ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต เผย ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงทางสังคมที่นำเสนอผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ จำนวน 48 ฉบับ สื่อโทรทัศน์ จำนวน 10 สถานี เว็บไซต์และสำนักข่าวออนไลน์ จำนวน 40 เว็บไซต์ พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงทางสังคมและการเมือง ความรุนแรงในชายแดนใต้ ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่น ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกปี (ปี 2556 รวมจำนวน 21,456 ครั้ง ปี 2557 รวมจำนวน 29,238 ครั้ง) ล่าสุด ปี 2557 ความรุนแรงทางสังคมและการเมือง ถูกนำเสนอ จำนวน 10,246 ครั้ง ความรุนแรงในชายแดนใต้ จำนวน 7,843 ครั้ง ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก จำนวน 5,064 ครั้ง ความรุนแรงในครอบครัว จำนวน  4,737 ครั้ง และความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่น จำนวน 1,348 ครั้ง

สถานการณ์ที่สร้างความสะเทือนขวัญและกระทบจิตใจผู้คนในสังคม อาทิ การฆ่าและจ้างวานฆ่าบุพการี การฆ่ายกครัว การฆ่าข่มขืนเด็กหญิงที่เกิดขึ้นหลายกรณี หรือการทะเลาะวิวาทยิงกันเสียชีวิตบนรถเมล์ของวัยรุ่น ฯลฯ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้สะท้อนว่า เป็นการบ่งบอกถึงภาวะทางอารมณ์ของคนเราที่ขาดการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน ความรุนแรงและความสูญเสียจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้น จึงควรรักษาอารมณ์ให้ดีกันเข้าไว้ เนื่องจากอารมณ์ดีเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรค ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง มีความคิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา ปรับตัวเก่ง สร้างสัมพันธ์ได้ดี รู้จักตัวเอง มีพฤติกรรมการแสดงออกที่เหมาะสม และทำให้มีอายุยืนยาว หากเราทุกคนสามารถจัดการอารมณ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อารมณ์ย่อมดี ตนเองและคนรอบข้างก็มีความสุข ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ก็ย่อมมีความสุขด้วยเช่นกัน และ เนื่องในสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2557 ซึ่งตรงกับวันที่ 1-7 พฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 กรมสุขภาพจิตจึงขอเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมกันสร้างอารมณ์ดีเพื่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืน โดย รณรงค์ภายใต้หัวข้อ "ร่วมสร้างอารมณ์ดี...ให้ทุกชีวีมีความสุข"

การสร้างสรรค์อารมณ์ดีมีความสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะหลัก 3 ใจ ให้ลองไปฝึกปฏิบัติร่วมกัน ได้แก่ สบายใจ พอใจ และภูมิใจ

สบายใจ คือ การทำใจให้สบายไม่เคร่งเครียดจนเกินไป ที่สำคัญ รู้จักจัดการกับอารมณ์ทางลบ ได้แก่ โกรธ กลัว วิตกกังวล เทคนิค คือ จับสัญญาณเตือนของอารมณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด เช่น หัวใจเต้นแรง กล้ามเนื้อเริ่มเกร็ง เหงื่อไหล หน้าเริ่มร้อน หรือ หน้าเริ่มซีด เมื่อรู้ถึงอาการที่เกิดขึ้นก็ควรหยุดนิ่งสักพัก รู้ทันสถานการณ์ที่มากระตุ้นอารมณ์ เช่น โกรธ เมื่อรู้สึกว่าถูกดูหมิ่น จึงควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์หรือสิ่งต่างๆ ที่อาจเข้ามากระตุ้นให้เกิดอารมณ์โกรธ จัดการอารมณ์ให้เป็นอย่างถูกวิธี ลดอารมณ์โกรธให้ได้ โดยอาจใช้เทคนิคควบคุมพฤติกรรม เช่น พักยกหรือหยุดชั่วคราว นับเลขถอยหลังจาก 10 ถึง 1 ขอเวลาไปห้องน้ำ หรือดื่มน้ำสักแก้ว สูดลมหายใจลึกๆ เกร็งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ กล้าแสดงออกถึงความรู้สึกแต่ไม่ก้าวร้าว หลีกเลี่ยงความรู้สึกอคติที่เกิดขึ้น โดยบอกความรู้สึกตนเองอย่างตรงไปตรงมา ไม่กล่าวโทษ ด่วนสรุปหรือตัดสินอีกฝ่ายโดยไม่ไตร่ตรอง ขออภัยกับการกระทำที่เกิดจากการเข้าใจผิด รวมทั้ง สร้างบรรยากาศความไว้วางใจและใช้อารมณ์ขันเพื่อสร้างความอบอุ่น ส่วนการปลดล็อกอารมณ์ของคนอื่น สามารถทำได้โดย พยายามอ่านใจและอารมณ์ของอีกฝ่ายให้ได้ เช่น การถามตรงๆ ถึงความคับข้องใจหรือไม่สบายใจของอีกฝ่าย จัดการอารมณ์ของอีกฝ่าย โดยกล่าวขอโทษ หรืออาจขอเวลานอกเพื่อให้อีกฝ่ายคิดทบทวนอีกครั้ง ใช้ความสงบสยบความรุนแรง ไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียหน้า รวมทั้ง อาจหาผู้ช่วยไกล่เกลี่ยหรือประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้น ฯลฯ

พอใจ คือ รู้จักพอในสิ่งที่มีอยู่ เนื่องจาก คนที่รู้จักพอจะใช้ชีวิตเรียบง่าย ยอมรับผู้อื่นได้ง่าย จัดชีวิตได้อย่างลงตัว สมดุลทั้งด้านสุขภาพ การงาน และความสัมพันธ์ ชีวิตจึงเป็นสุขได้ง่าย

ภูมิใจ คือ ความภูมิใจในสิ่งที่ตนประสบผลสำเร็จ โดยสิ่งนั้นสร้างคุณค่าให้กับตัวเองและผู้อื่น เช่น การได้รับการยอมรับ ทำใน สิ่งที่รู้ว่าดีเป็นประโยชน์แก่สังคม ได้รู้จักให้ และช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ ซึ่งเมื่อมี 3 ใจนี้แล้ว อารมณ์ก็จะดี ความสุขก็จะตามมา "อารมณ์ดี สร้างได้ทุกเพศทุกวัย สร้างอารมณ์ดีกันแต่วันนี้ เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของพวกเราทุกคน"

ทั้งนี้ ประชาชนและผู้สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาและเทคนิคการฝึกทักษะต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์อารมณ์ดีให้เกิดขึ้นได้ ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตทุกแห่ง ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้มีนโยบายจัดให้มีบริการปรึกษาปัญหาผ่านศูนย์ให้คำปรึกษาคุณภาพ (Psychosocial Clinic) ซึ่งเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขจัดบริการดูแลช่วยเหลือทางสังคมจิตใจทุกกลุ่มวัย ในประเด็นปัญหาความรุนแรง สุรา/ยาเสพติด ท้องไม่พร้อม และโรคเรื้อรัง ซึ่งปัจจุบัน 95.45% ของหน่วยบริการสาธารณสุขสามารถให้บริการปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อีกด้วย