ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สสจ.สุราษฯ” ระบุ การปฏิรูประบบสุขภาพต้องปักธงยึดประโยชน์ชาวบ้านเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เป็นแค่ข้ออ้างแย่งอำนาจบริหารงบ แจงยกเลิกสสจ.ไม่เป็นสปสช.สาขาจังหวัด เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ ทั้งสธ.และสปสช. แนะทั้งคู่ควรจับมือ มองกันด้วยกัลยาณมิตรจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการปฏิรูประบบสาธารณสุข การปฏิรูปต้องดูว่าปฏิรูปเพื่อใคร ซึ่งควรมีเส้นชัยในการปักธงที่เป็นการปฏิรูปเพื่อชาวบ้าน ชาวบ้านจะได้อะไรจากการปฏิรูป ถือเป็นคำตอบสุดท้ายและคำตอบเดียว ทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น ถือเป็นโจทย์ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ซึ่งทั้ง 2 องค์กร ควรจะมาคุยกันว่าใครควรทำอะไรเพื่อธงการปฏิรูปนี้ ดังนั้นรูปแบบการปฏิรูปที่เสนอกันทุกวันนี้ทั้งจาก สธ.และ สปสช. จึงมองว่าไม่ใช่ และเป็นเพียงแค่ข้ออ้างมากกว่า เพราะข้อเสนอเหล่านั้นเป็นไปเพื่อแย่งชิงอำนาจในการบริหารงบประมาณมากกว่า 

นพ.ยงยศ กล่าวว่า ยกตัวอย่างการบริหารจัดการงบประมาณ ทาง สปสช.มองว่าหากใครมาแตะตรงไหนก็จะดูเป็นผู้ร้ายไปหมด ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ และ สปสช.ควรมองเป็นเรื่องบริหารจัดการที่ต่างสามารถสะท้อนภาพการบริหารกันได้ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า สปสช. และ สธ.น่าจะจับมือร่วมกัน เป็นกระจกคอยสะท้อนการทำงานให้กันมากกว่า มองกันด้วยหัวใจที่เป็นกัลยาณมิตรที่มุ่งทำงานเพื่อชาวบ้าน ไม่ต้องคิดเรื่องราวซับซ้อน และโดยปกติการปฏิรูปจะเดินควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจที่สุดท้ายจะต้องนำงบประมาณไปถึงมือชาวบ้านให้ได้มากที่สุด เรียกว่าทำให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการสุขภาพแบบไม่มีตกหล่น ไม่ใช่มาบอกว่าต้องมีการบริหารงบโดยหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้อย่างในขณะนี้ 

“เท่าที่เห็น ผมมองว่า การปฏิรูปเป็นเพียงแค่ข้ออ้าง แค่การเปลี่ยนรูปแบบเพื่อแย่งชิงอำนาจการบริหารงบประมาณมากกว่า ซึ่งหากมีธงชัยเพื่อทำให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น จะไม่มีความขัดแย้งวุ่นวายอย่างที่เป็นอยู่ ดังนั้นเราควรที่จะก้าวผ่านไป ผ่านยุคบ้าๆ แบบนี้ได้แล้ว” สสจ.สุราษฎร์ กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมา สธ.ได้นำเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยแยกเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ เพื่อประสิทธิภาพการจัดการ นพ.ยงยศ กล่าวว่า บอกแล้วว่า ไม่ใช่กระจายอำนาจ แต่เป็นการเปลี่ยนมือบริหารจัดการเท่านั้น เพราะการปฏิรูปที่ต้องเดินควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจคือต้องนำงบประมาณไปถึงมือประชาชนให้ได้มากที่สุด ดังนั้นขณะนี้จึงล้วนเป็นข้ออ้างการเข้ามาจัดการทั้งนั้น เป็นข้ออ้างโดยการเอาความที่ไม่ได้ดุลและข้อบกพร่องการบริหารขององค์กรหนึ่งเข้ามาเพื่อแย่งอำนาจจัดสรรงบประมาณ ขณะนี้จึงเป็นแค่วังวนของความขัดแย้งมากๆ ถึงมากที่สุดเท่านั้น อย่างไรก็ตามตนไม่ได้บอกว่าการจัดสรรงบประมาณของ สปสช. หรือ สธ.ดีสุด ซึ่งต้องชี้วัดกันว่า งบที่ได้บริหารจัดการนั้น  สามารถจัดสรรลงไปสู่ชาวบ้านได้อย่างครบถ้วนหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่จะมีการยกเลิก สสจ. เป็น สปสช.สาขาจังหวัด โดยจะเริ่ม 1 ต.ค.นี้ นพ.ยงยศ กล่าวว่า มองว่าเรื่องนี้เป็นแค่การแดกดันกัน เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ไม่เป็นผู้ใหญ่ เพราะเมื่อทาง สธ.บอกว่า ถ้า สปสช.ไม่ยอมเรื่องนี้ จะไม่ให้ สสจ.เป็น สปสช.สาขาจังหวัด ทาง สปสช.จึงออกมาในแบบ เมื่อไม่อยากให้เป็นก็ไม่ต้องเป็น ออกมาในลักษณะแบบที่ใช้โมหะจริต อย่างไรก็ตามเมื่อ สสจ.ไม่ได้เป็น สปสช.สาขาจังหวัดแล้ว สสจ.ยังมีงานอื่นที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบอะไร เพราะงานด้านสาธารณสุขมีมากมาย ไม่ได้มีแค่การบริหารงบบัญชี 6 เท่านั้น.