำงานของสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ลำปางในวันนี้ โดยระบุว่า หลังจากที่มีคำสั่งมืดออกมาว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้มีคำสั่งในทางลับ ที่ระบุว่า  ห้าม สสจ.ในทุกพื้นที่ รวมทั้งผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขห้ามเข้าร่วมการประชุมของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ผลเสียที่เกิดขึ้นในวันนี้ยกตัวอย่างได้จากการประชุมภาคประชาคมที่ผ่านมา สสจ. ลำปางได้มีการระงับการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยไม่ได้เหตุผลใดๆ ทั้งๆ ที่ได้มีการเตรียมงานไปก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงต้องมีการประสานงานกันใหม่ เมื่อจัดงาน สสจ.ลำปางก็ไม่มาร่วมงานทั้งที่ สสจ.จังหวัดอื่นเขามาร่วมงานกัน นางมยุเรศ กล่าว

"ถ้ามองในฐานะบริหาร ข้างบนจะมีปัญหาก็ว่ากันไป เราในฐานะส่วนล่างต้องทำงานประสานกันตลอดไป คุณไม่เข้าร่วมการประชุม สปสช.เขตก็ว่ากันไป แต่คุณตัดทุกอย่าง เรามองว่ามันไม่ใช่ เราทำหน้าที่ผู้ประสานงานเครือข่าย เราไม่เคยมีข้อบาดหมางกับ สสจ.เราทำงานด้วยกันอย่างมีความสุขใจ แต่สุดท้าย พอมีสถานการณ์แบบนี้ ในด้านจิตใจเราเคืองสสจ. เกิดความรู้สึกว่า สสจ.ไม่ให้ความสำคัญเรื่องแบบนี้เราคิดว่ามันไม่แฟร์"

ตนเชื่อว่า ศูนย์ประสานงานฯลำปางได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างคิด เหมือนจะเกิดรอยร้าวในจังหวัด ถามว่าทำงานด้วยกันได้ไหม เราสามารถทำงานได้ แต่ไม่สนิทใจ แต่เราจะมองเรื่องของเนื้องานเป็นหลัก เรามองว่าผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม

หากในอนาคตยังเป็นเช่นนี้ตนมั่นใจว่า ภาคประชาชนยังจะทำงานไปได้ สสจ.ทำงานได้ แต่การทำงานจะไม่เกิดการบูรณาการขึ้น จะเป็นการทำงานแบบคู่ขนานเมื่อเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาก่อนมี สปสช.ขึ้นมา หรือไม่ก็ย้อนไปอีก 20 ปีก่อนที่จะมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างคนต่างคิดว่าตนเองแน่ สสจ.ทำงานอะไรภาคประชาชนไม่เคยรู้เรื่อง และถ้าวันนี้ภาคประชาชนไม่เข้มแข็ง เราก็จะขาดโอกาส เค้าก็จะขาดโอกาสในการชี้แจงทำความเข้าใจ

จากการที่มติบอร์ดของ สปสช.ยกเลิก สสจ.เป็น สปสช.จังหวัดนั้น นางมยุเรศ กล่าวว่า การดำเนินที่โปร่งใสควรจะแยกออกจากกันกับผู้รับบริการและผู้ให้บริการ หากกระทรวงสาธารณสุข จะยกเลิกเงื่อนไขต่างๆ แล้วจะมาเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างเอง มันจะเหมือนในยุคที่กระทรวงสาธารณสุขไม่มี สปสช.หรือเปล่า จัดการเอง ไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบเองได้หรือไม่ การทำงานที่รอการสั่งการมาจากข้างบนทุกอย่างจะหยุดหมด

"ทั้งหมดนี้ดิฉันมองว่ามาจากเรื่องของผลประโยชน์และการเมือง จะมาจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ไม่รู้ แต่ในช่วงแรกที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาพูดว่าเรื่องปฏิรูปประเทศไทย ต่อต้านการโกงนั้น เรารู้สึกมีความสุขมาก แต่พอมาพูดเรื่องการยกเลิก สสจ.ไม่ให้เป็น สปสช.จังหวัดแล้วนั้น แสดงว่าที่คุณพูดเป็นการปฏิรูปตัวคุณ ไม่ใช่การปฏิรูประบบสุขภาพ เริ่มไม่เข้าใจว่าปฏิรูปของปลัดนี้คืออะไร ให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปบริหารเองทุกอย่าง ภายใต้การควบคุมของคุณทั้งหมด แล้วจะมี สปสช.เกิดขึ้นทำไม มันก็ไม่มีประโยชน์" นางมยุเรศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นางมยุเรศ กล่าวว่า หากระบบการทำงานจะต้องย้อนกลับไปแบบเดิม กลุ่มภาคประชาชน และภาคี ทั้ง 9 เครือข่าย  ได้แก่ เครือข่ายเด็ก เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง เครือข่ายสตรี เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตร เครือข่ายชุมชนแออัด และเครือข่ายคนพิการ จะรวมตัวออกมาเคลื่อนไหว จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับ สปสช.อยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาเราต่อสู้มาเพื่อให้คนไทยได้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาแล้ว ภาคประชาชนต้องออกมาให้ความรู้ที่แท้จริงกับเครือข่ายและประชาชน

แต่ทั้งนี้ก่อนมีการเคลื่อนไหวเราจะต้องดูข้อมูลให้ชัดเจน ว่ามีความร้ายแรงแค่ไหน การเคลื่อนไหวจะมีการออกแถลงการณ์จากเครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ ส่วนวิธีการเคลื่อนไหวอาจต้องอุบไว้ก่อน

จากผลพวงของการเลือกข้างในระดับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของภาคประชาชนอย่างไรนั้น เป็นที่จับตามองกันต่อไปว่า หลังจากม๊อบการเมืองจบลงแล้วนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะก้าวเข้าสู่ยุคแดนสนธยาเหมือนในอดีตอีกหรือไม่???

เรื่องที่เกี่ยวข้อง