ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานราชวิทยาลัยสูติฯ หนุน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีฯ เร่งแพทยสภาออกกฎหมายตาม

ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก 

ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ....ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ ว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ร่วมกันร่างมาเป็นเวลานาน ผ่านการประชาพิจารณ์มาหลายรอบ เพราะฉะนั้นกฎหมายก็ควรที่จะเดินหน้าออกมาในหลักการกว้างๆ ซึ่งต่อจากนี้จะเป็นเรื่องที่แพทยสภาจะต้องไปออกกฎหมายมาควบคุมให้ครอบคลุมมากขึ้นในด้านของมาตรฐานทางวิชาชีพ มาตรฐานการให้บริการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดห้ามทำการอุ้มบุญให้กับกลุ่มรักร่วมเพศ ในขณะที่ประกาศของแพทยสภาห้ามเรื่องนี้เอาไว้อย่างชัดเจนจะกลายเป็นการลักลั่นและซ้ำปัญหาทำให้ไม่สามารถเอาผิดผู้ว่าจ้างหรือไม่ ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มี แต่มีอยู่ในข้อกำหนดตามมาตรา 16 ที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่แพทยสภากำหนด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บางประเทศอนุญาตให้คู่รักร่วมเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้นั้น หากจะมาทำอะไรในประเทศไทยก็ต้องยึดหลักการตามกฎหมายไทยคือไม่สามารถทำอุ้มบุญให้ได้  

“ที่เราอยากจะฝากคือการที่คนเราไม่สามารถมีลูกได้นั้นถือเป็นโรค ดังนั้นทำไมเราถึงจะต้องปิดกั้นการรักษา แต่เราก็ต้องคำนึงถึงเรื่องจริยธรรมและความพร้อม ยึดหลักการที่เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากของคู่สามี ภรรยา และผู้ที่รับอุ้มบุญต้องเป็นญาติโดยสายเลือดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ กล่าว