ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เดินหน้ารับฟังความเห็นต่อ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ในส่วนผู้ให้บริการต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เน้นโรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน และ รพ.อปท.ย้ำแม้เป็นกลุ่มผู้ให้บริการรายย่อย ดูแลผู้มีสิทธิ์เพียงร้อยละ 20 แต่เป็นส่วนสำคัญช่วยให้ระบบดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง พร้อมสรุปผลการรับฟังความเห็นผู้ให้บริการส่วน สธ.แบ่งเป็น 5 ประเด็น ทั้งปัญหาจัดสรรงบ, ขาดความเป็นเอกภาพ สธ.-สปสช., การปฏิรูปเขตสุขภาพ สธ.สอดคล้องการบริหารงบ สปสช., สาเหตุงบประมาณขาดแคลน และแนวทางแก้ปัญหา เตรียมนำเสนอเวททีรับฟังความเห็นระดับประเทศ 2 ก.พ.

เมื่อวันที่ 30 ม.ค.58 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี – นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานการประชุมรวบรวมข้อเสนอจากผู้ให้บริการและเครือข่ายด้านสาธารณสุข ต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อเตรียมข้อมูลเข้าสู่เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558 กล่าวว่า ในวันที่ 30 ม.ค. เป็นการประชุมการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยเป็นการรับฟังความเห็นในกลุ่มโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลังจากเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ได้รวบรวมข้อเสนอและความเห็นจากผู้ให้บริการจากภาครัฐ โดยเฉพาะสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมการรับฟังความเห็นในทุกภาคส่วนผู้ให้บริการ เพราะต่างเป็นส่วนหนึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ร่วมดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย จึงอยากให้ร่วมกันสะท้อนปัญหาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

“การรับฟังความเห็นผู้ให้บริการเมื่อวานนี้ เป็นการเน้นผู้ให้บริการในส่วนกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยบัตรทองร้อยละ 80 แต่หน่วยบริการที่เหลืออีกร้อยละ 20 ก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน โดยหน่วยบริการเหล่านี้มีบริบาทการดำเนินงาน มีกฎหมาย และหลักเกณฑ์ปฏิบัติที่แตกต่างกับ สธ.จึงต้องให้ความสำคัญต่อการรับฟังความเห็นเช่นกัน” ประธานอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กล่าว

นพ.จรัล กล่าวว่า ส่วนการรับฟังความเห็นผู้ให้บริการในส่วนของ สธ. เมื่อวานนี้ สามารถรวบรวมความเห็นจากทุกฝ่ายในส่วนสาธารณสุขได้อย่างครบถ้วน โดยได้รับเกียรติ์จากประธานทุกชมรมในระบบสาธารณสุขเข้าร่วมอย่างครบถ้วน ทั้งนี้สรุปสาระสำคัญของการนำเสนอความคิดเห็น แบ่งเป็น 5 ประเด็น ดังนี้ 1.การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวที่เป็นปัญหาต่อการบริหารของหน่วยบริการ 2.การปฏิสัมพันธ์ระหว่าง สธ.และ สปสช. ซึ่งขาดความเป็นเอกภาพ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ส่งผลต่อการทำงานร่วมกัน จะมีทางออกอย่างไร 3.การปฏิรูปโดยจัดเขตสุขภาพ สธ. ทำอย่างไรจึงจะให้สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณของ สปสช. และเดินไปด้วยกันได้ และ 4.ความไม่พอเพียงของงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดจากสาเหตุใด และ 5. จะมีแนวทางในการเพิ่มเติมงบประมาณอย่างไร  

นพ.จรัล กล่าวต่อว่า ภายหลังการรับฟังความเห็นในส่วนผู้ให้บริการแล้ว ในวันอาทิตย์ที่ 1 ก.พ. จะเป็นเวทีการรับฟังความเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในส่วนผู้รับบริการ โดยความเห็นที่มีการนำเสนอมาทั้งหมดนี้ ทางคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ฯ จะรวบรวมและนำเสนอเข้าสู่เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558 ในวันที่ 2 ก.พ. นี้ โดยมี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข และในฐานประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธานและรับฟังข้อเสนอต่างๆ ด้วยตนเองเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพถวนหน้าต่อไป.