ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คสรท. ค้าน ร่างกม.ประกันสังคมฉบับใหม่ ตัดสิทธิช่วยเหลือผู้ประกันตนลาออกจากงาน ชี้ลิดรอนสิทธิผู้ประกันตน ไม่เห็นใจคนยากจน บางรายถูกบีบออก บ้างต้องลาออกเพราะมาดูแลนในครอบครัว ลั่นประหยัดงบประชาสัมพันธ์ งบดูงานต่างประเทศดีกว่า จี้ทบทวนร่างกม.ประกันสังคม ทั้งเงื่อนไขรับบำเหน็จชราภาพ สิทธิแรงงานข้ามชาติ และสงเคราะห์บุตร เตรียมบุกยื่นหนังสือ ประธานสนช. และนายกรัฐมนตรี 29 ม.ค.นี้

26 ม.ค.58 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ม.ค.นี้  คสรท.จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และจากนั้นเวลา 11.00 น. จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ... ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ตามขั้นตอนตามวาระแรกไปแล้ว และรอการพิจารณาในวาระที่สองในเดือนกุมภาพันธ์

เนื่องจากพบว่าร่างดังกล่าวมีการตัดสิทธิผู้ประกันตนกรณีลาออกจากงาน จากเดิมที่ผู้ประกันตนจะได้รับเงินช่วยเหลือขณะว่างงานจำนวนร้อยละ 30 ของค่าจ้างไม่เกิน 3 เดือน โดยที่ไม่มีการสอบถามผู้ประกันตนและส่งผลกระทบ สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประกันตนอย่างมาก เนื่องจากแรงงานบางรายลาออกด้วยเหตุผลที่ต้องมาดูแลอาการป่วยของคนในครอบครัว การตัดสิทธิออกไปก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมแรงงานมากยิ่งขึ้น

ประธานคสรท.กล่าวอีกว่า ตนทราบข้อมูลมาว่า การตัดสิทธิดังกล่าวออก เพราะสปส.เคยระบุว่ามีผู้ประกันตนบางคนลาออกเนื่องจากหวังเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน แต่จากความเป็นจริงที่คสรท.พบคือไม่มีใครอยากลาออกจากงาน ซึ่งการลาออกจะทำให้ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัวและพบว่าบางส่วนถูกนายจ้างบีบให้ออกจากงาน

"สปส.อย่ามโนไปเองว่าแรงงานลาออกเพราะหวังเงินกรณีว่างงาน เงินที่ถูกตัดออกไปนี้เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับคนยากคนจน เวลาคนงานลำบาก เงินส่วนนี้ช่วยชีวิตไว้ได้ หากสปส.จะประหยัดเงินก็อย่ามาตัดสิทธิกันแบบนี้ไปตัดโครงการอื่นๆ ที่ฟุ่มเฟือยและไม่เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนจะดีกว่า ทั้งการประชาสัมพันธ์ การไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินกองทุนไปได้มากกว่าการมาตัดสิทธิกรณีว่างงาน"

น.ส.วิไลวรรณ ยังกล่าวว่า อยากให้ทบทวนเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ โดยให้สิทธิผู้ประกันตนที่ลาออกจากงานและลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนแต่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 15 ปีและมีอายุต่ำกว่า 55 ปี สามารถขอรับเงินสิทธิประโยชน์กรณีบำเหน็จชราภาพได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงเกณฑ์อายุ 55 ปี เพราะผู้ประกันตนหลายคนที่ลาออกจากงานมีความเดือดร้อน ที่ผ่านมามีกรณีแรงงานเสียชีวิตก่อนอายุครบ 55 ปีและไม่ได้แจ้งระบุทายาทผู้รับเงินต่อสปส.ไว้จึงทำให้เงินตกเป็นของกองทุน

นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติก็ควรได้รับเงินบำเหน็จเมื่อครบกำหนดทำงานในไทยและเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยไม่ต้องรออายุครบเกณฑ์ ซึ่งอยากให้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรจากเดิมตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปี เป็นถึงอายุ 15 ปี แทนการให้เงินค่าคลอดบุตรเพิ่มเป็น 3 คนจากเดิมที่กำหนดไว้ 2 คน

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า ตนมองว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการเปิดให้ผู้ประกันตนเข้าไปมีส่วนร่วม เห็นได้จากอำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ หรือการออกระเบียบ ยังคงเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐและการเมือง ซึ่งหากการยื่นหนังสือขอให้ทบทวนไม่เป็นผลก็อาจจะต้องมีการเคลื่อนไหว เนื่องจากเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน