ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไม่ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพยายามเรียกคืนความเชื่อมั่น โดยยืนกรานว่าทหารไม่มีนโยบาย “กวาดล้าง”แรงงานต่างด้าว แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า “ความกลัว” ได้ขยายตัวออกเป็นวงกว้าง ครอบงำความรู้สึกแรงงานชาวกัมพูชาทั่วทุกหัวระแหง

ผลกระทบจากการไหลออกของแรงงานกว่า 1 แสนราย กำลังเป็น “โดมิโน” ชิ้นแรกที่ล้มทับพังครืนระบบเศรษฐกิจ

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thirachai Phuvanatnaranubala” แสดงความกังวลต่อปรากฏการณ์ที่กำลังลุกลามบานปลาย

“แรงงานเขมรที่หนีกลับบ้านร่วมแสน อาจจะเป็นหมัดน็อกเศรษฐกิจ” ธีระชัย ระบุไว้เช่นนั้น ก่อนที่เขาจะขยายความในบรรทัดถัดมาว่า เนื่องจากโครงการก่อสร้างจำนวนมาก ไม่สามารถเดินหน้าได้ภายใน 3 เดือน หลายโครงการที่เริ่มมีปัญหาเงินหมุนเวียนอยู่แล้ว จะทรุดหนักจนถึงขั้นค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่แบงก์ แบงก์จะต้องจัดชั้นลูกหนี้เหล่านี้ และกันสำรอง”

“ถึงแม้ค่าแรงงานเขมรที่หนีกลับบ้านจะเป็นเงินเพียงน้อยนิด แต่แบงก์จะต้องกันสำรองสำหรับยอดเงินกู้ทั้งโครงการ และกำไรแบงก์จะลดลง เมื่อกระทบฐานะแบงก์ การปล่อยกู้รายใหม่ก็จะติดขัดไปหมด ปัญหาจะลุกลามต่อเนื่องไปยังธุรกิจคู่ค้าของโครงการต่างๆ ซึ่งจะขาดเงินหมุนเวียนไปด้วย และไม่ช้าถ้าถึงขั้นกระทบการจ้างงาน หนี้ครัวเรือนที่ผ่อนรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จะติดขัดเป็นลูกโซ่”

“ไม่น่าเชื่อว่าแรงงานเขมรเพียงแสนคน จะมีผลได้มากเช่นนี้ เป็นเพราะสภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เปราะบาง จากปัญหาล้นตลาดอยู่แล้ว และหลายรายก็ยังแบกภาระเก็งกำไรที่ดินไว้อีกด้วย ทั้งตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง และที่อื่นๆ จึงต้องหาทางเจรจาให้แรงงานเขมรกลับคืนมาด่วนที่สุด”

ขณะที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็มีความกังวลไม่ใช่น้อย วัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามสถานการณ์ดังกล่าวใกล้ชิดว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตมากน้อยเพียงใด

ส่วนตัวมองว่ากลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบก่อนจะเป็นในส่วนของ “ภาคอสังหาริมทรัพย์” และ “ประมง” เพราะแรงงานไทยไม่ยอมทำงาน อย่างไรก็ตามภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์ถึงปัญหาดังกล่าวเร่งด่วนก่อนที่แรงงานจะอพยพกลับไปมากกว่านี้

“ไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวแม้ว่านโยบายรัฐบาลจะพยายามส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่เน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตของไทย ต้องยอมรับว่ายังมีหลายอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงเพราะไม่สามารถหาแรงงานไทยมาป้อนได้ อุตสาหกรรมหลายอย่างก็จำเป็นยังต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในไทยเพื่อการพัฒนาประเทศ“

ขณะที่ ทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรม จ.ตาก บอกว่า เท่าที่ติดตามสถานการณ์พบว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบกับธุรกิจแน่นอนอยู่แล้ว เท่าที่คุยกับผู้ประกอบการทำให้ทราบว่ากลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ประมง และสิ่งทอ เดือดร้อนหนักเพราะเป็นธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้คน แต่จำนวนแรงงานแห่ไหลกลับประเทศอย่างน่าตกใจ แม้ผู้เป็นนายจ้างจะพยายามยับยั้งอย่างไรก็ไม่เป็นผล และกระแสความกลัวเหมือนโรคระบาด เมื่อตัวแรงงานเห็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนเดินทางกลับก็จะกลับด้วย

"ปัญหาส่งมอบงานไม่ทันมีแน่นอน ทั้งงานก่อสร้างหรือธุรกิจสิ่งทอผลิตเสื้อผ้าที่ขาดคนและผลิตได้ช้าลง สุดท้ายก็ต้องส่งสินค้าทางเครื่องบินเพื่อให้ทันกำหนดส่งมอบ และต้นทุนจะสูงจนธุรกิจขาดทุน"

ความเห็นทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ... ตรงกันเสียจนน่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งวันที่ 16 มิ.ย. หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งตำรวจ-ทหาร ต่างดาหน้าออกมาปฏิเสธกระแสข่าว “กวาดล้าง”แรงงานต่างด้าวอย่างจ้าระหวั่น

เริ่มตั้งแต่ พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. ให้ข้อมูลตั้งแต่ช่วงเช้าว่า คสช.ไม่มีนโยบายกวาดล้าง แต่ต้องลงพื้นที่ทุกแห่งที่มีแรงงานผิดกฎหมายเพื่อรับทราบปัญหา

“แรงงานต่างด้าวเป็นปัญหาสะสมมานานนับ 10 ปี การจัดการต้องบูรณการงานของกระทรวงต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางและหลักการเดียวกัน ให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยยึดหลักมนุษยธรรมและเป็นไปตามหลักสากล เกิดผลดีแก่ผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าว”

สำหรับเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่าง “เร่งด่วนและจริงจัง” คือการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ การทุจริตของเจ้าหน้าที่ นายหน้าต่างๆ และการสะสางคดีความที่ยังคั่งค้าง

“ขอให้ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าว ดำเนินกิจการไปตามปกติ และดูแลให้อยู่ในความเรียบร้อย“

พ.อ.วินธัย อธิบายอีกว่า ปัญหาเร่งด่วนในการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ได้แก่ แรงงานประมง หรือทำงานทางเรือ ซึ่งควบคุมยากกว่าแรงงานทางบก รวมทั้งแรงงานสิ่งทอและไร่อ้อย โดยแนวทางแก้ปัญหาให้ดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง แรงงานต่างด้าว ต้องขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ทำงานได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องหลบซ่อน รวมทั้งได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างถูกหลักสุขลักษณะ

จากถ้อยแถลงของ “พ.อ.วินธัย” เข้าใจได้ว่าทหารจะไม่กวาดล้าง แต่เน้นดึงแรงงานผิดกฎหมายกลับเข้าสู่ระบบ

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พล.อ.ธนศักดิ์ ปฏิมาปกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) มีคำสั่งให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก ในฐานะประธานอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว พร้อมด้วย นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงตรวจพื้นที่ “สมุทรสาคร” รับทราบข้อเท็จจริงต่างด้าวในพื้นที่

ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัค ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รายงานสถานการณ์ว่า ปัจจุบัน จ.สมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทั้งหมด 196,579 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนคาดว่ามีประมาณ 1.8-1.9 แสนคน เป็นแรงงานสัญชาติพม่ามากที่สุด รวมทั้งหมด จ.สมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 400,000 คน

พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวมี 4 ประเด็นสำคัญ 1.ไม่มีแผนการใช้แรงงานรวมทั้งประเทศ 2.หลายหน่วยงานเกี่ยวข้องจึงไม่มีเอกภาพ 3.บังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง 4.มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้ความสนใจเรื่องการจัดการปัญหานี้มาก แต่ยืนยันว่าไม่มีนโยบายให้ปราบปรามตามที่มีข่าวลือ เพราะนโยบายการจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ที่คสช.ตั้งขึ้น

เช่นเดียวกับ ปลัดจีรศักดิ์ ที่ระบุว่า กระทรวงแรงงานขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายพิเศษเรื่องกวาดล้างแรงงานต่างด้าวแต่อย่างใด

สอดรับกับบิ๊กสีกากี อย่าง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ชี้แจงชัดเจนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายในการขับไล่แรงงานชาวกัมพูชา และไม่มีคำสั่งให้กวดขัน กดดันจับกุมหรือขับไล่แต่อย่างใด

ทว่า สถานการณ์ล่าสุดของวันที่ 16 มิ.ย. ตลอดทั้งวันยังคงมีแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างต่อเนื่อง

ราวกับว่า “เลือดไหลไม่หยุด” ... มาตรการ “ขันชะเนาะ” ของ คสช.ต้องจับต้องได้ มากกว่าจะห้ามเลือดด้วย “ถ้อยแถลง” เพราะพิสูจน์แล้วว่า ... ไม่เพียงพอ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ถอดรหัสนโยบายแรงงานข้ามชาติ 'คสช.' : ผิดทาง-ถอยหลัง

สึนามิ 2 ลูกซัดภาพลักษณ์ “ไทย” พัง กวาดล้างต่างด้าว-แรงงานทาสฉาวทั่วโลก

ไฟลามทุ่งแรงงานต่างด้าว หนีตาย 7 หมื่น -1.1 แสนราย จับตาคลื่นลมสงบ ‘นายหน้า’ ปากมัน

‘กันต่างด้าวเป็นพยาน-เอาผิดอิทธิพลเถื่อนขบวนการค้ามนุษย์’ ข้อเสนอจากนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

โซนนิ่งแรงงานต่างด้าว สรุปยอดไหลออกล่าสุด 9 หมื่น จับตาไทยถูกหั่นเครดิต 21 มิ.ย.นี้

4 ข้อเสนอ คสช.แก้วิกฤตแรงงานข้ามชาติแห่กลับประเทศ

วิกฤตแรงงานไหลกลับ โอกาสขึ้นทะเบียนต่างด้าวครั้งใหม่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง