ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ลดหมออนามัยหน้าจอ  นพ.สุเทพ ผู้ช่วยปลัด ทำหนังสือแจ้งมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.57 ให้ยกเลิกบันทึกข้อมูลที่นอกเหนือ JHCIS, HosXP, Hos05 และยกเลิกบันทึกข้อมูล เช่น โปรแกรมยิ้มสดใส รายงาน SSRT เฝ้าระวังผู้ป่วยซึมเศร้า ตำบล/หมู่บ้านจัดการสุขภาพ ให้คัดกรองเบาหวาน/ความดันตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ไม่ใช่ 15 ปีขึ้นไป เป็นต้น พร้อมออกคู่มือปฏิบัติงาน version 2.0

8 พ.ย.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) มีหนังสือเลขที่ สธ. 0205.03/28241 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง การดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ ตามแนวทางการปฏิรูประบบข้อมูลสุขภาพ สธ. ปีงบประมาณ 2558 ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ลงนามโดย นพ.สุเทพ วัชรปิยานันท์ ผู้ช่วยปลัดสธ. โดยระบุว่า

ตามที่สธ. มีนโยบายให้มีการปฏิรูประบบข้อมูลสุขภาพ โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อลดภาระการจัดเก็บข้อมูลและการจัดทำรายงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ โดยมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่มีเวลาในการดูแลและให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง และมีข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพที่จำเป็น โดยไม่เพิ่มภาระกับเจ้าหน้าที่ จึงได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการระบบข้อมูลสุขภาพ เพื่อเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ต.ค.57 โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

1.รพ.สต. ในการบันทึกข้อมูลในแฟ้มที่จำเป็นเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมี 31 แฟ้ม และให้ยกเลิกการบันทึกข้อมูลที่อยู่นอกเหนือโปรแกรมพื้นฐาน (JHCIS, HosXP, Hos05) และยกเลิกการบันทึกข้อมูลโปรมแกรมอื่นๆ ดังต่อไปนี้

·        โปรแกรมยิ้มสดใส (sealant 2012) ซ้ำซ้อนกับข้อมูล 43 แฟ้มมาตรฐาน

·        Web รายงาน SSRT รายงานสถานการณ์เพื่อทราบหลังเกิดโรค เนื่องจากไม่ใช่การรายงานเพื่อการปฏิบัติงาน การติดตาม case สามารถใช้ข้อมูลจากข้อมูล surveillance ซึ่งมีใน 43 แฟ้ม

·        Web ระบบดูแลเฝ้าระวังผู้ป่วยซึมเศร้า

·        Web ประเมินมาตรฐานสุขศึกษา

·        Web การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ

·        Web รายงาน อสม. โครงการส่งเสริม อสม.เชิงรุก

·        Web ตำบลจัดการสุขภาพ

·        Web หมู่บ้านจัดการสุขภาพ

·        Web งานควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก รายงานการใช้วัคซีนเป็นรายบุคคล ประมวลได้จาก 43 แฟ้ม

·        Web โครงการลดการใช้พลังงานภาคราชการ (ให้รพ.สต.ส่งข้อมูลให้อำเภอเพื่อรวบรวมและทำรายงานต่อไป)

·        โปรแกรมตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น

·        การคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ให้ยกเลิกการบันทึกข้อมูล Verbal screening ปรับช่วงอายุการคัดกรองจาก 15 ปีขึ้นไป เป็น 35 ปีขึ้นไป

·        คัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้าและคัดกรองพัฒนาการเด็ก บันทึกเฉพาะผลการคัดกรอง ไม่ต้องนำรายละเอียดผลการคัดกรองมาบันทึก

2.โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ให้จัดสรรข้อมูลบริการรายบุคคลเพื่อรับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ให้จัดส่งตามระบบเดิมไปก่อน จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง หลังจากการจัดสรรเงินงบประมาณปี 58 มีความชัดเจน

นอกจากนั้น ยังได้จัดทำ คู่มือการปฏิบัติงาน การจัดเก็บข้อมูลและจัดส่งข้อมูล ตามโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลด้านสุขภาพ Version 2.0 (1 ตุลาคม 2557) ปีงบประมาณ 2558 โดยระบุว่า สธ.มีนโยบายปฏิรูประบบข้อมูลสุขภาพ เพื่อลดภาระการจัดเก็บข้อมูลและการจัดทำรายงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ให้ “หมออนามัย” มีเวลาในการดูแลและให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง และมีข้อมูลด้านสุขภาพที่จำเป็น รวมถึงมีข้อมูลที่มีคุณภาพใช้ในการกำหนดนโยบายและวางแผนการจัดการด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละระดับ เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ภาวะสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยไม่เพิ่มภาระกับเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ