ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การพัฒนาคุณภาพเด็กเป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสำคัญเด็กจะเติบโตมาเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพนั้นประกอบด้วยปัจจัยหลายประการสิ่งสำคัญที่สุด คือ พัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยที่จะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้และปรับตัวต่อสิ่งต่างๆ ได้ดีตลอดจนสามารถพัฒนาตัวเองและสังคมได้ตามศักยภาพสูงสุดการพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงถือเป็นวาระสำคัญของชาติ เพราะเด็กปฐมวัย คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคนในชาติจึงจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงในครัวเรือน

พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า การส่งเสริมพัฒนาการ รวมทั้งความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์ (IQ-EQ) ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ก็คือการเล่น เพราะจะช่วยส่งเสริมความคิดอย่างเป็นระบบตลอดจนการคิดด้านบวกที่ย่อมส่งผลต่อการมีอารมณ์และจิตใจที่ดีสอดคล้องกับคำขวัญวันเด็กปีนี้ ที่ว่า "ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต" ซึ่งหมายถึง การที่เด็กต้องมีทั้ง IQ และ EQ ที่ดีย่อมจะส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตในอนาคตต่อไปการลงทุนด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในช่วงปฐมวัยจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวต่อว่า เด็กไทยยังขาดการส่งเสริมให้มีพัฒนาการตามวัยดังเห็นได้จากการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยของกรมอนามัย ทุก 3 ปี ในปี 2542-2557 พบเด็กที่พัฒนาการสงสัยล่าช้ามีแนวโน้มสูงขึ้นแม้ว่าจะมีการปรับลดลงเล็กน้อยในปี 2557

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตได้ร่วมพัฒนาการให้บริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี (Well Child Clinic) เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการจากการดำเนินงาน พบว่าพ่อแม่/ผู้ดูแลเด็กยังขาดความตระหนักและขาดความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กอย่างเหมาะสมหญิงตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ครั้งแรกอายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์มีเพียง 57.3% การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีเพียง 29.5% รวมถึงพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กยังขาดความรู้ทักษะในการเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้อง

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2555 ยังพบว่าพ่อแม่/ผู้ดูแลเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนของลูกเพียง 20% มีหนังสืออ่านสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่มในบ้าน เพียง 43% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กทำให้เด็กไทยจำนวนมากมีระดับพัฒนาการต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตามศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก คือ รากฐานการศึกษา ปัจจุบันมีมากกว่า 20,000 แห่งมีเด็กปฐมวัยอยู่ในความดูแลกว่า 1 ล้านคน จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญต่อการพัฒนาเด็กในประเทศเป็นอย่างดี

เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปีนี้กรมสุขภาพจิต ได้ส่งมอบของขวัญซึ่งเป็นชุดสื่อเทคโนโลยีด้านการเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และด้านการอ่านในเด็กปฐมวัย (Pre-math/Pre-reading skill) รวมทั้งสื่อด้านการส่งเสริมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ประกอบด้วย แผ่นพับ ภาพพลิก คู่มือหนังสือสร้างเสริมทักษะชีวิต สื่อแอนิเมชั่น ชุดนิทรรศการ และชุดก้อนไม้ทรงเรขาคณิต ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) และ รพ.ชุมชน (รพช.) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแนะนำส่งเสริมความรู้แก่พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กให้สามารถนำความรู้ไปส่งเสริมทักษะพื้นฐานด้านการคิดในเชิงคณิตศาสตร์และด้านการอ่านแก่บุตรหลาน เพื่อการพัฒนาศักยภาพของสมองและการรู้คิดของเด็กไทยอันเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ ได้จัดเตรียมไว้ให้พ่อแม่ผู้ปกครอง จำนวนกว่า 15,000 ชุด โดยโรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิตจะนำไปเผยแพร่ในพื้นที่ดำเนินการต่อไปสอบถามเพิ่มเติมและดูรายละเอียดได้ที่ www.rajanukul.go.th

"การส่งเสริมพัฒนาการเด็กเป็นเรื่องสำคัญเป็นสิ่งที่พ่อแม่/ผู้ดูแลเด็ก สามารถทำได้ที่บ้านผ่าน "การเล่น" ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากหรือใช้ของเล่นราคาแพง เพียงแค่เด็กได้เล่นกับพ่อแม่ได้ฝึกทักษะต่างๆ ในระหว่างเล่นในบรรยากาศที่สนุกสนานและอบอุ่น เพียงเท่านี้เด็กจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทางสมองจากกิจกรรมที่เล่นและมีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมที่ดีจากการได้ใช้เวลาที่ดีกับพ่อแม่ซึ่งต้องเริ่มฝึกตั้งแต่วัยทารก เช่น ให้ลูกสัมผัส สังเกต จับคู่ฝึกนับและคัดแยกของเล่นใส่ตะกร้าเด็กก็จะได้เรียนรู้เรื่องจำนวนและการนับรวมถึงการเรียงลำดับตามขนาดซึ่งเป็นพื้นฐานทางคณิตศาสตร์รวมทั้งได้เรียนรู้เรื่องภาษาผ่านการ ออกเสียงนับเลขหรือการบอกสีของเล่นระหว่างนับ อีกทั้งพ่อแม่/ผู้ดูแลเด็กยังได้ใช้เวลาเพื่อสร้างความรักความผูกพันกับเด็กได้อย่างคุ้มค่าตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมเด็กก่อนเข้าโรงเรียนได้อีกด้วย" ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้แนะ 7 แนวทางสร้างสุขในการเล่นกับลูกหลาน ดังนี้ 1.สร้างโอกาสในการเล่นที่หลากหลาย 2.ให้เด็กรู้สึกว่าเราและเด็กกำลังเล่นด้วยกัน 3. ให้เด็กเล่นสิ่งของที่เขากำลังสนใจอยู่ในขณะนั้น 4. ให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กมีการเล่นที่พัฒนาขึ้น 5.ฝึกนิสัยการเล่นที่ดีให้เด็ก เช่นเล่นของเล่นทีละอย่าง เก็บของเล่นทุกครั้งหลังการเล่น 6.เฝ้าระวังความปลอดภัยขณะที่เด็กเล่น และ 7.ส่งเสริมการเล่นตามลำดับขั้น เพื่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น เช่น ให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนๆ ตลอดจนเลือกของเล่นให้เหมาะกับวัยและระดับพัฒนาการของเด็ก มีความปลอดภัย มีประโยชน์รอบด้านมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานรับรอง และราคาไม่แพงจนเกินไป ที่สำคัญระหว่างที่ลูกเล่น ควรสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กหากพบความผิดปกติหรือมีข้อสงสัย ควรรีบพาเด็กๆ ไปปรึกษาแพทย์

"สิ่งสำคัญพ่อแม่/ผู้ดูแลเด็ก ต้อง 1.เสมอต้นเสมอปลายยอมรับและเข้าใจ ไม่คาดหวังสูง 2.เป็นตัวอย่างที่ดี ฝึกวินัยลูกอย่างสม่ำเสมอ 3.แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูกหลานกับผู้อื่นเสมอ 4.เป็นคนเลี้ยงลูกหลานอย่างมีเหตุผลไปทางเดียวกันทั้งบ้าน ไม่ใช้อารมณ์ และ5.เป็นคนที่ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างสม่ำเสมอ" ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว