ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย ร่วมสถานสงเคราะห์หญิงชรา บ้านสุทธาวาสฯ จัดงาน"วันรู้ทัน ป้องกันสมองเสื่อม"เพื่อให้ผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มสมองเสื่อมสูงขึ้นได้รับการดูแล เผยสถิติผู้สูงวัยไทยสมองเสื่อมกว่า 4 แสนคน

18 ก.ย.57 นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันรู้ทัน ป้องกันสมองเสื่อม ณ ศูนย์การค้าสีลมคอมเพล็ก ว่า จากการสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทย ปี 2556 โดยกรมอนามัย ร่วมกับ HITAP พบว่าผู้สูงอายุไทยมีเพียงร้อยละ 5 ที่มีสุขภาพดี แข็งแรง ขณะที่ร้อยละ 95 มีความเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 41 โรคเบาหวาน ร้อยละ 18 ข้อเข่าเสื่อมร้อยละ 9 เป็นผู้พิการร้อยละ 6 โรคซึมเศร้าร้อยละ 1 และนอนติดเตียงร้อยละ 1 โดยผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม พบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2543 มีผู้ป่วยสมองเสื่อมทั่วโลก 25 ล้านคน และปี 2556 ทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมจำนวน 44 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีผู้ป่วยสมองเสื่อมในวัยสูงอายุกว่า 4 แสนคน และคาดว่าจะเพิ่มตามจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งพบภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ โดยพบว่า ความชุกของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุมีร้อยละ 12.4

ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนและสัดส่วน พบว่าปี 2555 ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป คิดเป็น ร้อยละ 7.4 หรือ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 12.59 และคาดการณ์ ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ซึ่งหมายถึง มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 หรืออาจกล่าวได้ว่า ในปี 2564 หรืออีก 10 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคม สูงวัยอย่างสมบูรณ์ : Aged Society และจากนั้นอีกเพียง 10 ปี ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ดังนั้น ปัญหาภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคัดกรองและป้องกัน เนื่องจากเป็นการเสื่อมตามวัย ส่งผลให้ครอบครัว ชุมชน สังคม และระบบบริการสุขภาพ มีภาระในการดูแลเพิ่มสูงขึ้น คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยสมองเสื่อม และสมาชิกในครอบครัวลดลง การรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายในสังคม ต้องมีการพัฒนาและจัดการองค์ความรู้อย่างบูรณาการ ลงไปสู่การดูแลผู้สูงอายุที่เสี่ยง หรือมีภาวะสมองเสื่อม

ทั้งนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาสุขภาพ โดยการคัดกรองผู้ป่วยสมองเสื่อมเบื้องต้น การพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูล การอบรมอาสาสมัคร การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาระบบบริการในการดูแลผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม การจัดสภาพแวดล้อมให้มั่นคงปลอดภัย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รู้จักตนเองและสิ่งรอบตัวตามความเป็นจริง เช่นการดำเนินงานตำบลดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (ตำบล Long Term Care) การพัฒนาคลินิกผู้สูงอายุคุณภาพ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงระบบบริการอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียม และเตรียมความพร้อม รับการเปลี่ยนแปลงของสังคมผู้สูงอายุ กับภาวะสมองเสื่อม"นายแพทย์ณรงค์ กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดงานวันรู้ทัน ป้องกันสมองเสื่อม ซึ่งกรมอนามัยได้ร่วมกับสถานสงเคราะห์หญิงชรา บ้านสุทธาวาส เฉลิมพระเกียรติฯ สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในครั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ บอร์ดนิทรรศการความรู้เรื่องอาหารและการดำรงชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลโรคสมองเสื่อม กิจกรรมฝึกสมองและหัตถกรรม และทดสอบสมรรถภาพสมอง พร้อมปรึกษาปัญหาเรื่องโรคสมองเสื่อมและสุขภาพทั่วไป เป็นต้น