ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมผอ.รพช.ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.สธ./ปลัดสธ. เสนอทางออกความขัดแย้ง ต้องมีสัจจะ พูดคุยอย่างจริงใจ เผยเห็นด้วยหลักการกระจายอำนาจสธ.มาไว้ที่เขต แต่ยังไม่เห็นรูปธรรมชัดเจน แจงระบบเหมาจ่ายรายหัวแบบปัจจุบันดีอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้คงที่ 3-5 ปี เพื่อให้รพ.วางยุทธศาสตร์ได้ เสนองบ IP ไว้ที่เขต OP ไว้ที่จังหวัด PP บริหารระดับอำเภอ ม.41 ไว้ที่จังหวัดหรือเขต คงกองทุนย่อยไว้ งบค่าเสื่อมกันที่ระดับประเทศและเขตให้น้อยที่สุด ส่วนปัญหารพ.ขาดทุน ต้องวิเคราะห์ทั้งระบบ ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย อย่ากล่าวโทษกันไปมา

10 ธ.ค.57 นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน(ผอ.รพช.) กล่าวว่า วันนี้ชมรมผอ.รพช.ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรมว.สธ.และปลัดสธ.ในประเด็นเขตสุขภาพและแนวทางบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 58 มีข้อเสนอว่า ในเรื่องเขตสุขภาพสธ.นั้น ชมรมผอ.รพช.เห็นด้วยในหลักการกระจายอำนาจของสธ.มาไว้ที่เขตสุขภาพ แต่ในทางปฏิบัติไม่มั่นใจว่าจะทำได้จริง เพราะจากการดำเนินการที่ผ่านมายังไม่เห็นรูปธรรม รวมถึงการกันงบไว้ที่ระดับเขตและจังหวัดที่ผ่านมาก็มีจุดบกพร่องอย่างมากและขาดการมีส่วนร่วม นอกจากนั้นความขัดแย้งในสธ.ก็ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ ชมรมผอ.รพช.จึงเสนอให้ผู้นำแต่ละองค์กรต้องเป็นแบบอย่างที่ดี มีสัจจะ และพุดคุยกันอย่างจริงใจ เพื่อออกจากความขัดแย้งนี้ สธ. สปสช.ต้องมีระบบธรรมาภิบาลที่ชัดเจน มีระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และมีกลไกเฝ้าระวังการทุจริต มีการตรวจสอบจากภายนอกอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนแนวทางบริหารงบกองทุนบัตรทองปี 58 นั้น ชมรมผอ.รพช.เห็นว่า ระบบเหมาจ่ายรายหัวเดิมที่เป็นอยู่ตอนนี้ดีอยู่แล้ว เพราะจ่ายตามฐานประชากร แต่ควรปรับปรุงให้ระบบอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ทุก 3-5 ปี เพื่อให้รพ.สามารถวางแผนยุทธศาสตร์ได้อย่างน้อย 3-5 ปี ดีกว่าเปลี่ยนแปลงทุกปีเหมือนปัจจุบัน ส่วนเรื่องกองทุนย่อยที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เงินนำระบบบริการนั้น ชมรมผอ.รพช.ไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหานี้ และเห็นว่าเป็นมองแบบมีอคติ ที่ผ่านมามีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า กองทุนย่อยทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้จริง

ทั้งนี้ ชมรมผอ.รพช.เสนอการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 58 ดังนี้

1.หมวดผู้ป่วยใน บริหารระดับเขต

2.หมวดผู้ป่วยนอก บริหารระดับจังหวัด

3.หมวดส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริหารระดับอำเภอ

4.หมวดเงินชดเชยตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 บริหารจัดการระดับจังหวัดหรือเขต

5.กองทุนต่างๆ ยังคงไว้ โดยมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และปัญหาของผู้ป่วยโดยคณะกรรมการทั้งภาครัฐและเอกชน จากทุกภาคส่วนโดยมีการบริหารระดับประเทศ

6.งบค่าเสื่อม กันไว้ระดับประเทศและเขต ให้น้อยที่สุด

7.ให้มีการวางระบบธรรมาภิบาล สร้างกลไกเฝ้าระวังป้องกันการทุจริต การนำเงินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ทุกระดับ

8.วิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข และสรุปบทเรียน 12 ปีการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างจริงจัง จากการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ในการดำเนินงานทุกระดับอย่างครบวงจรภายใต้หลักฐานและข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขมากกว่าการเอาแพ้หรือชนะ หรือหาโจทก์และจำเลย

9.ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ ประเมินสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขในด้านศักยภาพการให้บริการ ความพึงพอใจประชากรในพื้นที่ การบริหารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การวางแผนในการช่วยเหลือพัฒนาสถานบริการนั้นอย่างเป็นระบบในปีถัดไป

“สำหรับปัญหารพ.ขาดทุนนั้น ชมรมผอ.รพช.เห็นว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามเส้นทางการบริหารเงินตั้งแต่ สปสช. สสจ. รพศ./รพท. รพช. สสอ. และรพ.สต.ตามลำดับ ให้มีการศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขว่ามีจุดบกพร่อง จุดอ่อนตรงไหน และจัดการแก้ไขภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร ดีกว่าการกล่าวโทษกันไปมาเช่นนี้” นพ.พรเจริญ กล่าว