ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกเข้าให้การต่อคณะมนตรีทรัพย์สินทางปัญญา ยันซองบุหรี่แบบเรียบไม่ขัดกฎดับเบิลยูทีโอ หลังมี 5 ประเทศ ยื่นฟ้องต่อองค์กรการค้าโลกว่า ซองบุหรี่แบบเรียบขัดต่อข้อตกลงทริปส์ ชี้ซองบุหรี่แบบเรียบมีเป้าหมายเพื่อขจัดอิทธิพลจากการโฆษณาโดยการพิมพ์เครื่องหมายการค้าบนซองบุหรี่ คาดจะตัดสินคดีนี้ได้ในปี 59 ขณะนี้มี 9 ประเทศรอคำตัดสินก่อนจะออกกฎหมายให้มีซองบุหรี่แบบเรียบ

2 ธ.ค.57 ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากกรณีที่มี 5 ประเทศ คือยูเครน โดมินิกันริพับบลิค ฮอนดูรัส คิวบาและอินโดนีเซีย ได้ฟ้องต่อองค์กรการค้าโลกหรือดับเบิลยูทีโอว่า กฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบขัดต่อข้อตกลงทริปส์ และทีบีที นั้น ล่าสุดมีรายงานว่า ดร.เวรา ดา คอสตา ซิลวา สำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ซึ่งได้เข้าให้การต่อคณะมนตรีทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า ทริปส์ และคณะมนตรีการกีดกันทางการค้าด้านเทคนิค ทีบีที ของดับเบิลยูทีโอ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ให้การ ว่า ซองบุหรี่แบบเรียบไม่ขัดต่อข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากอนุสัญญาควบคุมยาสูบที่มี 179 รัฐภาคีเป็นสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพของชนรุ่นปัจจุบัน  และอนาคตจากพิษภัยร้ายแรงของยาสูบและการได้รับควันยาสูบ รัฐภาคีมีพันธกรณีที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญา โดยข้อกำหนดในอนุสัญญาเป็นมาตรการขั้นต่ำ แต่ละรัฐภาคีมีเอกสิทธิ์ที่จะใช้มาตรการควบคุมยาสูบที่เข้มงวดกว่าที่กำหนดในอนุสัญญา 

ทั้งนี้มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบเป็นข้อกำหนดข้อ 11 ว่าด้วยการเตือนพิษภัยยาสูบ โดยซองบุหรี่แบบเรียบเพิ่มประสิทธิภาพการเตือนพิษภัยและข้อ 13 ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โดยงานวิจัยพบว่าซองบุหรี่แบบเรียบมีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดอิทธิพลจากการโฆษณาโดยการพิมพ์เครื่องหมายการค้าบนซองบุหรี่ ทั้งนี้กรณีขัดแย้งดังกล่าว เป็นที่สนใจของประเทศสมาชิกดับเบิลยูทีโอย่างมาก โดยมี 30 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยแสดงความจำนงเข้าร่วมให้ความคิดเห็นในกรณีพิพาท คณะลูกขุนประจำคดีที่ประธานมาจากประเทศแอฟริกาใต้ และอีกสองท่านมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์  และบาร์บาดอส คาดการณ์ว่า จะสามารถตัดสินคดีดังกล่าวในต้นปี ค.ศ.2016 หรือ พ.ศ.2559 ขณะนี้มีประเทศอย่างน้อย 9 ประเทศ ที่ประกาศจะออกกฎหมายซองบุหรี่แบบเรียบ โดยรอการตัดสินของคณะลูกขุนว่า ขัดต่อกฎระเบียบของดับเบิลยูทีโอหรือไม่