ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผย 5 รพ.ชายแดน จ.ตาก ท่าสองยาง, แม่ระมาด, พบพระ, อุ้มผาง และแม่สอด รับภาระค่ารักษาคนไร้สถานะและสิทธิ หรือคนไร้รัฐ กลุ่มคนไร้สัญชาติที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ และแรงงานข้ามชาติ นอนป่วย 12,000 กว่าราย ในปี 2557 ยอดรวม 110 ล้านบาท 

วันที่ 16 มกราคม 2558 ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารส่วนกลางและภูมิภาค ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล (รพ.)แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และรับฟังการนำเสนองานสาธารณสุขชายแดนของจังหวัดตาก การดำเนินงานจัดบริการของโรงพยาบาลแม่สอด และปัญหาโรคติดต่อตามแนวชายแดน

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาหลักประกันสุขภาพบุคคลที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย แต่มีปัญหาทางสถานะและสิทธิ ไม่มีหลักประกันสุขภาพ เจ็บป่วยก็มักไม่มีเงินรักษา และไม่กล้าไปพบแพทย์ ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น หากเป็นโรคติดต่ออาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดสู่ชุมชนได้ง่าย ยังมีผลกระทบส่งผลให้โรงพยาบาลต้องรับภาระค่ารักษาที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้จำนวนมหาศาล เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเป็นมิติด้านสังคมที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากการดูแลสุขภาพพื้นฐานให้พ้นจากความเจ็บป่วยนั้น ต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมกับผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลที่อยู่ในอำเภอชายแดน ใน จ.ตาก มี 5 แห่ง คือ ท่าสองยาง, แม่ระมาด, พบพระ, อุ้มผาง และแม่สอด โรงพยาบาลทุกแห่งมีภาระต้องดูแลคนต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้แก่ ชาวไทยภูเขา คนไทยพลัดถิ่น คนเมียนม่าร์ที่เข้ามาอยู่เมืองไทยหลายสิบปีแล้วรวมทั้งลูกหลาน โดยมีส่วนน้อยเท่านั้นประมาณร้อยละ 20-30 ที่มีหลักประกันสุขภาพ ที่เหลือฐานะยากจนมาก ไม่มีเงินซื้อบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในปีที่ผ่านมา มีต่างด้าวที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ เจ็บป่วยและต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่งรวมประมาณ 12,000 ราย ที่รพ.แม่สอดมีร้อยละ 30 ของผู้ป่วยในทั้งหมด ที่รพ.อุ้มผางร้อยละ 60 รพ.ท่าสองยางร้อยละ 30-40 รวมค่ารักษาที่เรียกเก็บไม่ได้ ต้องจ่ายในลักษณะสังคมสงเคราะห์ รวม 110 ล้านบาท เฉพาะที่รพ.แม่สอดมีจำนวน 48 ล้านบาท จนทำให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง และเกิดวิกฤติทางการเงิน แต่ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานกันอย่างเสียสละ

สำหรับโรคติดต่อตามแนวชายแดน ที่พบเป็นปัญหาคือ มาลาเรีย แต่แนวโน้มผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ ประมาณร้อยละ 50 จากปี 2557 พบผู้ป่วย 6,208 ราย เป็นต่างด้าวร้อยละ 60 เนื่องจากมีการตั้งหน่วยค้นหาและรักษามาลาเรียในหมู่บ้านทั้งฝั่งไทยมี 70 แห่ง และฝั่งเมียนมาร์ 700 แห่ง หากพบจะให้การรักษาทันทีภายใน10 นาที ฟรี ตัวเชื้อมาลาเรียทำให้เกิดไข้กลับซ้ำหรือที่เรียกว่าสามวันดีสี่วันไข้ และพบวัณโรค โรคคอตีบ โรคเท้าช้าง โรคพิษสุนัขบ้า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น โดยเฉพาะวัณโรค มีลักษณะพิเศษกว่าพื้นที่อื่นๆ ตั้งแต่พ.ศ. 2550-2557 พบผู้ป่วยรวม 2,592 ราย ร้อยละ 60 เป็นเมียนมาร์ โดยพบติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาหลายขนาน ส่วนผลการตรวจสุขภาพชาวเมียนมาร์ที่มาใช้แรงงาน ส่วนใหญ่เอ็กซเรย์ปอดผิดปกติ พบเชื้อซิฟิลิส 164 ราย เท้าช้าง 2 ราย และตั้งครรภ์ 958 ราย ทั้งหมดนี้จะต้องเพิ่มยุทธศาสตร์การดูแลเรื่องการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มคนไร้รัฐให้มากขึ้น เพื่อลดภาระด้านการเจ็บป่วยลงให้ได้มากที่สุด

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวอีกว่า สำหรับในการจัดบริการในกลุ่มต่างด้าว ซึ่งมักมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขปัญหา โดยจะพัฒนาต่างด้าวให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขกลุ่มประชากรต่างด้าว ในจังหวัดตากจำนวน 1,555 คน ซึ่งจะเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพอนามัยกลุ่มต่างด้าวด้วยกัน ที่ทำงานในโรงงานในแม่สอดที่มีประมาณ 300 แห่ง และตามหมู่บ้านคู่ขนานชายแดน 500 คน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะจัดหลักสูตรพื้นฐานอบรม เช่น เรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน บริการที่จำเป็น เช่น การปฐมพยาบาล การป้องกันโรค ความสะอาดสุขาภิบาล กฎหมายสุขภาพของไทยที่ต่างด้าวต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจะขยายทุกจังหวัดทั่วประเทศครอบคลุมทั้งต่างด้าว คนไร้รัฐ ไร้สถานะทางสิทธิ์ รวมทั้งจะมีการพัฒนากฎหมายรองรับสถานะการทำงานของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขกลุ่มประชากรต่างด้าวด้วย