ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ทฤษฎีกล่องยา 3 กล่อง จะช่วยให้ รพ.สต. สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้เต็มความสามารถ และรู้ขอบเขตการทำงานของตนเอง และลดความแออัดของโรงพยาบาลจังหวัดได้”

นพ.พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผอ.รพ.ตราด กล่าวว่า  จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่า คนไทยมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น ซึ่งโรคเหล่านี้ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคที่เกิดจากผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้โรงพยาบาลมีผู้ป่วยจำนวนมากเข้ามาใช้บริการ

นพ.พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ

นพ.พิเชียร เล่าว่า การจะลดโรคของชาวบ้านนั้น หมอจะไม่เป็นเพียงผู้รักษาอย่างเดียว  แต่การให้ชุมชนมีส่วนรวมในการออกแบบแนวทางการป้องกันโรคจะช่วยให้เห็นผลที่ดีและรวดเร็ว โดยมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะทำหน้าเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในปัจจุบัน

รพ.สต.ตะกาง อ.เมือง จ.ตราด เป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่ได้ผล สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างได้ โดยมี รพ.ชุมชนเป็นแม่ข่ายและมี รพ.สต.เป็นลูกข่าย ดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อสม. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีพฤติกรรมสุขภาพดี เหมาะกับวิถีชีวิตชุมชน ไม่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่วนกลุ่มที่ป่วยแล้วได้รับการดูแลเข้าถึงบริการ ควบคุมอาการให้อยู่ในระดับปกติ ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนอันตราย

นพ.พิเชียร กล่าวว่า ในอดีตเราจะใช้วัดเป็นโรงพยาบาล แต่ในปัจจุบันเรามี รพ.สต.ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนในพื้นที่แทนโรงพยาบาลชุมชน ซึ่ง รพ.สต.จะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด รู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน อีกทั้งประชาชนจะให้ความไว้วางใจบุคลากรใน รพ.สต.มากกว่า หมอ พยาบาลในโรงพยาบาลชุมชนเสียอีก ดังนั้นการปฏิรูประบบสุขภาพจึงต้องให้ รพ.สต.เป็นผู้ดำเนินการ โดยนำทฤษฎี ยา 3 กล่อง เข้ามาช่วยในการรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด

ขณะเดียวกัน รพ.สต.นั้นมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพของ รพ.สต.ก่อน  ด้วยการเริ่มจากยากล่องแรก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของ รพ.สต.ในการควบคุม ป้องกันโรค สามารถจ่ายยาขั้นพื้นฐานได้และมีเหมือนกันทุก รพ.สต.

กล่องที่ 2 ให้ รพ.สต.มีพยาบาลเวชปฏิบัติที่สามารถจ่ายยาได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์จาก รพ.จังหวัด เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน  

และยากล่องที่ 3 ให้มีทีมสุขภาพประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักโภชนาการ นักกายภาพ นำยาที่นอกเหนือจากที่ รพ.สต.จ่ายได้ลงพื้นที่หมู่บ้านและตรวจสุขภาพให้กับประชาชน และเพื่อสอนเจ้าหน้าที่ในการรักษาผู้ป่วย ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดความแออัดใน รพ.ใหญ่ และทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางเป็นวันๆ เพื่อพบแพทย์

ผลการดำเนินงานปรากฏว่า  ผู้ป่วยมาใช้บริการที่โรงพยาบาลชุมชนน้อยลง มีความมั่นใจในสถานพยาบาลใกล้บ้านมากขึ้น จนทำให้เกิดเป็นความเชื่อใจในตัวเจ้าหน้าที่  และเมื่อมีโครงการส่งเสริมสุขภาพต่างๆเข้ามา ชาวบ้านจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในเวลาเดียวกันโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยงจะต้องมีการดูการทำงานของ รพ.สต.อย่างต่อเนื่องว่าได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่

 “การทำงานที่จะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย สำหรับตัวเองแล้ว คติประจำใจในการทำงานคือ ทำงานให้ดีที่สุด ท่องให้ขึ้นใจนึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก”  ผอ.รพ. ตราด กล่าวสรุป