ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ -ผู้ป่วยบัตรทองเฮ ต.ค.นี้ ได้สิทธิ์รักษามะเร็งเต้านมก่อน "ข้าราชการ-ประกันสังคม" เหตุ สปสช.เตรียมผลักยารักษาตัวใหม่เข้าบัญชียาหลัก หลังต่อรองได้ลดราคา 50% เผยใช้รักษาสายพันธุ์ เฮอร์ 2 โพสิทีฟ ระยะเริ่มต้นเท่านั้น หวังตัดตอนก่อนก่อโรคลุกลาม ลดค่าใช้จ่ายได้รายละล้าน

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะและประธานคณะทำงานต่อรองราคายาเพื่อคัดเลือกเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกว่า 54,000 ราย และพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ถึง 3 ราย ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่นับรวมผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังตรวจไม่พบ หรือยังไม่ได้เข้ารับการรักษา และพบว่าผู้หญิงไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมถึงวันละ 14 ราย ทั้งนี้ โรคมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบโดยทั่วไปแบ่งได้ง่ายๆ เป็น 3 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ดังนี้ 1.สายพันธุ์ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเป็นประเภทที่พบมากที่สุด 2.สายพันธุ์เฮอร์ 2 โพสิทีฟ (HER 2 positive) พบได้ประมาณ 20% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด และ 3.ชนิดไตรโลปะ ที่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน พบได้ประมาณ 15% ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะในระยะลุกลามนั้น นอกจากค่ายาซึ่งมีราคาแพงมากกว่าล้านบาทต่อคอร์สแล้ว ยังต้องรักษาควบคู่ไปกับการทำเคมีบำบัด ฉายแสง และผ่าตัด ซึ่งราคาก็จะมากกว่านี้ และไม่หาย เมื่อไม่หายจะต้องเพิ่มคอร์สการรักษาไปเรื่อยๆ

ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยาเพียง 30% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก เนื่องมาจากปัญหาราคายาที่สูงเกินไป จึงต้องพิจารณายา กลุ่ม Trastuzumab เข้ามา แต่ราคายังสูงประมาณ 80,000 บาทต่อขวด ซึ่งทาง สปสช.ได้ต่อรองราคายาลงได้ 50% หรือประมาณ 45,000 บาทต่อขวด โดยขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง เพื่อพิจารณาเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช.อีกครั้ง ก่อนบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ และคาดว่าน่าจะสามารถประกาศใช้ในกลุ่มผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในเดือน ต.ค.นี้ ก่อนที่สิทธิ์ประกันสังคมและข้าราชการจะได้ใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นยาดังกล่าวจะถูกเอามาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ 2 ในระยะเริ่มต้นก่อนเท่านั้น เพราะจากการศึกษาข้อมูลพบว่า ถ้าใช้รักษาในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นจะมีโอกาสในการหายขาดจากโรคได้ ซึ่งจะประหยัดงบประมาณในการดูแลสุขภาพมากกว่าปล่อยให้เป็นมะเร็งในระยะลุกลาม แต่อาจจะติดปัญหาเรื่องของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในระยะแรก ซึ่งตรงนี้ต้องจัดระบบให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เพื่อที่หากพบในระยะแรกๆ จะได้รักษาให้หายได้ ซึ่งดีกว่าค้นเจอในระยะที่ลุกลามไปแล้ว ดังนั้น สปสช.จะต้องมาคิดต่อว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแรกได้มากที่สุด ส่วนตัวคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงสามารถครอบคลุมผู้ป่วยโรคดังกล่าวได้ 100%

"เมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ และมีข้อมูลว่ายารายการนี้มีประสิทธิผลดีกว่ายาเดิม แม้ยาจะแพง สปสช.ก็ต้องนำเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยา แต่การรักษาต้องรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะรักษาหายได้ ดังนั้นหากวินิจฉัยได้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ 2 โพสิทีฟ จะใช้ยาเลย ถ้าปล่อยให้เป็นโดยไม่รักษาจะแพงมาก เพราะต้องให้ยาตัวดังกล่าวบวกกับยาตัวอื่นๆ อีก รวมถึงวิธีการรักษาอื่นๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก เรามองไปถึง 10 ปี ข้างหน้า" ภญ.เนตรนภิสกล่าว และว่า ผู้เชี่ยวชาญได้ประมาณการผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ 2 โพสิทีฟ ประมาณ 1,200 รายต่อปี ดังนั้นค่าใช้จ่ายเฉพาะค่ายาก่อนการต่อรองราคาหากเข้าถึง 1,200 คน จะเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อต่อรองราคาแล้วจะใช้งบประมาณประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2557