ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ประเดิมประชาพิจารณ์ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” วันแรกเน้นรับฟังความเห็นผู้ให้บริการส่วนกระทรวงสาธารณสุข ประธานชมรมต่างๆ ในระบบสาธารณสุขเข้าร่วมนำเสนอครบ ทั้ง ชมรม รพศ./รพท.  ชมรม นพ.สสจ. ชมรม ผอ.รพช. และชมรมแพทย์ชนบท เป็นต้น พร้อมตั้งผู้แทน สธ. – สปสช.รวบรวมความเห็นเพื่อความเป็นกลางนำเสนอต่อเวทีประชาพิจารณาใหญ่ 2 ก.พ. นี้

29 ม.ค.58 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมรวบรวมข้อเสนอจากผู้ให้บริการและเครือข่ายด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมข้อมูลเข้าสู่เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558 โดยการประชุมรับฟังความเห็นส่วนผู้ให้บริการนี้ ได้กำหนดการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2558 ขณะที่การรับฟังความเห็นในส่วนผู้รับบริการ ทั้งประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำหนดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558  ทั้งนี้จะมีการสรุปเพื่อนำเสนอเวทีรับฟังความเห็นฯ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานต่อไป

นพ.จรัล กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการรับฟังความเห็นผู้ให้บริการในส่วนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก่อนที่ในวันที่พรุ่งนี้ (30 ม.ค.) จะเป็นการเปิดรับฟังความเห็นผู้ให้บริการในส่วนอื่นๆ อาทิ กระทรวงกลาโหม มหาวิทาลัย และ อปท.เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ เพื่อนำเสนอความเห็นทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน การจัดสรรเงินกองทุน และการพัฒนาระบบ ซึ่งต้องยอมรับว่า หลัง 12 ปีดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้มีความขัดแย้งต่างๆ เกิดขึ้น จึงต้องการให้มีการนำเสนอความเห็นเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข โดยยึดประประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

นพ.จรัล กล่าวว่า เพื่อให้การสรุปรวบรวมความเห็นและข้อเสนอจากที่ประชุมมีความเป็นกลาง เป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย จึงได้มอบหมายให้ นพ.วิเชียร เทียนจารุวัฒนา รอง ผอ.กลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจประสานงานเขตและการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกันรวบรวมความเห็นจากเวทีต่างๆ พร้อมมอบให้ นพ.พินิจ หิรัญโชติ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นคนกลางในการพิจารณาข้อสรุปเหล่านี้เพื่อนำเสนอต่อเวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศ ซึ่งหลังจากนั้นคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ฯ จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช. โดยประเด็นใดที่สามารถดำเนินการได้ภายใต้อำนาจบอร์ด สปสช.จะมีการปรับแก้ไขทันที

สำหรับประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมาย จะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งในการประชุมเวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศ ได้มีการเชิญผู้แทน สนช.และ สปช.เข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปรับแก้ไขกฎหมายที่เหมาะสม        

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตเวทีประชุมวันนี้ ซึ่งปรากฎว่ามีตัวแทนผู้ให้บริการในส่วน สธ.เข้าร่วมไม่มากนั้น นพ.จรัล กล่าวว่า แม้จะมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่มาก แต่ในส่วนผู้นำเสนอ โดยเฉพาะในส่วนของประธานชมรมต่างๆ เข้าร่วมเพื่อนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ปัญหากันครบถ้วน ได้แก่ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, ชมรม นพ.สสจ., ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน, ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมผู้บริหารทางการพยาบาล, ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และชมรมสมาคมหมออนามัย นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจากหน่วยบริการ ทั้งจาก รพ.สังกัดกรมการแพทย์ รพศ. รพท. และ รพช. จึงไม่กังวล เพราะต่างเป็นแกนนำกลุ่มต่างๆ ในระบบ สธ. เป็นข้อเสนอและความเห็นที่สามารถสะท้อนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบได้ เพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป