ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ย้อนไปเมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว ก่อนที่จะมาเป็นสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีนั้น เดิมเป็นแผนกเด็กในโรงพยาบาลหญิง(โรงพยาบาลราชวิถี) ซึ่งขณะนั้นมีเตียงรับผู้ป่วยเด็กเพียง 25 เตียง  และในปี พ.ศ. 2496 รัฐบาลได้อนุมัติเงินงบประมาณในการก่อสร้างอาคารแผนกเด็ก และสามารถขยายงานในการดูแลผู้ป่วยเด็กหลายสาขา รับผู้ป่วยได้ 137 เตียง และให้ชื่อว่า“โรงพยาบาลเด็ก” ในการบังคับบัญชายังขึ้นกับโรงพยาบาลหญิง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มาทำพิธีเปิดอาคารของโรงพยาบาลเด็กในวันที่ 24  มิถุนายน พ.ศ. 2497

ในปี พ.ศ. 2516 มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.  2517 จึงได้ยกฐานะเป็นกองโรงพยาบาลเด็ก กรมการแพทย์ มีอำนาจเต็มในการบริหาร ในเวลานั้นมีแพทย์ประจำ 18 คน พยาบาล 70 คน

และในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 117 ตอนที่ 45 ก.เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเด็กเป็น “สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

ในยุคแรก โรงพยาบาลเด็กนับว่าเป็นสถาบันแรกนอกมหาวิทยาลัยแพทยศาตร์ที่ได้จัดให้มีการฝึกอบรมวิชาโรคเด็กขึ้น ซึ่งระยะแรกได้รับความช่วยเหลือร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากคณาจารย์ภาควิชากุมาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหตุผลที่ทำให้มีการอบรมแพทย์โรคเด็ก เพราะผู้ป่วยเด็กมีจำนวนมากขึ้นและมีอัตราตายสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว

หลังโรงพยาบาลเด็กเปิดไม่นาน พญ.อรวรรณ คุณวิศาล (ซึ่งไปศึกษาโรงพยาบาลเด็ก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา) ได้กลับมาปฏิบัติงานทางแผนกเด็ก พ.ศ. 2494 และเป็นหัวหน้าแผนกเด็กคนแรก ได้นำความรู้มาช่วยปรับปรุงแผนกเด็ก และดำเนินการสอนแพทย์ประจำบ้านแผนกเด็กในเวลานั้น การฝึกอบรมทางกุมารเวชศาสตร์ จึงอาจนับได้ว่าเริ่มต้นในตอนนั้น เพราะเวลาเดียวกันนั้นแพทย์ที่จบจาก โรงเรียนแพทย์ ต้องออกไปปฏิบัติงานต่างจังหวัด ทางกรมการแพทย์ได้ส่งมาดูงาน ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ก่อน แผนกเด็กจึงเป็นที่ที่รับผู้มาดูงานเสมอ ทางแผนกเด็กเองได้มีการสอนแพทย์เหล่านี้ โดยเน้นหลักทางภาคปฏิบัติเป็นแบบ Clinical Teaching ผู้ที่มารับการฝึกอบรมและดูงาน ได้ปฏิบัติงานในแผนกเด็ก ทั้งคนไข้นอกคนไข้ใน รวมทั้งเด็กเกิดใหม่ ในขณะนั้นยังไม่มีหลักสูตรแน่นอน ระยะเวลาที่มาดูงาน แล้วแต่ความต้องการ มีตั้งแต่ระยะ 1 เดือน ถึง 1 ปี พอครบกำหนดแล้วก็ออกไปปฏิบัติงานตามโรงพยาบาลส่วนภูมิภาค

พ.ศ.2501  Dr.Harold Brown จาก USOM (United Stated Overseas Mission) ศ.นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ได้มีการประชุมและเห็นพ้องต้องกันว่า น่าจะมีการจัดระบบการศึกษาหลังปริญญาขึ้นที่โรงพยาบาลเด็ก โดยให้มี Program training ร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนกุมารแพทย์ โดยให้มีการศึกษาแบบ Residency Training Program การดำเนินการโดยมีแพทย์จากมหาวิทยาลัยหลายฝ่ายร่วมเป็นกรรมการ ทั้งจากคณะแพทย์จากศิริราชพยาบาล โครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ โครงการระยะแรกเริ่มในเดือนเมษายน พ.ศ.2502 โครงการระยะที่ 2 เป็นโครงการให้การศึกษาแก่นักเรียนแพทย์ ซึ่งไม่ได้ดำเนินการ

เนื่องจากโรงพยาบาลเด็กเป็นโรงพยาบาลเฉพาะเด็ก จึงมีหน่วยงานต่าง ๆ รวมอยู่ในสถาบันเดียวกันที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์อื่น ๆ ไม่มี เช่น ฝ่ายศัลยกรรม, ฝ่ายศัลยกรรมกระดูก, ฝ่ายจักษุ และฝ่ายโสต ศอ นาสิก, ฝ่ายรังสีวิทยา, ฝ่ายทันตกรรม, ฝ่ายพยาธิวิทยา ห้องปฏิบัติการเพาะเชื้อ แบคทีเรีย และการตรวจ น้ำเหลืองวินิจฉัยโรค ซึ่งฝ่ายต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้แพทย์ประจำบ้านได้เรียนรู้โรคและความเปลี่ยนแปลงของโรคสาขาเหล่านั้นได้สะดวก

เมื่อปี พ.ศ. 2514 ได้มีการริเริ่มจัดตั้งหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านระยะ 3 ปีตามหลักสูตรแพทยสภา เพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขากุมารเวชศาสตร์ ซึ่งเมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้วจะต้องสอบเพื่อวุฒิบัตร โดยในระยะแรกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยกุมารแพทย์จากสถาบันต่าง ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลเด็ก ได้จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม 3 ปี รวมทั้งจัดการสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จนถึงปัจจุบันนี้

ปัจจุบันสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีจานวนเตียงผู้ป่วย 435 เตียง สามารถรับผู้ป่วยในปีละ 15,000 ราย ผู้ป่วยนอกปีละ 350,000 ราย งานผ่าตัด 5,000 ราย โดยให้บริการส่งเสริมสุขภาพการเจริญเติบโตและพัฒนาการ การป้องกันโรคและให้การรักษาโรคโดยแพทย์เฉพาะทางโรคเด็กทุกสาขาและเป็นสถานที่ให้การรักษาในระดับตติยภูมิที่ส่งต่อมาจากทั่วประเทศ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้รับการรับรองกระบวนการคุณภาพจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล

ในปีพศ.2547 ได้มีการปฏิรูประบบราชการและมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานต่างๆ ในส่วนของกรมการแพทย์มีการกำหนดเป็นกรมวิชาการด้านการแพทย์ฝ่ายกายและการให้การสนับสนุนด้านวิชาการแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้หน่วยงานภายใต้สังกัดเป็นสถาบันชั้นสูงและพัฒนาระบบบริการให้ถึงระดับตติยภูมหรือสูงกว่า และพัฒนาระบบศูนย์การแพทย์ต่างๆ ในระดับภูมิภาคของประเทศ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีจึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคเด็ก คือ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจเด็ก ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจแบบครบวงจร โดยการตรวจวินิจฉัย ด้วยเครื่องเสียงสะท้อนหัวใจ การสวนหัวใจเพื่อการวินิจฉัยและรักษาในผู้ป่วยเด็กทุกอายุตั้งแต่ทารกแรกเกิด ให้การรักษาโดยการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดทุกประเภท ความเป็นเลิศเฉพาะทางรักษาผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจมากที่สุดในประเทศและรับส่ง – ต่อ มากกว่า 1,500 ราย/ปี หรือ ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไข้เลือดออก เป็นผู้นำในการทำแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกและองค์การอนามัยโลก(โครงการ WHO Collaborative ด้านไข้เลือดออก) ได้นาไปเผยแพร่ทั่วโลก ประเทศที่ไปให้ความช่วยเหลือและสามารถลดอัตราป่วยตาย ของผู้ป่วยไข้เลือดออกลงได้อย่างมาก เช่น บังคลาเทศ ภูฏาน บราซิล กัมพูชา เคปเวอร์ด อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มัลดีฟ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ซูดาน ติมอร์เลสเต เวเนซูเอลา เวียดนาม

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทารกแรกเกิด รักษาผู้ป่วยทารกแรกเกิดระดับตติยภูมิและสูงกว่าที่ส่งต่อจากโรงพยาบาลทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเฉลี่ยกว่า 1,200 รายต่อปี และทารกแรกเกิดที่มีความพิการกำเนิดน้ำหนักน้อย <1,500 กรัม มากที่สุดในประเทศ สามารถช่วยเหลือให้พ้นวิกฤติและมีชีวิตรอด 94 % โดยผลลัพธ์มีความพิการน้อยที่สุด

ศูนย์ความเป็นเสิศด้านศัลยกรรมทารกแรกเกิด ได้มีการจัดตั้งในปี พศ 2547 เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งศูนย์เป็นศูนย์กลางรับ-ส่งต่อและให้บริการด้านศัลยกรรมแก่ทารกแรกเกิดแห่งแรกของประเทศโดยผ่าตัดปีละ400-500 ราย

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์และวิจัยทางวิชาการเฉพาะทางด้านโรคเด็ก ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักอันสำคัญ ของสถาบันในการสร้างองค์ความรู้ และวิทยาการด้านโรคเด็กใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถทำการดูแลและรักษาผู้ป่วยเด็กในระดับตติยภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สามารถผลิตผลงานทางวิชาการลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งของในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า80เรื่องต่อปี สร้างงานวิทยานิพนธ์ของแพทย์ประจำบ้านกว่า 464 เรื่อง นอกจากนี้ยังผลิตบทความทางวิชาการเกี่ยวกับเด็ก และโรคของเด็กรวมทั้งผลิตตำราวิชาการ เพื่อนักศึกษาแพทย์ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขอีกมากมาย สำนักวิจัยและพัฒนาเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านต่าง ๆ

พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร

และในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของโรงพยาบาลเด็กในปีนี้ พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)  กล่าวว่า  เดือน มิถุนายน ปีนี้  พิเศษกว่าปีอื่นๆ  คือ จะเน้นการสื่อสารสู่สังคมภายใต้แนวคิดที่ว่า"ทุกประเด็นต้องรู้ ดูแลเด็กปลอดภัย โรคอุบัติใหม่" โดยเฉพาะบทบาทสำคัญในการรักษา เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคเด็ก ผ่านกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ซึ่งสถาบันฯได้ดำเนินการปีนี้เป็นปีที่ 2 และจะรณรงค์อย่างต่อเนื่องแบบนี้ทุกๆปีของเดือนมิถุนายน  โดยมีกิจกรรมที่เน้นการรณรงค์ โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญขณะนี้ โดยหน่วยโรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ จะทยอยให้ ความรู้ใน มุมมอง ด้านนี้อย่างต่อเนื่อง    ยังรวมถึงการจัดให้มีการประชุมวิชาการกุมารเวชศาสตร์ “สุขภาพเด็กแห่งชาติ” ครั้งที่ 15ระหว่างวันที่ 25- 27 มิถุนายน 2556 ที่  โรงแรมแลนด์มาร์ค สุขุมวิท กรุงเทพ