ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจวิเคราะห์อาหารเจ 75 ตัวอย่าง พบสารปนเปื้อนโดยพบยาฆ่าแมลงในผักคะน้า และวัตถุกันเสียเกินค่ามาตรฐานในผักกาดดอง เกี่ยมฉ่าย โดยเฉพาะหัวไชโป้วและกาน่าช่ายพบทุกตัวอย่าง นอกจากนี้ยังตรวจพบ DNA เนื้อสัตว์ในอาหารเจอีกด้วย แนะประชาชนควรล้างน้ำหรือผ่านความร้อนก่อนนำไปประกอบอาหารจะช่วยลดปริมาณการตกค้างได้ และควรซื้ออาหารเจเลียนแบบเนื้อสัตว์ที่มีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขทะเบียนสารบบอาหาร ที่ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยจากสารตกค้างและไม่ถูกหลอกลวง

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหารมีโครงการการตรวจเฝ้าระวังอาหารในช่วงเทศกาลเป็นประจำทุกปี และในปี 2557 ได้ออกสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารเจ จาก ตลาดเยาวราช และตัวอย่างตามแผนเฝ้าระวังที่ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งสิ้น 75 ตัวอย่าง โดยผักสดเก็บตัวอย่างระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2557ตรวจโดยวิธีทางห้องปฏิบัติการผักสด 4 ชนิด ได้แก่ กะหล่ำปลี 4 ตัวอย่าง คะน้า 10 ตัวอย่าง แครอท 7 ตัวอย่าง ผักกาดขาว 10 ตัวอย่างจำนวนรวม 31 ตัวอย่าง ตรวจพบสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ในผักชนิดเดียวคือ คะน้า จำนวน 4 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13  โดยสารที่ตรวจพบ ได้แก่ chlorpyrifoscypermethrinและ profenofos ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง น้อยกว่า 0.05 – 0.64 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ส่วนอาหารหมักดอง ได้แก่ ผักกาดดอง เกี่ยมฉ่าย กานาช่าย  หัวไชโป้ว ตรวจวิเคราะห์วัตถุกันเสียและสารห้ามใช้ โดยวิธีทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 21 ตัวอย่าง ตรวจไม่พบสารกันรา(กรดซาลิซิลิค) และผงกรอบ(สารบอร์แรกซ์) ทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบวัตถุกันเสีย (กรดเบนโซอิด) เกินค่ามาตรฐาน จำนวน 17 ตัวอย่างคิดเป็นร้อยละ 81 โดยพบใน ผักกาดดอง/เกี่ยมฉ่าย(ร้อยละ43)  หัวไชโป้ว(ร้อยละ100) กานาช่าย(ร้อยละ 100) ปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 1,022-6,279 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อาหารเจทั่วไปที่ทำมาจากแป้งสาลี่หรือบุกได้แก่ หมี่กึ่งสำเร็จรูปจำนวนทั้งหมด 10 ตัวอย่างตรวจไม่พบผงกรอบ (สารบอร์แรกซ)ทุกตัวอย่าง  นอกจากนี้ได้ตรวจหา DNA เนื้อสัตว์จำเพาะ ได้แก่ เต้าหู้ปลาเจ ไส้กรอกไก่เจ ทอดมันเจ ก้ามปูเจ ลูกชิ้นเจ ปลาเค็มเจ จำนวน 13 ตัวอย่าง ตรวจพบ DNA เนื้อสัตว์ จำนวน 7 ตัวอย่างในอาหารเจทุกประเภทที่ไม่มีฉลากคิดเป็นร้อยละ 54

น.พ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างผักสดที่นำมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเป็นตัวอย่างที่ไม่ได้ผ่านการล้างทำความสะอาดก่อนตรวจวิเคราะห์ สารเคมีที่ตรวจพบทั้ง 3 ชนิดเป็นสารที่ไม่ดูดซึมในพืช ละลายน้ำได้ดี ดังนั้นในการนำไปประกอบอาหาร ควรล้างทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณการปนเปื้อนของสารที่ตกค้างได้ ส่วนกรดเบนโซอิดและกรดซอร์บิคเป็นวัตถุกันเสียที่มีความเป็นพิษต่ำ ละลายได้ในน้ำและถูกทำลายได้ด้วยความร้อน แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้ สำหรับผู้ที่แพ้สารนี้แม้ได้รับปริมาณน้อยก็อาจจะแสดงอาการได้ เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ดังนั้นไม่ควรบริโภคครั้งละมากๆ และควรล้างน้ำหรือผ่านความร้อนก่อนนำไปประกอบอาหารจะช่วยลดปริมาณการตกค้างได้ ส่วนอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ควรเลือกซื้ออาหารชนิดที่มีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขทะเบียนสารบบอาหาร ที่ชัดเจน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีการแปรรูปและรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์มากจนเกินไป  เพราะอาหารเจที่ไม่มีฉลากทำให้ไม่ได้มีการตรวจสอบแหล่งผลิตว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เพราะบางครั้งอาจใช้สายการผลิตเดิมที่ใช้ในการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ไม่ได้มีการทำความสะอาดที่ดีพอก็จะทำให้พบการปะปนของเนื้อสัตว์ในอาหารเจได้