ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ในสังคมไทยมักมองว่า ความพิการทั้งทางร่างกายและสติปัญญา เป็นเรื่องของบุญและกรรม หากครอบครัวใดมีบุตรหลานที่พิการ ก็มักจะถูกปล่อยไปตามยถากรรม มองว่าเลี้ยงให้มีชีวิตรอดเพื่อชดใช้กรรม แต่ไม่เคยมองหาในเรื่องของการฟื้นฟูสมรรถภาพของคนพิการเหล่านี้”

นพ.พิสุทธิ์ พรสัมฤทธิ์โชค

จากคำกล่าวของ นพ.พิสุทธิ์ พรสัมฤทธิ์โชค หัวหน้าโครงการอาชาบำบัด คลินิกบำบัด ฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิเศษเด็กพิการ รพ.จอมทอง ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่สละตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.แม่แจ่ม มาเป็นผู้ปิดทองหลังพระให้กับเด็กพิการ ออทิสติกและดาวน์ซินโดรม ด้วยการใช้วิธีอาชาบำบัดฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้เด็กเหล่านี้มีพื้นที่ยืนในสังคมได้อีกครั้ง

นพ.พิสุทธิ์ เล่าว่า โครงการอาชาบำบัดของ รพ.จอมทอง เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 โดยเป็นความชอบส่วนตัว ที่ตนเองชอบม้า อีกทั้งการจากศึกษาหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ตและอีกหลายช่องทางจึงพบว่า เด็กพิการเหล่านี้ พวกเขาสามารถฟื้นฟูร่างกายได้ด้วยการใช้ม้าบำบัด ซึ่งในทางการแพทย์พบว่า เด็กพิการ เด็กออทิสติก หรือดาวน์ซินโดรม มักมีปัญหาเรื่องของกล้ามเนื้อ หากได้รับการฟื้นฟูเด็กๆเหล่านี้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระของครอบครัว

เมื่อกล่าวถึงโครงการอาชาบำบัด นพ.พิสุทธิ์ กล่าวว่า ต้องขอบคุณ ผอ.รพ.จอมทองที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีเปิดโอกาสให้ตนได้ทำโครงการอาชาบำบัดในโรงพยาบาล  ซึ่งการทำโครงการนี้มีเรื่องน่าเศร้าใจมาก เพราะงบของรัฐที่ให้มา ไม่สามารถนำมาใช้ในโครงการได้ งบประมาณที่ได้จึงเป็นการจัดสรรงบที่มาจากการบริจาค หรือไม่ก็เป็นเงินส่วนตัวของตนเอง อย่างเช่นม้าแกลบที่ใช้ในการบำบัด ที่มีราคาเริ่มต้นหลักหมื่น จนไปถึงหลักแสน รวมถึงการดูแลม้า และผู้ดูแลที่เราใช้อดีตผู้ป่วยทางจิตเวชเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการดูแลม้าและเด็กบางส่วน ซึ่งงบประมาณตรงนี้ไม่สามารถเบิกจากภาครัฐ โดยเฉพาะคนซึ่งขัดกับเงื่อนไขในระบบราชการ ที่ระบุว่า ต้องไม่เคยหรือเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช  ปัจจุบันโครงการมี ม้า 4 ตัว ต่อเด็กประมาณ 30 คน ส่วนค่าใช้จ่ายต่อปีนั้นมากถึงหลักแสน

ดังนั้นเพื่อให้โครงการได้ดำเนินการต่อเนื่องต่อไป จึงได้มีการจัดตั้งเป็นกองทุนขึ้นมา คือ กองทุนเพื่อเด็กพิเศษ/เด็กพิการ รพ.จอมทอง ธนาคาร กรุงเทพ เลขที่บัญชี 395-0-60614-9 ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางในการรับบริจาคเงินเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

สำหรับเด็กกลุ่มนี้การใช้อาชาบำบัดให้ได้ผลดีต้องเริ่มตั้งแต่ระยะแรก ในต่างประเทศพบว่า หากได้รับการดูแลฟื้นฟูในช่วง 6 เดือนแรกจะให้ผลได้ แต่สำหรับคนไทยแล้วกว่าจะได้รับการฟื้นฟูได้เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือนไปแล้ว นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับรอยโรคหรือภาวะที่พิการของเด็กด้วย ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับรอยโรคแต่ละบุคคลด้วย แต่อย่างน้อยใช้เวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป

“การขี่ม้าจะช่วยในเรื่องของการทรงตัว กล้ามเนื้อ และการปฏิสัมพันธ์กับพี่เลี้ยง นอกจากนี้การบำบัดยังได้ใช้วิธีอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การปีน การเล่นแบบต่างๆ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการฟื้นฟูแบบบูรณาการ โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องผ่านการคัดกรองจากโรงเรียน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อน ”

นพ.พิสุทธิ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีกลุ่มเด็กพิการ เด็กพิเศษ มากถึง 8 แสนคน แต่มีเพียง 10-13% ที่สามารถเข้าถึงการบำบัดฟื้นฟู อีกทั้งการบำบัดฟื้นฟูเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ความอดทน และความต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กพิการหลายคนพลาดโอกาสในการเข้าถึง อีกทั้งคนไทยยังมีค่านิยมมองว่า ความบกพร่องดังกล่าวเป็นเรื่องของบุญและกรรม เมื่อใครมีลูกที่เป็นแบบนี้จึงปล่อยไปตามยถากรรม ซึ่งต่างกับต่างประเทศที่มองว่ากลุ่มคนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟู เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง

“คนพิการในต่างประเทศเขาไม่ต้องการความสงสารจากใคร แต่เขาต้องการเพียงโอกาส ผิดกับบ้านเรา ที่จะให้แต่ความสงสารแก่คนพิการ แต่ไม่เคยให้โอกาสในการมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี อาชีพของคนพิการส่วนมากจึงอยู่แค่คนขายลอตเตอรี่ ขอทาน หรืออยู่กับบ้านเฉยๆ คนพิการในบ้านเราแทบจะไม่มีความภูมิใจในตนเองเลย”

ทุกวันนี้โรงพยาบาลในบ้านเราเป็นเหมือนอู่ซ่อมรถยนต์ ที่ตั้งรับรักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชน ตนหวังว่าอยากให้โรงพยาบาลนอกจากจะรักษาผู้ป่วยแล้ว ควรจะมีหน้าที่ช่วยฟื้นฟูทั้งผู้ที่เจ็บป่วยและคนพิการ เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนเหล่านี้  โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะยากจน

ทั้งนี้สาเหตุที่ นพ.พิสุทธิ์ ได้เลือกทางเดินที่จะลาออกจากการเป็นผู้อำนวยการ รพ.แม่แจ่ม แล้วมาเป็นแพทย์ที่ให้การดูแลกลุ่มเด็กพิเศษโดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆนั้น  นพ.พิสุทธิ์ บอกว่า ช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง ผอ.รพ.แม่แจ่มนั้น ตนได้ทำงานต่อต้านยาเสพติดอย่างมาก จึงเป็นที่หมายหัวของพ่อค้ายาเสพติด จึงได้ลาออกมา อีกทั้งการทำงานในระบบราชการตนมองว่ามันไม่น่าอยู่  ส่วนการทำงานนอกระบบราชการมีความคล่องตัว มีอิสระในการทำงาน และมีความสุขอย่างมาก ตนจึงได้เดินออกมา เพื่อมาทำงานให้กับเด็กพิเศษอย่างเต็มที่ด้วยใจที่มีความสุข

เรื่องที่เกี่ยวข้อง