ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เวลาเข้าไปในชุมชน จะพบผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยติดเตียงติดบ้าน พึ่งพาตนเองไม่ได้ ผู้พิการ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย คนแก่ติดบ้านติดเตียง คนแก่ดูแลคนแก่ ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้ คุณภาพชีวิตไม่ดี เป็นโจทย์ให้กลับมาคิดว่า ทำอย่างไร ถึงจะทำให้คนเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น” จากคำกล่าวของ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นปี 2553-2554   

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล (ซ้ายสุด) เมื่อครั้งได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นปี 2553-2554   

นพ.สันติ เล่าว่า โครงการ Care team รพ.ลำสนธิ เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เกิดขึ้นด้วยใจ จากการที่ได้เข้าไปในพื้นที่ เห็นบริบทของพื้นที่ ที่มีแต่ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ บางคนญาติไม่สามารถดูแลได้เพราะต้องไปทำมาหากิน จึงได้จัดให้มีการดุแลคนกลุ่มนี้ โดยแบ่งลักษณะในการดูแลออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการดูแลทางการแพทย์ เช่น ทำแผล ดูแลสายสวนต่างๆ ดูแลการให้ยา ส่วนที่สองเป็นการดูแลกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ ป้อนอาหาร ออกแบบระบบให้มีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยเป็นคนรับผิดชอบดูแล มีเจ้าหน้าที่รพ. ไปร่วมเป็นทีมดูแลเดียวกันกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย

ซึ่ง ทีมรพ. นอกจากพยาบาลแล้ว ยังประกอบด้วย นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา นักโภชนาการ ลงไปเป็นทีม แบ่งโซนกันดูแล ดูแลตามสภาพของผู้ป่วยแต่ละราย นักกายภาพจะทำกายภาพบำบัดให้คนที่ติดเตียง ช่วยเหลือตนเองได้น้อยหรือไม่ได้เลย พยาบาลจะดูแลสายสวนต่างๆ นักโภชนาการจะดูภาวะโภชนาการ ส่วนนักจิตวิทยาก็จะให้กำลังใจทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัว ซึ่งในระยะแรกๆ จะมีอาสาสมัครตามไปช่วยดูแลคนเหล่านี้ในชุมชนด้วย

เมื่อกล่าวถึงโครงการนักบริบาลในชุมชน (Caregiver) นพ.สันติ กล่าวถึงที่มาว่า ได้มีการไปคุยและจับมือร่วมกันกับเครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นและเป็นภาคีที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด ก็คือ อบต. ให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการจ้างคนเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในหมู่บ้านของตน โดยผู้ที่จะเป็นนักบริบาล จะต้องมาทำการอบรมเพื่อเป็นนักบริบาล มีการทดลองงาน และต้องผ่านประเมินโดยเจ้าหน้าของโรงพยาบาลก่อน ถึงจะไปทำหน้าที่ได้

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล

การทำงานของนักบริบาลในชุมชนนั้น ต้องมีใจรัก เพราะมีลักษณะกึ่งจิตอาสา เงินค่าตอบแทนที่ได้ไม่มากนัก เดือนละ 5,000 - 5,500 บาท แต่ก็ยังพอยังชีพได้ นักบริบาลเมื่อผ่านการประเมินก็จะมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วย คนละ 2-3 หมู่บ้าน ตอนนี้มีนักบริบาลอยู่ทุกอบต. กระจายกันอยู่ทั้งอำเภอประมาณ 30 คน ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุทั้งหมดทั้งป่วยและไม่ป่วย ผู้ป่วยติดเตียงทั้งหมด ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช และเด็กLD ทำงานจันทร์ถึงศุกร์ การทำงานของนักบริบาลจะมีพยาบาลจากรพ.สต.และรพ.ลำสนธิคอยกำกับช่วยเหลือ และเป็นผู้รับผิดชอบหลักของนักบริบาลคนนั้นๆ พยาบาลจากรพ.สต.และรพ.ลำสนธิที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ หรือ care manager จะทำหน้าที่ประเมินสภาพผู้ป่วยก่อน  แล้วจึงมอบหมายงานให้กับนักบริบาลชุมชน เพราะจะมีการกำหนดเกณฑ์ในการเยี่ยมไว้ว่า รายใดเยี่ยมได้โดยนักบริบาลชุมชนเอง รายใดต้องเยี่ยมโดยเจ้าหน้าที่ หรือต้องเยี่ยมร่วมกัน

หากจะมองปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของรพ.ลำสนธิ หรือ ลำสนธิโมเดล นั้น นพ.สันติ กล่าวว่า รูปแบบการทำงานของลำสนธิ เรานำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาทำให้ชัดขึ้น รพ.และรพ.สต. ทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วดึงอบต.เข้ามาร่วม ทำงานโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มีบ้านผู้ป่วยเป็นฐานให้บริการ ยึดหลักการ 3 อย่าง ได้แก่ 1.ทุกครอบครัวจะมีหมอเจ้าของครอบครัว โดยที่หมอเจ้าของครอบครัวนั้น ไม่ใช่แพทย์ แต่จะเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ใกล้ชิดกับครอบครัว 2.ทีมสุขภาพจะมีจนท.จากรพ.สต. รพช. มาจัดทีมทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียวกัน และมีการดึงภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิชาชีพสุขภาพมาร่วมในการดูแล เช่น อบต. นักบริบาลชุมชน ซึ่งทั้งสามส่วน จะถูกนำมารวมกันเป็นทีมประจำครอบครัว

เมื่อถามถึงความเชื่อมโยงกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจากการแถลงนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ณ รร.เซนทราศูนย์ราชการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ระบุว่า จะพัฒนาหมอประจำครอบครัวดูแลประชาชนทุกครัวเรือนในชนบท รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการระบบสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพึง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้าย โดยนำเสนอรูปแบบลำสนธิ นั้น นพ. สันติ ให้ความเห็นว่า นโยบายนี้น่าจะเกิดขึ้นได้ และจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลในชนบท