ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เภสัชกรทั่วประเทศกว่า 300 คน เข้าพบเลขาธิการอย. แสดงจุดยืนคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ ฉบับละเลยประชาชน ห่วง 7 ประเด็นหลักทำให้ประชาชนเกิดความเสี่ยงในการใช้ยา ทั้งสร้างความเสียหายต่อระบบยาของไทย กระทบต่อความมั่นคงทางยาและการแข่งขัน ยื่นข้อเรียกร้อง จี้อย.ถอนร่าง พ.ร.บ.ยา ออกจากการพิจารณาของสนช. และนำกลับไปพิจารณาใหม่โดยผ่านการมีส่วนร่วมให้ถูกต้อง เพื่อให้คุ้มครองประชาชนและเป็นธรรม ด้าน อย. เผยผลประชุมร่วมให้ตั้งคณะทำงานพิจารณาหลังมีเสียงค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ให้เสร็จใน 2 สัปดาห์

9 ต.ค.57 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุข ภก.บรรเจิด เดชาศิลปะชัยกุล ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม พร้อมด้วยเภสัชกรจากทุกภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ  เอกชน และนักวิชาการ จำนวนประมาณ 300 คนร่วมกันเข้าพบ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการอย. พร้อมรายชื่อผู้คัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าว 7,600 รายชื่อ และแถลงการณ์คัดค้าน โดยหลังยื่นแถลงการณ์เสร็จได้เข้าห้องประชุมเพื่อพูดคุยหารือถึงประเด็นต่างๆ โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยทางเครือข่ายฯ ยืนยันว่าหากร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางยา ประชาชนมีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากการใช้ยา เสี่ยงได้รับอาหารที่มีสารปนเปื้อนยาและสารเคมี และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมอาหารกับต่างประเทศ

ภก.บรรเจิด เปิดเผยว่า การมาพบเลขาธิการอย.ในวันนี้นั้น เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งกลับมาให้พิจารณา เนื่องจากขาดความโปร่งใส  ไม่มีการทำประชาพิจารณ์  ส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน  เช่น อนุญาตให้ผสมยาโดยไม่มีการควบคุม ไม่มีข้อกำหนดห้ามโฆษณายาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ  ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงและใช้ยาเกินจำเป็น  เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาเพื่อการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทยที่เป็นองค์กรในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม จึงคัดค้านและเสนอให้อย.แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาในประเด็นข้อบกพร่อง 7 ประเด็นหลัก ได้แก่                                                                                                                                     

1.การแบ่งประเภทยาไม่เป็นไปตามหลักสากล

2.การยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพหลายสาขาไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขาย นำเข้ายา

3.การอนุญาตให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านยาเป็นผู้ดำเนินการและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติในการการทำหน้าที่จัดการและควบคุมการผลิต ขาย นำเข้ายา

4.การอนุญาตให้ต่ออายุทะเบียนตำรับยาโดยไม่มีการทบทวนทะเบียนตำรับยา และมีข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบ  วิชาชีพผสมยาได้ไม่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยา

5.การอนุญาตให้โฆษณายาทุกประเภทและโฆษณารักษาโรคที่ร้ายแรงได้และไม่มีการควบคุมการส่งเสริมการขาย

6.ไม่มีข้อห้ามการผลิตและการขายยาชุด

7.ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด และกรณีที่มีบทลงโทษแต่ไม่เป็นธรรม และไม่มีโทษทางปกครอง

ภก.บรรเจิด กล่าวต่อว่า ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่ายองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมขอเรียกร้องให้อย. ไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้  และต้องถอนเรื่องไม่นำเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้นำกลับไปพิจารณาใหม่เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยผ่านการมีส่วนร่วมจากเภสัชกรและผู้เกี่ยวข้องตามข้อเสนอ  ให้ถูกต้องและเอื้ออำนวยต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมก่อนให้ความเห็นชอบ 

ทั้งนี้เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมทั้งเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพและประชาชน จะร่วมกันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่นี้ โดยการแต่งชุดดำ เสื้อกาวน์ และปิดป้ายคัดค้าน ที่หน่วยงานสาธารณสุขทุกแห่งตลอดเดือนจนกว่าจะมีการแก้ไชร่าง พ.ร.บ.ยา เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่ประชาชนต่อไป

ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ตามที่มีข้อกังวลต่อร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ที่จะใช้แทนพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเสนอกลับมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยที่ยังมีหลายภาคส่วนมีข้อคิดเห็นแตกต่างกัน ในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะส่วนของวิชาชีพเภสัชกรรม เช่น เภสัชสาธารณสุขจังหวัด เภสัชกรโรงพยาบาล ภาคการศึกษาเภสัชศาสตร์ และสภาเภสัชกรรม เป็นต้น อย. ขอชี้แจงว่า อย. ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจากการหารือในวันนี้ ( 9 ต.ค. 57 ) ที่ประชุมได้เห็นพ้องว่ามีบางประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกัน จึงให้มีการตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ร่วมกันให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆต่อไป ก่อนจะสรุปหาข้อยุติเสนอกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา

นพ.บุญชัย กล่าวว่า ขอให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ อย. ที่มีเจตนารมณ์แน่วแน่ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา และมิให้เกิดความเสียหายต่อระบบยาของประเทศไทย พร้อมยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยา รองรับการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง