ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย จัดประชุมเวที สกว. (TRF Forum) เรื่อง “สวัสดิการแรงงานข้ามชาติภายใต้กระแสการบูรณาการของภูมิภาคอาเซียน” เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมา เพื่อให้นักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนในเรื่องแรงงานข้ามชาติของ สกว. นำเสนอข้อมูล ผลการวิจัย และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 

ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ ผู้ประสานงานโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย สกว. กล่าวว่า “สกว. ให้การสนับสนุนการวิจัยในเรื่องแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติชาวไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติในระดับต่างๆ และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ขณะนี้บางโครงการที่เกี่ยวกับประเด็นแรงงานข้ามชาติ ความเป็นอยู่สภาพการทำงานในต่างประเทศ และการส่งเงินกลับถิ่นต้นทางของแรงงาน ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้จัดเวที สกว. หรือ TRF Forum ครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลวิจัยต่อสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง “กระบวนการสร้างความร่วมมือด้านสวัสดิการประเทศต้นทาง ปลายทาง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” โดยระบุว่าลักษณะแรงงานข้ามชาติในตลาดแรงงาน มีความแตกต่างจากแรงงานไทยในด้านความยืดหยุ่น ความคาดหวัง และการจัดการในส่วนรายได้ที่ได้รับ โดยสวัสดิการตามกฎหมายที่ภาครัฐจัดให้ยังไม่ครอบคลุมทั้งในระดับปริมาณและคุณภาพ และไม่สอดรับกับลักษณะตลาดแรงงานที่มีความยืดหยุ่น รวมทั้งสวัสดิการแบบเน้นรัฐไม่สามารถตอบรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ได้

ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐว่า 1.ควรทำข้อตกลงการคุ้มครองทางสังคมระหว่างรัฐบาลประเทศต้นทางการอพยพ เพื่อให้สิทธิการคุ้มครองทางสังคมที่มีในรัฐไทยไม่สิ้นสภาพ อันจะสอดรับต่อการบูรณาการอาเซียน  ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานประกันสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

2.พยายามปรับใช้หลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้สอดรับต่อการควบคุมแรงงานไทย เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรฐานด้านแรงงานที่ไม่ตรงกัน และ 3.ควรศึกษาเพิ่มเติมแนวทางบูรณาการเพื่อสร้าง Permanent Residence หรือ วิธีการขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร เพื่อให้ได้สิทธิทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตามพื้นที่ที่ทำงาน อันสอดรับต่อการบูรณาการอาเซียนและลักษณะการทำงานของแรงงานข้ามชาติที่มีแนวโน้มอยู่อาศัยระยะยาวมากขึ้น 

ขณะที่มุมมองข้อเสนอแนะต่อภาคเอกชน เสนอว่า ฝ่ายนายจ้างควรส่งเสริมการประกันกับบริษัทเอกชนคู่ขนานไปกับสวัสดิการภาครัฐ เนื่องด้วยประกันของกองทุนข้ามชาติมีความยืดหยุ่นต่อการขยายการคุ้มครองข้ามพรมแดน และควรร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนระดับกลาง สร้างฐานข้อมูลผู้ใช้แรงงานเพื่อประโยชน์ด้านการจัดสรรแรงงานและสวัสดิการในอนาคต

ด้าน สุทธิพร บุญมาก มหาวิทยาลัยทักษิณ นำเสนองานวิจัยเรื่อง “การส่งเงินกลับบ้าน: กรณีศึกษาผู้ย้ายถิ่นจากจังหวัดชายแดนใต้ในประเทศมาเลเซีย” เพื่อศึกษาแบบแผนพฤติกรรมการส่งเงินกลับบ้าน ช่องทางการรับเงินส่งกลับบ้าน วิธีการบริหารจัดการเงินส่งกลับบ้าน และผลกระทบของการส่งเงินกลับบ้านที่มีต่อครอบครัวและชุมชน 

สุทธิพร ศึกษากลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการ และกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานอยู่ในธุรกิจที่เรียกว่า Tom Yam Restaurant Business ซึ่งพบว่า การส่งเงินกลับของกลุ่มแรงงานจะมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการเนื่องด้วยพันธะและความรับผิดชอบในการเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ข้างหลังในประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินส่งกลับบ้านจากมาเลเซียสู่ไทยไม่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย จึงส่งเงินอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งอาจเป็นการส่งเงินกลับภายในประเทศไทยเองเพราะบ้านติดอยู่ชายแดน ซึ่งแรงงานแต่ละประเภทได้รับค่าจ้างต่างกันมีผลต่อความสามารถในการส่งเงินในขนาดที่ต่างกัน เช่น แรงงานประมงจะมีความสามารถส่งเงินได้มากกว่าแรงงานทั่วไป เพราะค่าจ้างขึ้นอยู่กับปริมาณของการจับประมงได้มาก

สุทธิพร กล่าวว่า การศึกษาแบบแผนการส่งเงินกลับบ้านทำให้พบว่าเป็นกระบวนการทางสังคมที่มีความเป็นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และส่วนใหญ่มักเป็นวิธีการส่งเงินกลับอย่างไม่เป็นทางการไม่สามารถบันทึกได้ในระบบบัญชีประชาชาติ เช่น ฝากญาติ ฝากเพื่อนที่จะกลับประเทศ 

นอกจากนี้ ยังพบข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัยว่า ควรพัฒนาระบบการส่งเงินระหว่างไทยและมาเลเซียโดยเฉพาะ และควรส่งเสริมการส่งเงินกลับในรูปแบบเพื่อชุมชนหรือสังคมในถิ่นต้นทาง เพื่อกระตุ้นความผูกพันของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในรูปแบบของซะกาต หรือทานประจำปีของชาวมุสลิมให้มากขึ้น นอกเหนือจากส่งเงินเพื่อใช้ส่วนตัวและเพื่อครอบครัว รวมทั้งควรส่งเสริมการสะสมทุนและเงินออมไปพร้อมกันด้วย

ดร.พิมเสน บัวระภา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำเสนองานวิจัยเรื่อง “เครือข่ายและการส่งเงินกลับบ้าน : ผู้อพยพข้ามชาติชาวไทยในประเทศเวียดนาม (ภาคเหนือ)” โดยศึกษากลุ่มผู้อพยพข้ามชาติชาวไทยข้ามชาติที่กำลังพักอาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในบริเวณภาคเหนือของเวียดนาม ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา 

ผลวิจัยพบว่า ผู้เคลื่อนย้ายข้ามชาติชาวไทยในเวียดนาม (ภาคเหนือ) มีชุดของปฏิสัมพันธ์หรือสายสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดเครือข่ายให้สามารถทำอยู่ทำกินได้อย่างสมดุล 2 ชุดคือ สายสัมพันธ์เครือข่ายภายในกลุ่มผู้เคลื่อนย้ายข้ามชาติชาวไทย หรือเครือข่ายการทำอยู่ และสายสัมพันธ์ภายนอกระหว่างผู้เคลื่อนย้ายชาวไทยข้ามชาติกับชาวเวียดนามเจ้าของพื้นที่ใหม่หรือชาวต่างชาติอื่นใด หรือเครือข่ายการทำกิน

ซึ่งสายสัมพันธ์ชุดแรกนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการยึดโยงชาวไทยให้สามารถดำรงและคุ้นเคยในพื้นที่ใหม่ด้วยการสร้างชุมชนชาวไทยในจินตนาการร่วมกันเพื่อเติมเต็มในความโหยหาบ้านเกิดเมืองนอน ส่วนสายสัมพันธ์ที่สองคือเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การทำกินของเขาเหล่านั้นดำรงอยู่ได้

งานวิจัยยังพบว่า องค์กรโครงสร้างทางสังคมหลักที่มีบทบาทและพลังในการประสานสายสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพชาวไทยข้ามชาติเข้าด้วยกัน โดยอาศัยกิจกรรมทางรัฐชาติและวัฒนธรรมในการรวมศูนย์ มี 2 องค์กรสำคัญคือ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำ ณ กรุงฮานอย ซึ่งมีบทบาทหน้าที่หลักในการรักษาผลประโยชน์และดำเนินงานเพื่อสร้างผลประโยชน์ของชาติ และสมาคมนักธุรกิจไทยในประเทศเวียดนามหรือ TBA (ภาคเหนือ) องค์กรเอกชนที่เกิดจากสายสัมพันธ์ของผู้ทำอยู่ทำกินในเวียดนามภาคเหนือเป็นส่วนมาก ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ทางกิจกรรมสาธารณะกุศล และจัดกิจกรรมต่างๆ ระหว่างคนไทยด้วยกัน

ดร.พิมเสน เสนอแนะเชิงนโนบายไว้หลายประการ อาทิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยควรปรับยุทธิวิธีในการเป็นที่พึ่งพาแก่ผู้ประกอบการด้วยการประยุกต์เอาแนวคิดในเรื่องเครือข่ายจากองค์กรเอกชนเข้าไปประสานช่วยเหลือในระบบการทำงาน การเร่งสร้างศูนย์กฎหมายและการค้าในแต่ละประเทศให้เป็นรูปธรรมที่มีความเหมาะสมและยืดหยุ่นกับประเทศนั้นๆ เพื่อสนองตอบต่อการเดินทางเข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศ รวมทั้งอาจสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านสื่อการแสดง ภาพยนตร์ แฟชั่น ดารา ให้เป็นสื่อทางวัฒนธรรม เผยแพร่โฆษณาประชาสัมพันธ์ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทยพร้อมกับการสร้างสัญลักษณ์ทางสินค้าไทย ดังเช่นที่เกาหลีใต้ได้ดำเนินการก่อนแล้ว เป็นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง