ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.แรงงาน ประกาศเดินหน้าปฏิรูป สปส. ต้องโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้ มอบผู้บริหารหาคำตอบสร้างรพ.สปส.จะเป็นทางเลือกหรือภาระสำหรับผู้ประกันตน รวมถึงคัดกรองกรรมการประกันสังคมให้เป็นตัวแทนผู้ประกันตนอย่างแท้จริง ย้ำเงินลงทุนนอกต้องโปร่งใส ด้านปลัดแรงงานเผยบอร์ด สปส. ไฟเขียวลดจำนวนบอร์ดอนุกรรมการจาก13 ชุดเหลือ 4 ชุด
       
18 พ.ย.57 เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวถึงการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้มีความคล่องตัวและโปร่งใสอย่างแท้จริง ว่า เรื่องของ สปส. เป็นสิ่งที่ผู้ประกันตนอยากรู้ที่สุดว่ามีการบริหารจัดการเงินกองทุนอย่างไร และคาดหวังอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทำสิ่งนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตนจึงได้ย้ำกับ นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน และ นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการ สปส. ให้ถือเป็นโอกาสที่จะสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน จะต้องมาคิดว่าองค์กรของ สปส. ที่มีอยู่จะทำอย่างไรให้มีความคล่องตัว บริหารงานอย่างโปร่งใส ไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยตนได้ให้นโยบายไว้ คือ ทุกอย่างต้องโปร่งใส เปิดเผยและตรวจสอบได้เพราะสปส.ไม่ใช่องค์กรลับที่ต้องมีงบลับ
       
ทั้งนี้ เบื้องต้นให้ผู้บริหารกระทรวงแรงงานไปคิดแผนงานมานำเสนอ เช่น การสร้างโรงพยาบาลของ สปส. เป็นภาระหรือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกันตน รวมทั้งวิธีการคัดกรองกรรมการประกันสังคมให้ได้ตัวแทนผู้ประกันตนที่แท้จริง นอกเหนือจากการให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินแล้ว จะต้องมีเงื่อนไขอื่นรองรับอีกหรือไม่ รวมทั้งการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ วันนี้ผู้ประกันตนทราบหรือไม่ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์นำไปทำอะไร เนื่องจากขณะนี้มีการอนุมัติงบลงทุนต่างประเทศไปแล้ว 6 หมื่นล้านบาท จะต้องตอบคำถามผู้ประกันตนได้ว่าไปลงทุนอย่างไร
       
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า  ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข มีบางส่วนที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางคนยังไม่เห็นด้วย เช่น ประเด็นการให้ปลัดกระทรวงแรงงานยังเป็นประธานคณะกรรมการประกันสังคม โดยมองว่ากระทรวงแรงงานหวงอำนาจหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องพิจารณาถึงผลดีผลเสีย ขณะเดียวกัน มีคำถามจากผู้ประกันตนในเรื่องโครงการปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ประกันตน และสถานประกอบการโดยผ่านธนาคารพาณิชย์ ว่า มีการคัดเลือกธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างไร  ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่จะต้องทำให้ผู้ประกันตนคลายข้อสงสัย เนื่องจากเมื่อร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ จะทำให้ผู้ที่มาเป็นรัฐมนตรีต่อจากตนไม่ถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์
       
ด้านนายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปส. เมื่อเร็วๆ นี้ บอร์ดได้มีมติเห็นชอบลดจำนวนคณะอนุกรรมการในกองทุนประกันสังคม จาก 13 ชุด เหลือเพียง 4 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณ คณะอนุกรรมการการลงทุน คณะอนุกรรมการจังหวัดและคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงและติดตามตรวจสอบ เพื่อให้การบริหารกองทุนประกันสังคมมีความคล่องตัวมากขึ้น และลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน รวมทั้งประหยัดงบประมาณกองทุน ซึ่งที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการบางชุด ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งขึ้น เช่น คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐและหน่วยงานของสำนักประกันสังคมดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว