ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอ สปช.ตั้งสหภาพข้าราชการ คุ้มครองแรงงานวิชาชีพทำงานภาครัฐ พร้อมเตรียมขับเคลื่อน 4 ข้อเรียกร้องสร้างความเป็นธรรมให้กับพยาบาล เดินหน้าประชุมสัญจร 4 ภาร ระดมพยาบาลทั่วประเทศร่วมหนุน

29 พ.ย.57 นางมัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยได้มีการประชุมระดับแกนนำเพื่อวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนข้อเรียกร้อง 4 ประเด็น ซึ่งเป็นเพียงแค่การประชุมกลุ่มเล็กๆ ในการวางแผนดำเนินการ และต่อจากนี้ในปีหน้าตั้งแต่เดือนมกราคม ทางสหภาพพยาบาลฯ จะเดินหน้าจัดประชุมสัญจร 4 ภาค เพื่อชี้แจงแนวทางนโยบาย รวมไปถึงเพื่อระดมพยาบาลเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพพยาบาลฯ เบื้องต้นอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะให้มีแกนนำสหภาพพยาบาลฯ แต่ละจังหวัดในการประสานความเคลื่อนไหวต่างๆ ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการวางแผนขับเคลื่อน รวบรวมความเห็นว่าจะเดินหน้าอย่างไร

ทั้งนี้การดำเนินงานของสหภาพพยาบาลฯ เป็นไปในรูปแบบจิตอาสา การกุศล เพื่อช่วยกันเรียกร้องความเป็นธรรม ทั้งแง่ค่าตอบแทน สวัสดิการ และความก้าวหน้าวิชาชีพ โดยใช้เวลานอกเหนือจากการทำงานมาทำในเรื่องนี้ ซึ่งขณะมีสมาชิกพยาบาล 3,000 คนแล้ว

นางมัลลิกา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สหภาพพยาบาลฯ ยังเตรียมจะทำหนังสือถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อขอให้ออก พรบ.สหภาพข้าราชการ ให้มีการคุ้มครองแรงงานวิชาชีพที่ทำงานในส่วนราชการ ซึ่งรวมถึงวิชาชีพพยาบาล และให้มีกฎหมายรองรับในกรณีที่มีการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่นเดียวกับสหภาพแรงานทั่วไปอื่นๆ อย่างเช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น

“ตอนนี้อยู่ในระหว่างการร่างหนังสือเพื่อเสนอต่อ สปช. ให้ออกกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองแรงงานในภาคส่วนราชการ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น อย่างปัญหาค่าจ้าง ค่าตอบแทน ความไม่ก้าวหน้าในวิชาชีพ แต่กลับเรียกร้องได้ยาก ต้องมีการรวมตัวมากๆ ในการเคลื่อนไหว จึงจะได้รับความสนใจและแก้ไขปัญหา อย่างเช่นกรณีการเรียกร้องบรรจุตำแหน่งข้าราชการของพยาบาลที่ผ่านมาซึ่งได้รวมตัวที่ทำเนียบรัฐบาล จนมีการอนุมัติตำแหน่งบรรจุข้าราชการกว่า 20,000 ตำแหน่ง” ประธานสหภาพพยาบาลฯ กล่าว

นางมัลลิกา กล่าวว่า ที่ผ่านมาพยาบาลไทยถูกริดรอนสิทธิอย่างมาก แม้ว่าจะมีทั้งสมาคมพยาบาล สภาการพยาบาล และกองการพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกรมการแพทย์ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ซึ่งปัจจุบันเรามีพยาบาลในระบบสาธารณสุขถึงกว่า 1.6 แสนคน แต่กลับไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ทั้งนี้วิชาชีพพยาบาลถือเป็นวิชาชีพที่มีความเสี่ยง อาทิ พยาบาลประจำรถฉุกเฉินในการนำส่งผู้ป่วย เมื่อเกิดอุบัติหตุทางถนนขึ้นก็ไม่มีการดูแล บางรายถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งในการดูแลผู้ป่วยก็มีความเสี่ยงได้รับการติดเชื้อ เป็นต้น ขณะที่ความก้าวหน้าทางวิชาชีพยังถูกจำกัด ไม่ว่าพยาบาลจะเรียนต่อในระดับใด ทำงานนานแค่ไหนก็จะได้เงินเท่าเดิม ไม่มีการปรับเพิ่มเหมือนวิชาชีพแพทย์ รวมไปถึงการขึ้นสู่ตำแหน่งยังต้องรอการยุบรวบ ด้วยเหตุนี้ทำให้พยาบาลที่ทำงานมานานเกิดการไหลออกจากระบบ