ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ชี้อันตรายจากสารเคมีเป็นอันตรายใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น เผยเตรียมพัฒนาทีมแพทย์รับมืออุบัติภัยสารเคมีเพื่อประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วย

วันนี้ (12 มิถุนายน 2557) ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฎิบัติการการซ้อมแผนรับมืออุบัติภัยสารเคมี ว่า ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่ามีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ปฎิบัติงาน ประชาชนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อม โดยปกติโรงงานอุตสาหกรรมจะมีระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าว แต่เมื่อเกิดอุบัติภัยทางสารเคมีขึ้น ผู้ประสบเหตุจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือทักษะความชำนาญของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในเบื้องต้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการซ้อมแผนรับอุบัติภัยสารเคมี ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 12 – 13 มิถุนายน 2557 การประชุมประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้การล้างพิษจากสารเคมี กิจกรรมฝึกปฏิบัติการใส่ชุดป้องกันสารเคมี และล้างตัวผู้ปนเปื้อนสารเคมี ทั้งในห้องประชุมและฝึกภาคสนาม โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมจำนวน 150 คน เพื่อให้ผู้เข้าประชุมมีความเข้าใจและทักษะการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการใส่ชุดและล้างตัว ผู้ปนเปื้อนสารเคมี สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุในเขตพื้นที่และช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากอุบัติภัยทางสารเคมี วัตถุอันตรายได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้การฝึกซ้อมแผนรับมืออุบัติภัยสารเคมีในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่เข้ารับการฝึกอบรมจะมีทักษะ ความพร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อเป็นแบบอย่าง (ครู ก) ในการปฎิบัติตนที่ถูกต้องให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศต่อไป

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษคือต้องทราบชนิดของสารพิษและรู้หลักการล้างพิษ Decontamination ออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด  ซึ่งวิธีง่ายๆในเบื้องต้นหากได้รับสารดังกล่าวทางผิวหนัง ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำด้วยน้ำสะอาด จะช่วยล้างสารพิษที่สัมผัสทางผิวหนังมากกว่า 90% กรณีสารพิษสัมผัสดวงตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ เพื่อลดความเข้มข้นของสารเคมีที่เข้าตา โดยให้ผู้ป่วยนอนตะแคงให้น้ำผ่านตาและไหลออกด้านข้าง เพื่อจะได้ไม่กระทบดวงตาอีกข้างหนึ่ง พร้อมกับนำฉลากหรือภาชนะที่ใช้บรรจุสารพิษที่สงสัยมาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็วของแพทย์