ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จุดเริ่มต้นและวิวัฒนาการโครงการบัตรสุขภาพโดยความสมัครใจนั้น เริ่มดำเนินการในสมัยนพ.อมร นนทสุต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น โดยได้เริ่มทดลองโครงการ ในปี 2526 ซึ่งถือว่า เป็นระยะที่ 1 ในกลุ่มแม่และเด็ก ใช้ขื่อว่า “โครงการกองทุนพัฒนาอนามัยแม่และเด็กโดยใช้บัตรประกันสุขภาพ” เพื่อทดลองหารูปแบบและความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาการประกันสุขภาพภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขและเพื่อพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก การส่งเสริมสุขภาพและการให้ภูมิคุ้มกันโรค รวมถึงระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ในระยะแรก พื้นที่ดำเนินการมี 7 จังหวัด 18 หมู่บ้าน ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ลำพูน นครสวรรค์ เพชรบุรี ราชบุรี และสงขลา ในระยะแรกนี้ มีการแยกประเภท ลักษณะและเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ของบัตรไว้ดังนี้

ประเภทที่ 1 บัตรสีแดง ใช้เพื่อการรักษาพยาบาลและการอนามัยแม่และเด็กและภูมิคุ้มกันโรค ราคา 200 บาท/ปี บัตรนี้ใช้สำหรับครอบครัวที่มีบุตรอายุไม่เกิน 15 ปีและมีมารดาตั้งครรภ์ อายุของบัตร 1 ปี ถ้าไม่ใช้สิทธิสามารถต่ออายุได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

ประเภทที่ 2 บัตรสีเหลือง ใช้สำหรับรักษาพยาบาลอย่างเดียว ราคา 100 บาท/ปี บัตรนี้ใช้สำหรับครอบครัวที่ไม่มีมารดาตั้งครรภ์และไม่มีบุตรอายุน้อยกว่า 15 ปี ซึ่งสมาชิกในตรอบครัวสามารถรักษาพยาบาลฟรีที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล 8 ครั้ง ถ้าไม่ใช้สิทธิสามารถต่ออายุได้ไม่เกิน 2 ครั้ง

ประเภทที่ 3 บัตรสีฟ้า ใช้เพื่อการอนามัยแม่และเด็กและการให้ภูมิคุ้มกันโรค ราคา 100 บาท/ปี บัตรนี้ใช้สำหรับครอบครัวที่มีบัตรประเภท 2 อยู่แล้ว และมารดาเกิดตั้งครรภ์ในระหว่างที่สิทธิการรับบริการตามรูปแบบของบัตรสีเหลืองยังคงมีอยู่ เป็นการซื้อเพื่อรับบริการอนามัยแม่และเด็ก

ระยะที่ 2 ของโครงการ ปี 2527 กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า โครงการนี้สามารถพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขได้  จึงได้การจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการโครงการบัตรประกันสุขภาพ” ขึ้น มีนายแพทย์ไพจิตร ปวะบุตร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ขยายพื้นที่ดำเนินการเต็มรูปแบบทั่วประเทศ ใช้ชื่อว่า “โครงการบัตรประกันสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข” เพิ่มวัตถุประสงค์เป็นการให้บริการรักษาพยาบาล กำหนดเป้าหมายให้มีกองทุนบัตรสุขภาพครบทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 ตำบล ตำบลละ 2 หมู่บ้าน ซึ่งกองทุนบัตรสุขภาพเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นในชุมชน โดยมีประชาชนผู้ซื้อบัตรสุขภาพเป็นสมาชิก และมีคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) เป็นผู้ดูแลควบคุมในการจัดจำหน่ายบัตรสุขภาพให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในกองทุนบัตรสุขภาพ บริหารงานโดยคณะกรรมการกองทุน มีผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันเป็นประธานแล้วแต่กรณี โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารรสุขเป็นผู้ให้คำแนะนำ  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับปรุงประเภท เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ ลักษณะการคุ้มครองของบัตร แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 บัตรสีแดง ราคา 200 บาท/ปี บัตรนี้ใช้สำหรับครอบครัว ประกอบด้วย พ่อ แม่ และบุตรที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี รวมกันแล้วไม่เกิน 4 คนต่อบัตร หากเกินสามารถซื้อบัตรใหม่ได้   มีการกำหนดเงื่อนไขของการใช้บัตร ไว้ว่าสามารถใช้ได้ 8 ครั้ง มีการจำกัดวงเงินค่ารักษาพยาบาลและกรณีอุบัติเหตุไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งการรักษาพยาบาลแต่ละครั้งนั้นหมายถึงการรักษาพยาบาลต่อเนื่องกันจนหายขาดจากโรคนั้น หรือสามารถที่จะเลือกจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยได้รับส่วนลด 10 เปอร์เซนต์ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการรักษาพยาบาล แต่ต้องเป็นการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่กำหนดไว้ และหากไม่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลฟรี 3 ปีจะได้รับการตรวจสุขภาพฟรีทั้งครอบครัว

ประเภทที่ 2 บัตรสีฟ้า ราคา 100 บาท/ปี ใช้เพื่อการอนามัยแม่และเด็กและภูมิคุ้มกันโรค บัตรนี้ใช้สำหรับครอบครัวที่มีบัตรประเภท 1 อยู่แล้ว และมารดาเกิดตั้งครรภ์ภายหลัง จำเป็นต้องรับบริการอนามัยแม่และเด็ก การคุ้มครองสิทธิจะเริ่มตั้งแต่ก่อนคลอดจนถึงเด็กที่เกิดมีอายุครบ 1 ปีบริบูรณ์ เมื่ออายุครบแล้วให้นำชื่อไปลงไว้ในบัตรรักษาพยาบาลครอบครัว (สีแดง)

ระยะที่ 3 ของโครงการบัตรสุขภาพ พ.ศ. 2528-2530 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับปรุงประเภท เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ เพิ่มลักษณะการคุ้มครองบางประการ โดยแบ่งบัตรเป็น 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 บัตรสีเขียว ราคา 300 บาท/ปี บัตรนี้ใช้สำหรับครอบครัวเพื่อการรักษาพยาบาล ผู้ใช้สิทธิประกอบด้วย พ่อ แม่ และบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี   รวม 4 คน มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์โดยลดเงื่อนไขการใช้บัตรลง จาก 8 ครั้งเป็น 6 ครั้ง แต่สามารถรักษาพยาบาลได้ไม่จำกัดชนิดและประเภทของโรค

ประเภทที่ 2 บัตรสีแดง ใช้เพื่อการรักษาพยาบาล ราคา 200 บาท/ปี

ประเภทที่ 3 บัตรสีฟ้า ใช้เพื่อการอนามัยแม่และเด็กและการให้ภูมิคุ้มกันโรค ราคา 100 บาท/ปี บัตรนี้ใช้สำหรับมารดาที่ตั้งครรภ์และจำเป็นต้องใช้บริการอนามัยแม่และเด็ก

ในปีพ.ศ. 2530-2534 เป็นช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอโครงการบัตรสุขภาพโดยสมัครใจขึ้น โดยใช้วิธีการและแนวทางของบัตรสุขภาพเป็นหลัก และได้กำหนดรูปแบบในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล ที่ผู้รับบริการต้องได้รับการพิจารณาจากกรรมการกองทุนบัตรประกันสุขภาพหรืออาสาสมัครสาธารณสุขก่อน มีการส่งต่ออย่างมีขั้นตอน ผ่านสถานีอนามัย โรงพยาบาลจังหวัด จึงจะไปรับบริการที่โรงพยาบาลศูนย์ได้

ในปีพ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 กระทรวงสาธารณสุขเปลื่ยนชื่อเป็น “โครงการประกันสุขภาพโดยสมัครใจ” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนจัดตั้งกองทุนในปีแรก 50 ล้านบาท ซึ่งยังคงมีการจำหน่ายบัตรประกันสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไปประเภทเดียว ที่เรียกว่า “บัตรครอบครัว” โดยประชาชนจ่ายเงินร่วมกับภาครัฐ คือ กระทรวงสาธารณสุขจ่าย 500 บาท ประชาชนจ่าย 500 บาท ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้หลังจากจ่ายเงินแล้ว 15 วัน มีอายุการใช้ 1 ปี เว้นแต่เป็นการต่ออายุในกำหนดจากบัตรเดิม  มีการกำหนดจำนวนสมาชิกบัตรประกันสุขภาพ ไว้ว่า บุคคลในครอบครัวเดียวกัน มีชื่อในทะเบียนบ้านเดียวกัน ได้แก่ สามี ภรรยา และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่ยังโสด บิดามารดาของสามีหรือภรรยา หรือบุคคลอื่น ที่รวมกันแล้วมีจำนวนไม่เกิน 5 คน/บัตร และหากมีการออกบัตรแล้วไม่สามารถเพิ่มชื่อได้อีก ซึ่งสิทธิการรักษานั้น  สามารถรับบริการทางการแพทย์และอนามัยโดยไม่คิดมูลค่า ไม่จำกัดจำนวนครั้งและวงเงิน

ต่อมาในปีพ.ศ. 2541 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเพิ่มมูลค่าบัตรเป็น 1,500 บาท โดยกระทรวงสาธารณสุขจ่าย 1,000 บาท ประชาชนจ่าย 500 บาท ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการประกันสุขภาพโดยสมัครใจในลักษณะดังกล่าวมาจนถึง พ.ศ. 2544 ที่ได้มีการเปลื่ยนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

เอกสารอ้างอิง

1.เทียนฉาย กีระนันท์,บรรณาธิการ. การประเมินโครงการบัตรสุขภาพ.กองแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข, 2533

2.ปรากรม วุฒิพงศ์, บรรณาธิการ.ระบบประกันสุขภาพของไทย .ศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัย มหิดล: นครปฐม. 2532

3. สุชาติ คลังชำนาญ.ทัศนะและความรู้ของประชาชนต่อบัตรประกันสุขภาพภาคสมัครใจในจังหวัดหนองคาย.สารนิพนธ์ในการศึกษาตามหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2540

4. วรีรัตน์ ใจสูงเนิน. การรับรู้และการใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน กรณีศึกษาอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ.การค้นคว้าอิสระในการศึกษาตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิทยาการสังคมและการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2551